สักการะ 'พระเขี้ยวแก้ว'เสริมสิริมงคล'รับปีใหม่'  

พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานบนมณฑป

สนามหลวง ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศ ดินแดนแห่งวัด วัง และวิถีประชาชน ที่หลอมรวมกันไว้อย่างแนบแน่น   โดยเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังมีวาอารามสำคัญของประเทศ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ วัดบวรนิเวศวิหาร  และลานกว้างที่ปกคลุมไปด้วยผืนหญ้าสีเขียวขจี ยังเป็นพื้นที่ประกอบพิธีสำคัญๆ อย่าง พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พิธีบำเพ็ญกุศลและถวายพระพรชัยมงคล พิธีแรกนาขวัญ กิจกรรมของประชาชน และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

พระเขี้ยวแก้ว (Cr.กระทรวงวัฒนธรรม)

หากใครได้เดินทางไปเยือนสนามหลวงในช่วงนี้ จะเห็นประชาชนทั้งชายไทยและต่างชาติหลั่งไหลมายังสนามหลวง เพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่ทางรัฐบาลไทย ได้ร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน อัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐาน  ณ ลานท้องสนามหลวง เป็นการชั่วคราว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปีพ.ศ.2568  โดยเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567-14 กุมภาพันธ์ 2568 รวมเป็นเวลา 73 วัน และจะอัญเชิญกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

บรรยากาศยามเย็น ในบริเวณพื้นที่สักการะพระเขี้ยวแก้ว

ขอชวนทำความรู้จักประวัติของพระเขี้ยวแก้ว หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า พระธาตุเขี้ยวแก้ว  หรือ พระทาฐธาตุ คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็น “เขี้ยว” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระบรมสารีริกธาตุที่มีความสำคัญยิ่ง ด้วยลักษณะอันโดดเด่นที่ไม่แตกกระจัดกระจายเหมือนพระธาตุประเภทอื่น ๆ พระเขี้ยวแก้วมีโครงสร้างที่ แข็งแกร่งแน่นหนา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นวัตถุแห่งศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างให้ความเคารพนับถือ

องค์พระเขี้ยวแก้ว ที่ประดิษฐานอยู่บนมณฑป
ภาพพระเขี้ยว ประดิษฐานอยู่ที่วัดหลิงกวง

ตามตำนานที่ปรากฏใน พระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึง มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมหาบุรุษ หนึ่งในนั้นกล่าวถึงลักษณะของพระทาฐะ หรือ เขี้ยว ของบุคคลผู้เปี่ยมด้วยคุณสมบัติแห่งมหาบุรุษ โดยในบทหนึ่งได้ระบุว่า เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่ งามบริสุทธิ์ แสดงให้เห็นถึงความงาม ความบริสุทธิ์ และความสมบูรณ์แบบของเขี้ยวแห่งพระพุทธเจ้า ลักษณะนี้จึงเป็นที่มาแห่งความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และความล้ำค่าของ พระเขี้ยวแก้ว

สวนดอกไม้ระหว่างทางเดินสู่มณฑปพระเขี้ยวแก้ว

จากตำนานพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีทั้งหมด 4 องค์ โดยได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานใน 4 สถานที่สำคัญ ได้แก่ 1.พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกท้าวสักกะ (พระอินทร์) อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐาน ณ จุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  2.พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยได้รับการประดิษฐานไว้ที่ แคว้นกาลิงคะ  ซึ่งเป็นแคว้นสำคัญในดินแดนชมพูทวีป ต่อมาได้รับการอัญเชิญข้ามทะเลไปประดิษฐานยัง ประเทศศรีลังกา โดยพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกเก็บรักษาอย่างดีที่ วัดพระเขี้ยวแก้ว (Tooth Relic Temple) เมืองแคนดี้ ศรีลังกา

ประชาชนเดินเวียนรอบมณฑปพระเขี้ยวแก้ว

 3.พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย เดิมทีพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่ แคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นสำคัญในดินแดนโบราณของอินเดีย ต่อมาได้รับการอัญเชิญมายังเมืองซีอาน ประเทศจีน โดยพระภิกษุฟาเหียน ผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศจีนและเอเชียตะวันออก พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาและประดิษฐานอยู่ที่ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน  และ4.พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย พระเขี้ยวแก้วองค์สุดท้ายนี้ไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในโลกมนุษย์หรือสวรรค์ หากแต่ประดิษฐานอยู่ใน ภพพญานาค

จุดวางดอกบัวหลังจากสักการะเรียบเร้อยแล้ว

บนโลกมนุษย์จึงมีพระเขี้ยวแก้วเพียง 2 องค์เท่านั้น คือ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ที่ประเทศศรีลังกา และพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายไปประดิษฐานยังประเทศต่าง ๆ รวม 6 ครั้ง โดยเมื่อปี พ.ศ.2545 พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวครั้งแรกในประเทศไทย ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545 และได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง ณ สนามหลวง ให้ประชาชนได้เข้าสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

