ทร.-มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถาณในพระราชวังเดิมจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ และพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะเนื่องในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปี 2567 วันสุดท้ายเปิดให้เข้าชมวังเดิม ปชช.คึกคัก
28 ธ.ค.67 พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ร่วมกันเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท้องพระโรง พระราชวังเดิม พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ ณ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประจำปี 2567 โดยมีคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าร่วมในพิธี
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานของกองทัพเรือในพื้นที่ ได้ประกอบพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายใน กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระปฐมกษัตริย์และกษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 พระองค์ทรงมีพื้นฐานเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ พระนามเดิมว่า สิน ในปีพุทธศักราช 2308 - 2309 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง “พระยาตาก” ได้นำไพร่พลมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่างที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ และทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง ต่อมาพระองค์ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร จนเมื่อ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อมของพม่า เพื่อที่จะกลับมากู้เอกราชต่อไป
หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ จากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยาเข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 จนสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า หลังจากนั้นทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ ทั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวง (พระราชวังเดิมในปัจจุบัน) ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อ 28 ธันวาคม 2311 ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต ในวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จุลศักราช 1144 ปีขาล จัตวาศกก่อนเที่ยงวัน ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325
จากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิมในปัจจุบัน ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับและว่าราชการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี และเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงธนบุรี โดยโบราณสถานสำคัญในพระราชวังเดิมประกอบด้วย ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตำหนักเก๋งคู่ ท้องพระโรง ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ในโอกาสวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประจำปี 2567 มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้เปิดพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้ประชาชนเข้าชมเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาโดยวันนี้ จะเปิดให้เข้าชมเป็นวันสุดท้าย บรรยากาศตลอดทั้งวันมีประชาชนเดินทางมาพระราชวังเดิมจำนวนมาก เพื่อสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยมีทหารเรือและจิตอาสาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทร.' เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย 'วันลอยกระทง' ดูแลตลอดลำน้ำเจ้าพระยา
ทร. เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยวันลอยกระทง จัดกำลังพล 239 นาย เรือ 44 ลำ ดูแลความปลอดภัยตลอดลำน้ำเจ้าพระยา
'รมว.กห.' เรียกถกสาง 'เรือดำน้ำ' ต้องตัดสินใจระวังอย่างยิ่งยวด
'ภูมิธรรม' เรียกถกเรือดำน้ำ รับต้องระวังอย่างยิ่งยวดในการตัดสินใจ เหตุมีความเห็นแตกสองฝ่าย พยายามทำให้จบยุคที่คุมกลาโหม
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคพร้อมในพระราชพิธีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มฝึกซ้อมเป็นรูปกระบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา กองทัพเรือได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมการซ้อมพายเรืออย่างใกล้ชิด โดยมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจการซ้อมฯ และเข้าเยี่ยมชมเรือพระราชพิธี
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สุดวิจิตรประณีตศิลป์ไทย
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศไทย งานพระราชพิธีสำคัญที่จะเกิดขึ้นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามฯ
ซ่อมเรือพระราชพิธีใกล้เสร็จ
21 มิ.ย. 2567 - เวลา 9.15 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและตกแต่งเรือพระราชพิธี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฝีพาย ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ เ
ยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
เหล่าทัพได้ทำการยิงสลุตหลวง 21 นัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 3 มิถุนายน 2567