ก้าวเข้าสู่ปีใหม่นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นที่ดี และมีความหมายสำหรับใครหลายๆคน และในปี พ.ศ. 2568 ที่ตรงกับปีนักษัตรมะเส็ง หรือ งูเล็ก ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา หนึ่งในวิถีปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต คือ การไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งสำหรับปีมะเส็ง พระธาตุประจำปี คือ พระเจดีย์เจ็ดยอด ณ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือ วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่
การเดินทางในครั้งนี้จึงไม่พลาดที่จะเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับการเริ่มต้นปีด้วยการไปไหว้ พระธาตุเจ็ดยอด ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล ถึงอย่างนั้นการเดินทางไปไหว้พระธาตุแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอันงดงามอีกด้วย ตามประวัติความเป็นมาของวัดเจ็ดยอด มีต้นกำเนิดจากพระราชศรัทธาของ พระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงสร้างวัดแห่งนี้เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งธรรมะและศิลปะ พร้อมทั้งตั้งชื่อวัดตาม ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ และด้รับการนำมาปลูกที่บริเวณวัด โดยพระเถระชาวลังกาผู้เดินทางมาจากประเทศศรีลังกา
พระเจ้าติโลกราชยังทรงโปรดให้ สีหโคตรเสนาบดี เดินทางไปยังประเทศอินเดีย เพื่อศึกษารูปแบบของเจดีย์และสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อันเป็นที่มาของการออกแบบ พระเจดีย์เจ็ดยอด โดยจำลองมาจาก สัตตมหาสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประทับหลังการตรัสรู้ โดยมี โพธิบัลลังก์ หรือต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นศูนย์กลาง พระเจดีย์เจ็ดยอดมีความโดดเด่นในสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร ฐานของเจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดับด้วยปูนปั้นรูปเทพพนมและลวดลายดอกไม้ที่วิจิตร ศิลปะเหล่านี้สะท้อนถึงฝีมือเชิงช่างของยุคสมัยล้านนาได้อย่างงดงาม
และเหตุที่วัดเจ็ดยอด เป็นพระธาตุของผู้ที่เกิดปีมะเส็ง เมื่อได้เข้ามาสักการะจะสังเกตเห็นว่าด้านหลังพระเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจจะมีการนำรูปปั้นงูมาถวายตั้งอยู่โดยรอบฐานเจดีย์มีการประดับรูปปั้นงู โดยเฉพาะงูเห่า มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ปะปนกันของผู้ที่เคารพนับถือ สัญลักษณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่ออันลึกซึ้งและความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพระธาตุเจ็ดยอดและความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่แห่งนี้
ไม่เพียงแค่ความเชื่อ แต่วัดเจ็ดยอด ก็ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นโบราณสถานของเชียงใหม่ แต่เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อครั้งสงครามในอดีตและถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง จึงหลงเหลือเพียงตัวองค์เจดีย์ที่ชำรุดผุผังและมีบางส่วนที่ถูกทำลาย หลังจากเหตุการณ์สงบพระสงฆ์และชาวบ้านจึงได้บูรณะพระเจดีย์ และโบราณสถานในบริเวณเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่สำคัญอย่างยิ่งของชาวเมืองเชียงใหม่
สำหรับสถาปัตยกรรม พระเจดีย์เจ็ดยอด พระวิหารมียอดเจดีย์บนหลังคา จำนวน 7 ยอด โดยมีประตูทางเข้าด้านหน้าตะวันออก ด้านเดียว มหทองค์พระเจดีย์ที่นำมาสร้างขึ้นนี้เป็นแบบจำลองมาจากมหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ความแตกต่างคือ ลวดลายปูนปั้นที่ผนังนอกวิหารใช้การประดับเป็นรูปเทวดาแทนตำแหน่งพระพุทธรูป ลักษณะของเทวดาที่ประดับเรียงรายอยู่ในแต่ละช่องที่คั่นด้วยเสามี 2 ชั้น แบ่งเป็นเทวดานั่งพนมมือ ท่าทางเหมือนลอยหรือเหาะอยู่กลางอากาศ ประดับที่ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ และเทวดายืนพนมมือ อยู่บนฐานบัว ประดับที่มุมจากการยกเก็จด้านหลังของวิหาร
โดยเทวดาจะมีพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรมองตรง แย้มพระโอษฐ์ พระวรกายเพรียวบาง บั้นพระองค์เล็ก เครื่องประดับ ทรงสวมมงกุฎกรวยสูง (กรัณฑมงกุฎ) กุณฑล กรองศอ สายอุทรพันธะ พาหุรัดข้อพระกร ข้อพระบาท การแต่งกาย ทรงสวมผ้านุ่งยาวและชักชายผ้าออกมาโดยทำให้มีลักษณะพลิ้วไหวปลายสะบัดขึ้น ทำให้เหมือนว่าเทวดากำลังล่องลอยอยู่กลางอากาศ พื้นหลังมีลายดอกไม้ร่วง โดยทำเป็นลายดอกโบตั๋น ผสมใบและลายกนกก้านขด ลายก้อนเมฆ ลายจำปาดะที่คล้ายดอกจำปีหรือจำปา แต่มีขนาดใหญ่กว่าดูงดงามมาก
หลังจากได้สักการะองค์พระประธานด้านในพระเจดีย์แล้ว บริเวณโดยรอบยังมีความน่าสนใจ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าวัดแห่งนี้มีโบราณสถานที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อครั้งที่สร้างวัดพระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างสัตตมหาสถาน คือ สถานที่ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้ อาทิรัตนบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรม รัตนฆรเจดีย์ อัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) สระมุจลินท์ (ต้นจิก) และ ราชายตนะ(ต้นเกด) โดยเราเดินสำรวจได้พบกับต้นศรีมหาโพธิ์ หรือ โพธิบัลลังก์ (สัตตมหาสถานในสัปดาห์ที่ 1) หรือสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าขณะทรงตรัลรู้ ภายหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประทับเสวย ตั้งอยู่ตรงด้านข้างพระเจดีย์ใกล้กับพระเจ้าทันใจ สันนิษฐานว่าเพื่อเป็นการฉลองพระพุทธศาสนาครบ 2,000 ปี
ถัดมาคือ รัตนฆรเจดีย์ (สัตตมหาลถานในสัปดาห์ที่ 4 ) สถานที่พระพุทธเจ้าประทับในเรือนแก้วซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์ สภาพปัจจุบันรัตนฆรเจดีย์เหลือเพียงส่วนฐานในผังยกเก็จและบางส่วนของเรือนธาตุที่มีจระนำ จึงน่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนา เดินมาอีกนิดจะพบกับรัตนจงกรม (สัตตมหาสถานในสัปดาห์ที่ 3) จะสังเกตเห็นพระพุทธประทับยืน เป็นสถานที่ที่พระพุทธเต้าทรงกระทำปาฏิหาริย์ เนรมิตรัตนจงกรมในอากาศและเสด็จพุทธดำเนินในจงกรม เรียกว่า รัตนจังกรมเจดีย์ อาคารรัตนจงกรมเป็นฐานอาการยกเป็นแท่นขึ้นมาตามแนวยาวในผังหกเหลี่ยม ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ลักษณะของฐานดังกล่าวนี้พบรูปแบบและตำแหน่งเดียวกับที่พบที่วิหารพุทธคยา ใกล้กับรัตจงกรม คือ อนิมิสเจดีย์ (สัตตมหาสถานในสัปดาห์ที่ 2) สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเพ่งมองมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน
ส่วนฝั่งตรงข้ามคือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช ที่ประดิษฐานอยู่ทางด้านพระสถูปเจดีย์ของพระองค์ นอกจากนี้เรายังได้มีโอกาสสักการะ มณฑปพระแก่นจันทน์แดง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของล้านนา โดย พระเมืองแก้ว ทรงอัญเชิญมาจากวัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) และทรงให้ประดิษฐานไว้ในมณฑปหลังนี้ ซึ่งยังคงมีลวดลายที่ประดับอย่างสวยงาม ทั้งเทวดา ดอกไม้ ก้านไม้ มณฑปหลังนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างของมณฑป หรือซุ้มปราสาทที่นิยมสร้างในระยะต่อมาของล้านนา โดยสตรีจะสามารถสักการะอยู่ตรงบริเวณด่านล่างได้เท่านั้น
วัดเจ็ดยอดแห่งนี้ นับเป็นมรดกแห่งศรัทธาและสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามอย่างยิ่ง เหมาะกับการเดินทางมาขอพร เสริมบารมี และเติมพลังใจเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างมีความสุข.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในหลวง พระราชินี ถวายสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ประจำปีพระบรมราชสมภพ วัดพระสิงห์
ในหลวง พระราชินี ทรงถวายสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ประจำปีพระบรมราชสมภพ ทรงประกอบพิธีสมโภชพระอัฏฐารสและพระอัครสาวก ชาวเชียงใหม่ปลื้มปีติ
ต้นปี 'ดอกประทัดดอย' บานสะพรั่งบนดอยภาคเหนือ
กรมอุทยานฯ ชวนนักท่องเที่ยว สัมผัสความงดงามดอกประทัดดอย บานสะพรั่งรับต้นปี ที่จะพบได้บนดอยพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น
โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
'ทักษิณ' ยันไม่ยุบ! รัฐบาลพ่อเลี้ยงอยู่ครบเทอม ปีหน้าม่วนแน่ จบทุกปัญหา เชียงใหม่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ที่ตลาดภูสุวรรณ ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร