กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการห้ามนำเข้่าขยะพลาสติก โดยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเพื่อยุติมลพิษพลาสติกในประเทศไทยขอชื่นชมมาตรการดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะพลาสติกจากต่างชาติ และป้องกันผลกระทบจากมลพิษพลาสติกภายในประเทศไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยจะช่วยตัดวงจรอุปทานของโรงงานจัดการขยะและรีไซเคิลพลาสติกนำเข้าอันตราย นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังเป็นการปกป้องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ รวมไปถึงรายได้และวิถีชีวิตของกลุ่มซาเล้งและคนเก็บขยะ
ปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกกลายเป็นวาระระดับชาติเมื่อปี พ.ศ. 2561 หลังประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอีกหลายชนิดเข้าประเทศตั้งแต่สิ้นปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป ที่เคยส่งออกขยะไปประเทศจีน หันมาส่งออกขยะพลาสติกมาที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ขยะพลาสติกที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยส่งผลให้เกิดการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลพลาสติกขึ้นมาก โรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะ จากทุนจีน ทั้งยังพบว่าโรงงานเหล่านี้มักประกอบกิจการโดยผิดกฎหมาย และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การที่รัฐบาลไทยประกาศห้ามนำเข้าเศษพลาสติกหรือขยะพลาสติกดังกล่าว ภาคประชาสังคมเห็นว่า เป็นมาตรการที่จะป้องกัน “การส่งออกมลพิษจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศไทย” ซึ่งพฤติการณ์ส่งออกขยะข้ามแดนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เสมือนเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้าง “อาณานิคมขยะ” เพื่อรองรับของเสียที่ประเทศของตนไม่ต้องการ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ภาคประชาสังคมหลายองค์กรได้ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านการส่งออกขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทย รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และยังมีการจับกุมผู้นำเข้าขยะพลาสติกและโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนมากในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2562
อย่างไรก็ดี การประกาศห้ามนำขยะพลาสติกประสบปัญหาและเสียงคัดค้านจากผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้การดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกล่าช้าออกไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2564 องค์กรภาคประชาสังคม 72 องค์กรได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กระตุ้นให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด และในที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติก โดยจะมีผลหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ปัจจุบันมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกลายเป็นกฎหมายโดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 ที่จะถึงนี้
“การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของประเทศควรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 แต่คณะอนุกรรมการฯ ได้ผ่อนผันให้กับบริษัทผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลได้มีเวลาปรับตัวเป็นเวลาสามปี ซึ่งก็ครบกำหนดแล้ว แม้การออกกฎหมายจะล่าช้าไปบ้าง แต่การประกาศใช้กฎหมายนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก และประเทศไทยถือเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ดังนั้น ภาคประชาสังคมจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปว่า ผลการบังคับใช้กฎหมายนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะยังมีการลักลอบนำเข้าเหมือนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กฎหมายห้ามนำเข้าแล้ว แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าอีกจำนวนมากหรือไม่” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าว
“เมื่อมีกฎหมายแล้ว หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ที่เป็นหน่วยงานหลักจะต้องร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 จะต้องพัฒนาระบบและแนวทางการทำงานเพื่อการติดตามและตรวจจับการนำเข้าขยะผิดกฎหมาย รวมไปถึงการส่งคืนแก่ประเทศต้นทาง นอกจากนี้ กฎหมายปัจจุบันไม่ได้มีการควบคุมการส่งผ่าน นั่นหมายความว่า ประเทศไทยอาจยังถูกใช้เป็นทางผ่านในการส่งขยะพลาสติกไปประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้เกิด” ปุณญธร จึงสมาน นักวิจัยโครงการพลาสติก มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าว
พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 39.15 เพียงพิกัดเดียว แต่ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงภายใต้พิกัดศุลกากรอื่น เช่น สำแดงว่าเป็นกระดาษ รัฐบาลไทยควรประเมินและตรวจหาพิกัดศุลกากรที่มีความเสี่ยงในประเด็นนี้ เพื่อพิจารณาขยายขอบเขตของการห้ามนำเข้าหากเหมาะสม ในการทำงานเหล่านี้ ภาครัฐควรเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและมีการสื่อสารการดำเนินงานต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส
เจ้าหน้าที่กรีนพีซ กล่าวอีกว่า ภาคประชาสังคมเห็นว่า การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี พ.ศ. 2568 ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการแก้ไขปัญหาอาณานิคมขยะ ประเทศไทยควรใช้โอกาสและบทบาทนี้ในการผลักดันการควบคุมและยับยั้งปัญหาการค้าขายขยะข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก โดยสามารถส่งมอบประสบการณ์และองค์ความรู้ให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงพัฒนาแนวทางในการควบคุมการนำเข้าขยะมาในภูมิภาคอาเซียน และการควบคุมการค้าขายและเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคเองด้วย นอกจากนั้น ประเทศไทยควรมีบทบาทในการผลักดันการควบคุมการส่งออกขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดภาระของประเทศผู้นำเข้าและประเทศที่ขยะถูกส่งผ่านในการติดตามตรวจสอบ แล้วไปควบคุมประเทศผู้ส่งออกให้มากขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแล้วในการเจรจาเพื่อจัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษพลาสติก หรือ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก เป้าหมายที่ไทยควรกำหนดในเวทีโลก
ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก
ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)
ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน
กฎหมาย PRTR เตรียมเข้าสภาฯ เปิดข้อมูลมลพิษ
ร่าง พรบ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. … หรือ ที่เรียกว่า “กฎหมาย PRTR” จ่อคิวเข้าสภาผู้แทนราษฎรเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนหน้านี้ หลากหลายองค์กรทั้งพรรคการเมืองและภาคประชาชนต่างพยายามขับเคลื่อนกฎหมาย PRTR ในแบบฉบับของแต่ละส่วนมาอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การเปิดเวทีเสวนา “สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี