เป็นธรรมเนียมทุกปีในเทศกาลปีใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์อันงดงามและมีประวัติความเป็นมาจากนครโบราณต่างๆ ของไทย โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นพระประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีก 9 องค์ มาประดิษฐานให้ไหว้พระขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลเริ่มต้นศักราชใหม่ ภายใต้ชื่อกิจกรรมสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “นบพระปฏิมา ๙ นครามหามงคล ๒๕๖๘”
โอกาสนี้ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดี ศก. ร่วมสักการะพระพุทธรูปสัญ 10 องค์ เป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันก่อน ก่อนเปิดให้เข้าไหว้พระวังหน้า ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก
พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปอีก 9 องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 4 องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี 3 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี 1 องค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 1 องค์ หากได้มากราบไหว้บูชาจะอำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลในปีมะเส็ง ประกอบด้วยพระพุทธสิหิงค์ศิลปะล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เก่าแก่กว่า 500 ปี ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณหลายแห่ง นับแต่สุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์
พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองเชียงใหม่ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 19-20 อายุ 600-700 ปีมาแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้ประทับขัดสมาธิราบ พระวรกายเพรียวบาง และชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กยาวพาดพระอังสาเหนือพระนาภี ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่งกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม 2 พระหัตถ์ เมืองลพบุรี เก่าแก่มากกว่า 700 ปี จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธรูปในศิลปะเขมรโบราณแบบบายนพบมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่เมืองลพบุรี
“พระเมืองสวรรค์” หรือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองสรรคบุรีศิลปะลพบุรี ก่อนอยุธยาแบบอู่ทองรุ่นที่ 1 พุทธศตวรรษที่ 19 อายุ 700 ปี จากพุทธศิลป์แสดงความคาบเกี่ยวกับพระพุทธรูปในช่วงปลายของศิลปะลพบุรี พบมากบริเวณเมืองโบราณก่อนสมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท อดีตขนานนามพระพุทธรูปกลุ่มนี้ว่า “พระเมืองสรรค์”เมื่อภายหลังการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา เมืองสรรคบุรีจึงกลายเป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงและเมืองหน้าด่าน
พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย เมืองสุโขทัย ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 พุทธลักษณะพระพักตร์รูปไข่ มีพระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ครองจีวรห่มคลุมเรียบไม่มีริ้วและจีวรแนบพระวรกาย เป็นรูปแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย บริเวณส่วนฐานด้านหลังพระพุทธรูปมีจารึกอักษรไทยภาษาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ว่า “วัดกะพังทอง เมืองโสกโขไทย” สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคลื่อนย้ายมาจากวัดตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์ต่อมา พระพิมพ์ลีลาในซุ้มเรือนแก้ว เมืองสุพรรณบุรีศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20 อายุ 600 ปี พระพิมพ์เนื้อชินรูปพระพุทธเจ้าในอิริยาบถลีลาภายในเรือนแก้ว พบมากในกรุพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี สันนิษฐานน่าจะได้จากกรุนี้เช่นกัน นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “พระกำแพงศอก” ขนาดของพระพิมพ์ที่ใหญ่พกติดตัวไม่ได้ มักบูซาที่บ้าน เชื่อว่า ป้องกันอัคคีภัยได้
อีกองค์ก็ล้ำค่าจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนครศรีอยุธยา ศิลปะอยุธยาตอนต้น แบบอู่ทองรุ่นที่ 3 พุทธศตวรรษที่ 20 งดงามด้วยศิลปะอู่ทอง เชื่อว่ารูปแบบศิลปะนี้เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง แบ่งเป็น 3 รุ่น จากการขุดค้นกรุพระปรางค์ พบพระพุทธรูปศิลปะต่างๆ โดยพระพุทธรูปกลุ่มศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 พบมากที่สุดกว่า 356 องค์
พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองนครศรีธรรมราชศิลปะอยุธยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช อายุ 400-500ปีมาแล้ว ได้รับรูปแบบมาจากพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรสมัยอยุธยาตอนกลาง มีแรงบันดาลใจและรูปแบบจากพระพุทธสิหิงค์ หรือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนา ตามตำนานระบุเมื่อพระพุทธสิหิงค์เชิญมาจากประเทศศรีลังกาเคยพักประดิษฐานที่นครศรีธรรมราชก่อนอัญเชิญไปเมืองสุโขทัย ส่วนพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อยปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ เมืองพิษณุโลก ศิลปะอยุธยาตอนกลาง ประวัติได้มาจากมณฑลพิษณุโลก ตั้งขึ้น พ.ศ. 2435 ประกอบด้วยเมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก ที่เป็นเมืองเอก
ถ้าอยากมีชัยชนะในปีหน้า มาไหว้พระชัยเมืองนครราชสีมา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22-23 พระพุทธรูปปางมารวิชัยบนพระวรกายโดยรอบมีจารึกพระคาถาอักษรขอม คติการสร้างพระชัยประจำตัวแม่ทัพยึดถือปฏิบัติแต่โบราณ คุ้มครองป้องกันภัย ยังพบการสร้างพระชัยสำหรับเมืองเป็นมิ่งมงคล พระชัยเมืองนครราชสีมาเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกจากทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ
ชวนมาสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “นบพระปฏิมา ๙ นครามหามงคล ๒๕๖๘” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่5 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. – 16.00 น.ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum
กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์