โลกประชุม COP มาแล้ว 29 ครั้ง แต่กลับเดือดเพิ่มขึ้น

ในรอบปี 2567 องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไข “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” โดยมีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึง 4 ครั้ง ทั้ง CBD COP16 ที่โคลอมเบีย COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน INC-5 ที่เกาหลีใต้ และ UNCCD COP16 ที่ซาอุดีอาระเบีย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ถือว่า ล้วนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาในระดับใหญ่    โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เริ่มตระหนักแล้วว่า อาจจะต้องต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง หรือรวมกับประเทศอื่น ๆ เป็นกลุ่มเล็ก ๆ คงไม่ใช่ทั้งโลกที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหานี้

กลางปี 2567 ที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ประกาศว่าโลกเราได้เข้าสู่ภาวะโลกเดือด ซึ่งเป็นจุดที่อุณหภูมิสูงกว่าภาวะโลกร้อน และในความพยายามแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สหประชาชาติจัดประชุมใหญ่ติด ๆ กัน ดังที่กล่าวมาแล้ว  การประชุม CBD COP16 ในเดือนตุลาคม ที่จบลงแบบไปโดยไม่มีข้อตกลงสำคัญใด ๆ มีเพียงการรับรองชนพื้นเมืองเท่านั้น ถัดมาเป็นการประชุมเวทีใหญ่ COP29 ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีรัฐบาลและผู้แทนกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม มุ่งประเด็นหารือเกี่ยวกับการจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงิน  ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องแบกรับผลกระทบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวรับผลลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ผลสรุปจากเวที   COP29  ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ล้มเหลวไม่เป็นท่า   ประเทศกำลังพัฒนา ล้วนต่างผิดหวังกับการเจรจากับประเทศร่ำรวย ที่ยอมควักกระเป๋าไม่มากพอ กับการช่วยเหลือ   โดยประเทศกำลังพัฒนากล่าวตำหนิว่าเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 10.2 ล้านล้านบาท) ที่พวกเขาจะได้รับภายในปี 2035 นั้นเป็น เงินจำนวนเพียงเล็กน้อย  นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนายังมองอีกว่าพวกเขาอาจจะต้องต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง ด้วยแนวคิดการรวมกลุ่มประเทศเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบในนามของ”สโมสรภูมิอากาศ” หรือ Climate Clubs อีกด้วย
ในฐานะเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม COP 29 วันทนีย์ ละลี ผู้อำนวยการกลุ่มอนุสัญญาและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สรุปผลการประชุม “COP29” ว่า เป็นการประชุมมีความต่อเนื่องมาจากประชุม  COP 26 ที่มีขึ้น ณ กรุงกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ภาคียกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Carbon neutrality 2050 และ Net Zero GHG Emissions 2065 อีกทั้งมีการหารือเพื่อระดมทุนตามเป้าหมาย 1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2050 ถัดมา COP27 มีความพยายามเพิ่มขึ้นในการลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดเป้าหมายร้อยละ43 ภายในปี 2030 เทียบกับระดับปี 2019 กำหนดเป้าหมายการปรับตัวฯ ระดับโลก (GGA)  กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย COP28 มีการประเมินสถานการณ์ และการดำเนินงานระดับโลก  ซึ่งเรายังห่างไกลเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และมีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
จุดเน้นของประชุม COP29 จึงเป็นเรื่องการเงินล้วนๆก็ว่าได้  หรือเรียกว่า “Finance  COP” เป็นการกำหนดเป้าหมายใหม่ทางการเงิน เป็นประเด็นหารือและจับตามอง ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องจัดสรรเงินเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาจากเป้าหมายเดิมปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซ GHG และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2020-2025
ในห้วงการประชุม COP29 ระดับผู้นำมีถ้อยแถลงและเป้าหมายในการลดก๊าซทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา สหราชอาณาจักร  ตั้งเป้าหมาย NCD2035 ในการลดก๊าซร้อยละ 81 จากระดับปี 1990  มุ่งเป็นผู้นำด้าน Climate finance ประกาศความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศเท่ากับความมั่นคงของโลก  เยอรมนี เห็นว่า เป้าหมายทางการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดำเนินงานประเทศกำลังพัฒนา  ยืนยันสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา และเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ญี่ปุ่นก็เช่นกัน มุ่งหวังให้มีข้อสรุป  ยกระดับการให้การปรับตัว ส่วนจีนเห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำลดก๊าซ และคำนึงถึงหลักการรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกันตามความสามารถแต่ละประเทศ อินเดีย แถลงประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบหนักกว่าประเทศพัฒนาแล้ว  ประสบผลสำเร็จในการยกระดับเปลี่ยนผ่านพลังงาน ขึ้น 3 เท่าจากปี 2014  หนุนการปลูกและฟื้นฟูป่า หวังให้มีข้อสรุปเรื่องการเงิน ส่วนไทยเน้นย้ำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งลดก๊าซจากค่าการปล่อยจริง บูรณาการแผน NAP สู่ระดับท้องถิ่น ควบคู่กับระบบเตือนภัย และอยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันกฎหมายโลกร้อน


