ปี 2568 นี้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากรายงานคุณภาพอากาศปี 2566 พบประเทศไทยมีมลพิษมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรมากกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเกือบ 5 เท่า สถานการณ์ฝุ่นจิ๋วทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ชีวิตจมฝุ่น นำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ทั้งมะเร็งปอด โรคหัวใจ การหายใจรับเอาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เล็กกว่าเส้นผมกว่า 10 เท่าเข้าไปในร่างกายปริมาณมาก ไม่เพียงทำให้เกิดอาการระคายเคืองจมูก แสบคันตา ไอเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสมลพิษ แต่ยังส่งผลให้ไทยมีตัวเลขผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจกว่า 11 ล้านคนต่อปี
ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศเกือบ 1 ใน 6 ของประชากร ทั้งนี้ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ป่วยทางเดินหายใจหากรับฝุ่นเข้าร่างกาย มีความเสี่ยงกับมลพิษทางอากาศมากกว่าช่วงวัยอื่น สถานการณ์ฝุ่นน่ากังวล เพราะกำลังก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือหนักที่สุด มีค่าฝุ่นสูงเกินค่าเฉลี่ย WHO 5-7 เท่า สาเหตุจากการเผาป่า การปล่อยไอเสีย ส่วนภาคอีสาน-ภาคกลาง ฝุ่นมาจากเผาเพื่อทำการเกษตร ส่วนกรุงเทพฯ แม้จะไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรม แต่ก็เผชิญปัญหา PM2.5 เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ต้นตอมาจากการจราจรร้อยละ 60 บวกปัจจัยความกดอากาศสูง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นสะสมในชั้นบรรยากาศ แทนที่จะลอยสูงขึ้นและหายไป กลับห่มคลุมมหานคร ส่งผลสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจจากฝุ่นพิษปีละไม่ต่ำกว่า 370 ล้านบาท
10 เมืองมลพิษมากสุดในประเทศไทย ปี 2566 ที่มา IQAir อันดับ 1 อ.พาน จ.เชียงราย อันดับ 2 จ.เชียงราย อันดับ 3 ต.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อันดับ 4 ต.เวียง จ.น่าน อันดับ 5 ต.แม่กา จ.พะเยา อันดับ 6 ต.เวียงพางคำ จ.เชียงราย อันดับ 7 ต.นางแล จ.เชียงราย อันดับ 8 ต.แม่กรณ์ จ.เชียงราย อันดับ 9 ต.ปงยางคก จ.ลำปาง และอันดับ 10 ต.ในเวียง จ.น่าน พื้นที่เหล่านี้มีผู้ป่วยโรคมลพิษทางอากาศ ป่วยมะเร็งปอดมาก ปัญหานี้ไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพ แต่กระทบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล มีการตายก่อนวัยอันควร สูญทั้งเงินสูญทั้งชีวิต
ปี 2568 นี้ ชวนจับตา ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2-3 ต้นปี 2568 ความคืบหน้าล่าสุด หากได้รับการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จะนำเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาในต้นปี 68 หากวุฒิสภาเห็นชอบ จะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ต้องจับตา เพราะกฎหมายอากาศสะอาด ใกล้ความจริง หากไม่สะดุดในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา
พ.ร.บ.อากาศสะอาด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ต้นทาง จากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568 (ThaiHealth Watch 2025) มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสังคม ที่มาจากการผสานความร่วมมือบรรเทาวิกฤตฝุ่น สร้างอากาศสะอาดบนพื้นฐานความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาชน
ฝุ่นและมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาเชิงมหภาคที่การแก้ปัญหาในระดับบุคคลยังไม่เพียงพอ สสส. ในฐานะหน่วยงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย จึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นตอของปัญหา หรือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ผ่านการสนับสนุนโครงการ “Thailand Can เครือข่ายอากาศสะอาด” ในการยกร่างและการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….” หรือที่รู้จักในชื่อ “ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชน”
จุดเด่นของร่างฉบับประชาชนคือการกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อลดแรงจูงใจในการสร้างอากาศที่เป็นพิษ และมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการบังคับใช้ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดบทลงโทษผู้ที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด มาตรการจัดการหมอกควันพิษข้ามแดนผ่านการกำหนดโทษผู้ที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษข้ามแดนเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และกลไกการจัดการและกำกับดูแล ทั้งในรูปแบบของคณะกรรมการนโยบายคณะกรรมการกำกับดูแลและองค์กรที่จะดำเนินการด้านการจัดการอากาศสะอาด