นิทรรศการเรื่องราวการเดินทางของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ

เราได้มีโอกาสเดินทางไปยังสนามหลวงในช่วงที่แสงสุดท้ายของวันเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้มอ่อน แต่สนามหลวงยังคึกคักไปด้วยประชาชนจากทุกสารทิศ ทั้งพระสงฆ์ ชี ชาวไทยและต่างชาติ ทยอยเดินทางมาสักการะ พระเขี้ยวแก้ว ด้วยเลื่อมใส บริเวณทางเข้ามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก โดยทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรองที่แสดงบัตรประชาชน และผ่านการตรวจสัมภาระ อย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัย  หลังผ่านการตรวจเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะมอบดอกบัวและบทสวดบูชา เพื่อใช้ในการกราบไหว้บูชาพระเขี้ยวแก้ว

ประชาชนสวดภาวนาต่อองค์พระเขี้ยวแก้ว

เมื่อเข้ามาด้านในบรรยากาศดูราวกับหลุดเข้าไปในแดนสวรรค์ ทางเดินทอดยาวไปยังมณฑปพระเขี้ยวแก้วถูกประดับประดาด้วย สวนดอกไม้หลากสี ที่จัดวางอย่างงดงาม  เดินมาถึงบริเวณมณฑปพระเขี้ยวแก้วที่สูงตระหง่านกลางลานกว้าง เปล่งประกายด้วยแสงไฟที่ส่องสว่าง  บริเวณลานด้านหน้ามีจุดสักการะ ที่จัดไว้สำหรับประชาชนได้สวดมนต์บูชา เนื่องจากบนมณฑปส่วนในถูกสงวนไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โดยมีพระสงฆ์ชาวจีน 4 รูป ประจำอยู่ในแต่ละมุม เพื่อดูแลความปลอดภัยพระบรมสารีริกธาตุ

ประชาชนที่มาต่างพนมมือและสวดมนต์อย่างนอบน้อมตั้งใจ  และเดินเวียนรอบมณฑป 3 รอบ เสร็จแล้วจึงนำดอกบัวไปวางไว้ยังจุดวางดอกไม้ที่จัดไว้ทั้งสี่มุมของมณฑป หลังจากสักการะพระเขี้ยวแล้ว ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่แบ่งเป็น 5 โซน ให้ได้ชมด้วย  โซนที่ 1 ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน โซนที่ 2 พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก โซนที่ 3 พระเขี้ยวแก้ว  นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)

นิทรรศการดับขันธปรินิพพาน

โซนที่ 4 ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และโซนที่ 5 ความสัมพันธ์ ไทย-จีนที่แน่นแฟ้น  เมื่อฟ้าเริ่มมืดสนิท บริเวณด้านหลังมณฑปพระเขี้ยวแก้ว  สามารถขมความงามยามค่ำคืนของสวนที่มีการประดับตกแต่งไฟหลากสีเปล่งแสงในยามค่ำคืนที่มีฉากหลังคือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สุดงดงาม

.นิทรรศการความสัมพันธ์ไทย-จีน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า เวลา 10.00 น. – 12.00 น. และช่วงเย็น เวลา 15.30 น. เป็นต้นไป, พิธีเจริญจิตตภาวนา ในทุกวันพระมีพิธีแสดงธรรมเทศนา 1 กันต์ (ในภาคเช้า) และกิจกรรมในช่วงวันปีใหม่ สวดมนต์ข้ามปี 31 ธ.ค. 2567 , กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค. 2568, กิจกรรมวันตรุษจีน วันที่ 29 ม.ค. 2568 และ กิจกรรมวันมาฆบูชา วันที่ 12 ก.พ. 2568 ด้วย

นิทรรศการประวัติพระเขี้ยวแก้ว
บริเวณทางเข้าสักการะพระเขี้ยวแก้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สายแคมป์ปิ้งห้ามพลาด เช็กจุดกางเต็นท์ฟรี 37 จุดทั่วประเทศไทยช่วงปีใหม่

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

พยากรณ์ 15 วันล่วงหน้า ช่วงปีใหม่อากาศแปรปรวน หนาวปนฝน

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า

กระทรวงทรัพย์ฯ ร่วมส่งมอบความสุขให้ ปชช. ทั่วประเทศ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ มอบกล้าไม้มงคลผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์ "พฤกษามหามงคล" และปลูกต้นไม้ ต้นที่ 72 ล้านต้น

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน) มีความตั้งใจที่จะส่งมอบความสุขให้กับประชาชน โดยการเตรียมจัดของปีใหม่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบความสุขแด่ประชาชนทั่วประเทศ สำหรับกรมป่าไม้