ผลลัพธ์สำคัญจาก COP29   ประเด็นหลักๆ  ได้แก่  เป้าหมายทางการเงินใหม่ยกระดับจาก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2035 ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการระดมเงิน โดยมีช่องทางการเงินที่หลากหลายและไม่ซับซ้อน ,กองทุนความสูญเสียและความเสียหาย แต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารกองทุนคนแรก  เริ่มขับเคลื่อนอย่างเป็นทางการในปี 2025 จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ฟิลิปปินส์  ,ยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เน้นย้ำเร่งลดการปล่อยก๊าซร้อยละ 43 ภายใน 2030 และร้อยละ 60 ในปี 2035 จากระดับการปล่อยปี 2019 โดยคำนึงถึงไม่มีรูปแบบใดเหมาะกับทุกประเทศ เสริมสร้างศักยภาพประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการยกระดับ  NCD3.0  , เป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก เห็นชอบแนวทางในการพัฒนาตัวชี้วัดด้านการปรับตัวฯ ตามกรอบแผนงาน UAE-Belem ให้ตัวชี้วัดด้านการปรับตัว มีความเชื่อมโยงระหว่างสาขา ครอบคลุมทุกมิติ ประเด็นสำคัญสุดท้าย กลไกคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศตามข้อตกลงปารีส มีประเด็นเชิงเทคนิคของการถ่ายโอนผลการลดก๊าซ ให้โครงการ CDM ภาคป่าไม้ ถ่ายโอนสู่กลไกนี้ บูรณาการโครงการปรับตัวฯ ลดก๊าซและความหลากหลาย
 ส่วนก้าวต่อไปของประเทศไทย ผอ.กลุ่มอนุสัญญาฯ กล่าวว่า ไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก พ.ศ.2564-2573  จัดทำข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนแผนการปรับตัวฯ พร้อมบูรณาการแผนรายสาขา 6 สาขา รายพื้นที่ พัฒนาศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างประเทศ  จัดทำแผน NCD2031-2035 ผนวกกับการจัดทำแผนการลงทุนรองรับ NCD3.0  รวมถึงเร่งผลักดัน พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนนำเข้าคณะกรรมการชาติ และครม.พิจารณาต่อไป ขาดไม่ได้ต้องสื่อสารทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วม

ด้าน ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA)  กล่าวว่า  Francis  Fukuyama พูดถึง The End  of History หรือจุดจบของประวัติศาสตร์  ซึ่งเป็นวรรคทองของโลก   เป็นการประกาศชัยชนะของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยประชาธิปไตย เสรีนิยม  และทุนนิยม เป็นกลไกสุดท้ายที่ประวัติศาสตร์มันไม่เคลื่อนต่อไปข้างหน้า   ความขัดแย้งทางการเมืองอาจจะดูใช่ แต่สิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่มีทางมีจุดสิ้นสุด คือ ปัญหาโลกร้อน เพราะกลไกของระบบทุนนิยมไม่สามารถตอบคำถามเรื่องนี้ได้ จึงเกิดศัพท์มากมาย Green Capital  Green Growth  จนถึง Carbon Market  เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและจัดการธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาล้มเหลว การประชุม COP มาแล้ว 29 ครั้ง คำถามเราสามารถลดก๊าซ บรรเทาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้นมั้ย แต่ละประเทศเกิดความร่วมมือจับมือ กลไกรัฐร่วมกันเพื่อหาทางออก คำตอบคือไม่

 “ ข้อมูลการปล่อยก๊าซ ปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่มีอนุสัญญาฯ UNFCC  โลกปล่อยคาร์บอน 22,000 ล้านตันต่อปี จนล่วงมาถึงปัจจุบันโลกปล่อยคาร์บอน 36,000 ล้านตันต่อปี พุ่งกระฉูดมาก  นำมาสู่หลักการความรับผิดชอบที่แตกต่าง บนหลักคิดเรื่องความเป็นธรรม  ที่ประเทศปล่อยคาร์บอนสูงต้องรับผิดชอบ ทั้งลดปล่อยคาร์บอน  ช่วยเหลือผลกระทบ และการปรับตัวแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่เดือดร้อน เป็นที่มาต้องมีการจัดสรรเงินช่วย  เกิดแนวคิดเรื่อง Net Zero การปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ เริ่มขึ้น  โดยมีกลไกการชดเชยคาร์บอน ทำบัญชีหักกลบลบหนี้โดยเทคโนโลยีหรือธรรมชาติ  และใช้ระบบซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซ อุตสาหกรรมเริ่มทดลองโครงการ offset ภาคป่าไม้ เกิดแนวทางใช้ธรรมชาติดูดซับ หรือ CDM  ประเทศพัฒนาแล้วพุ่งตรงประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งใน COP 29 นำ CDM กลับเข้ามาในกลไกคาร์บอน”