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชนที่ สสส. สนับสนุนเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายอากาศสะอาด 7 ฉบับที่ผ่านการลงมติเห็นชอบรับหลักการจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 และอนุมัติหลักการแล้ว ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมาย โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ทั้งนี้ ผู้แทนที่ สสส. ให้การสนับสนุนจำนวน 13 ราย ได้ เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยคณะกรรมาธิการฯ เริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 และได้จัดทำร่างกฎหมายอากาศสะอาดฯ ฉบับพิมพ์เขียว ปัจจุบันมีความสมบูรณ์ร้อยละ 80
แน่นอนว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศเป็นความท้าทายสำคัญที่ไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่การดำเนินการจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทุกการกระทำ ตั้งแต่การลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ การเปลี่ยนแปลงวิธีการขนส่ง จนถึงสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด ล้วนมีผลต่อการบรรเทาปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศ
รายงานฉบับนี้ ยังสรุปมาตรการรับมือกับ PM 2.5 ระดับบุคคล เลี่ยงการสัมผัสและได้รับฝุ่น และมีส่วนร่วมลด ฝุ่นก็เป็นเรื่องที่ทำได้ในระดับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการไม่ทำกิจกรรมบางอย่างที่จะเพิ่มฝุ่น PM 2.5 ในสภาพแวดล้อม เช่น การเผาเพื่อการเกษตร การจุดธูป การปิ้งย่างอาหาร การสูบบุหรี่ หรือการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ตลอดจนการปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ ระดับนโยบายอ้างอิงธนาคารโลก นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับวิกฤต PM 2.5 แบ่งเป็น 4 มาตรการหลัก ได้แก่ ข้อมูลด้านคุณภาพอากาศ เสนอให้รัฐบาลพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพอากาศและมลพิษ เพื่อให้มีข้อมูลในการกำหนดและประเมินนโยบาย ตลอดจนการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ด้านผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยี เสนอให้รัฐบาลจั ดให้มีหน่วยงานหรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการเรื่องมลพิษทางอากาศโดยตรง ตลอดจนส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศ
ด้านมาตรการภายในประเทศ เสนอให้ใช้มาตรการที่หลากหลายเพื่อแก้ฝุ่น PM 2.5 เร่งด่วนมุ่งเน้นที่สาเหตุหลัก เช่น การปล่อยมลพิษจากโรงงานถ่านหินหรือไอเสียจากรถยนต์ ซึ่ึ่งภาครัฐต้องออกนโยบายลดการปล่อยควันในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายในรูปแบบของคำสั่งและการควบคุม เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานที่จะต้องบรรลุ การเก็บภาษี หรือ ค่าธรรมเนียมในการปล่อยมลพิษ สนับสนุนทางการเงินให้กับการใช้พลังงานสะอาด การส่งเสริมการศึกษาหรือการให้ความรู้ นำไปสู่การปรับพฤติกรรม ตลอดจนส่งเสริม การใช้ ก๊าซ LPG หรือเตาไฟฟ้าทำอาหารในครัวเรือน
ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษสามารถเดินทางข้ามพรมแดน เป็นปัญหาที่ยากจะแก้ ไขได้ โดยมาตรการภายในประเทศ รัฐบาลควรร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดน เช่น การออกนโยบายจูงใจให้ลดการก่อมลพิษทางอากาศ หรือการลงโทษหากก่อให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน หรือการสนับสนุนทางเทคนิคหรือทางการเงิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568
ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ทอ. ส่งเครื่องบินบีที-67 ทิ้งน้ำ 3 พันลิตร แนวไฟไหม้วิกฤตภาคเหนือ
กองทัพอากาศ ได้เผยแพร่ข้อมูล สนับสนุนภารกิจการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (SEE & STRIKE ) โดยส่งอากาศยาน AU-23 PEACE MAKER (Sensor)
รัฐบาลซัดกลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ
'รองโฆษกรัฐบาล' ย้ำชัดรัฐบาลมีแผนป้องกันภัยชัดเจน ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องรอบคอบ โต้กลับ 'พิธา' ไม่รู้กาลเทศะ จ้องด้อยค่านายกฯ ดิสเครดิต รบ.
การันตี 'ทักษิณ' โรดโชว์เชียงใหม่ ทำตามระเบียบพักโทษเป๊ะ!
'สมศักดิ์' ชี้ 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ทำตามระเบียบราชทัณฑ์ อ้างปกติกรณีพักโทษ ไม่มีคิวรวมก๊วน สส. พบนายใหญ่ ขอแล้วยังไร้สัญญาณตอบรับ
5 พื้นที่จมฝุ่นเดินหน้า'เขตมลพิษต่ำ'
สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี หลายเขตค่าฝุ่นถึงระดับวิกฤตทะลุ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาพรวมทุกเขตใน กทม. อ่วมจากฝุ่นปกคลุม แม้ตอนนี้ชาว กทม. พอหายใจหายคอให้สะดวกขึ้น