ดร.กฤษดาย้ำปัญหาของ Net Zero จัดการก๊าซเรือนกระจกแค่เสมอตัว  ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกมีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพียง 350 ส่วน ต่อล้าน  แต่ปัจจุบันโลกมีก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 420 ส่วนต่อล้าน  ประมาณได้ว่ามีก๊าซเรือนกระจกสะสมกองอยู่ในบรรยากาศถึง 546,700 ล้านตันคาร์บอนฯ  เป็นปริมาณมหาศาล แสดงว่า Net Zero ไม่ตอบคำถาม ผลตามมาจากการชดเชยไปเรื่อย อุตสาหกรรมทุนนิยมสีเขียวยังอนุญาตให้อุตสาหกรรมฟอสซิลโตต่อไป และปล่อยมากขึ้น  ปัจจุบันสัดส่วนพลังงานฟอสซิลยังอยู่ที่ 80%  พลังงานหมุนเวียนเพิ่มไม่เกิน 10-15% แต่ก่านหิน ก๊าซธรรมชาติยังมหาศาล นี่คือ การติดกับดัก

“ หากไม่หยุดฟอสซิลแล้ว จะเอาอะไรมาหักลบให้ได้ Net Zero  กรณีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน มีการประเมินว่า มีศักยภาพลดคาร์บอนของโลกแค่ 5-10% เท่านั้น มีความเสี่ยง เพราะไม่ได้ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนการใช้ธรรมชาติดูดคาร์บอน เช่น ปลูกป่า ฟื้นป่า  รายงานบอกว่า  มีศักยภาพการดูดคาร์บอนแค่ 10-20%   รายงานปี 2023  ที่ผ่านมาพบว่า จะยุติการดูดซับคาร์บอนจากปัญหาภาวะโลกรวน ส่วนมหาสมุทรดูดซับได้เต็มที่ 5 -10%  เพราะภาวะโลกร้อนทำให้ทะเลมีปัญหาควบคุมสมดุลระบบนิเวศ การหวังเอาธรรมชาติมาหักลบกับการปล่อยคาร์บอน ฯ จากอุตสาหกรรมไม่สามารถทำได้อย่างที่หวัง  ปริมาณคาร์บอนยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก  เสียงของนักวิทยาศาสตร์บอก Net Zero ไม่สามารถชดเชยการใช้ฟอสซิลในทุกวันนี้ได้ มีปัญหาใช้การประเมินที่ผิดพลาด    ปีที่แล้วมีรายงานประเมินป่าดูดซับคาร์บอนไม่ได้แล้ว ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุสำคัญ  Net Zero เปิดโอกาสให้บริษัทขนาดใหญ่ยังคงปล่อยก๊าซ “ ผู้ประสานงานเครือข่าย TCJA  กล่าว

ประเด็นเรื่องความเป็นธรรม ดร.กฤษดา กล่าวด้วยว่า บางประเทศเผชิญวิกฤตใกล้จมน้ำ ประเทศหมู่เกาะเผชิญหายนะ เกษตรกรไทยเดือดร้อนจากวิกฤตน้ำท่วม คำถามเม็ดเงินที่ไหลอยู่ในการชดเชยคาร์บอนไปช่วยเหลือเกษตรกร ชีวิตคนยากจน กลุ่มเปราะบางหรือไม่ ประเทศไทยได้รับเงินช่วยเหลือน้อยมาก หากยังเดินหน้าด้วย Net Zero จาก COP 29 ไป COP 30 เพิ่มจำนวนเงิน จัดทำกองทุน แต่ถ้าโจทย์ใหญ่ไม่เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล หายนะนี้ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง นำมาสู่แนวคิดการลดแท้จริง โดยจัดลำดับความสำคัญ เริ่มจากสาขาพลังงาน ไม่ต้องหักลบการปล่อยคาร์บอน ลดลง 43% เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลก คำว่า “REAL ZERO”  เริ่มมีเสียงออกมาไม่เฉพาะภาคประชาสังคม   แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ 60 คนจากประเทศต่างๆ เข้าชื่อนำแนวทางนี้สู่การเจรจา COP ต่างๆ

ดร.กฤษดาได้แสดงทัศนะต่อแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ที่ ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ  แผนปฏิบัติการนี้ มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 222.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ใน 5 สาขา ปัจจุบันปล่อยก๊าซเรือนเรือนกระจกเกือบ 370 ล้านตันคาร์บอนฯ  คาดการณ์ว่า ปี 2573  จะปล่อยสูงถึง 555 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งการลดให้ได้ 333 ล้านตัน แสดงว่าลดจากปัจจุบันไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ธรณ์' เปิดภาพ 'ไต้ฝุ่น ยางิ' เห็น Eye of a storm ชัดเจน เหนือ อีสาน เตรียมรับมือ

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

ส่อง'กฎหมายโลกร้อน' ควบคุม-เบิกทางปล่อยก๊าซ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบทั่วโลก ไทยเจออากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน  สภาพอากาศร้อนและแล้ง ฤดูฝนล่าช้า ส่งผลพืชผักเสียหาย กระทบภาคเกษตร  ปัญหาเหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้น