ภาพเสือกระต่าย โดย ปริญญา ผดุงถิ่น
ในผืนป่าของประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะเสือโคร่ง นักล่าทขนาดใหญ่ ยังมีสัตว์ตระกูลแมวอาศัยอยู่ถึง 9 ชนิด ได้แก่ เสือกระต่าย, เสือไฟ, เสือลายเมฆ, เสือปลา, เสือดาวหรือเสือดำ, เสือโคร่ง, แมวป่าหัวแบน แมวดาว และแมวลายหินอ่อน ในจำนวนนี้เป็นเสือขนาดเล็ก 6 ชนิด ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ แม้ปีนี้มีข่าวดีรายงานการพบเสือกระต่ายตัวล่าสุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ เหมือนเป็นความหวังว่าสัตว์ป่าหายากยังหลงเหลืออยู่ ทว่า ความเป็นจริงสถานการณ์ประชากรเสือขนาดเล็กอยู่ในสถานภาพที่น่าเป็นห่วงและมีภัยคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ประเทศไทยไม่สามารถเพิ่มประชากรเสือขนาดเล็กและขาดมาตรการดูแลอนุรักษ์ที่ชัดเจน ทั้งที่เสือขนาดเล็กมีบทบาทและความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่น้อยไปกว่าเสือโคร่ง รักษาสมดุลธรรมชาติ รักษาพันธุกรรมของสัตว์ป่า แมวป่าเหล่านี้กินกระรอก ค้างคาว นก หนู สัตว์เลื้อยคลาน ช่วยควบคุมสัตว์ตัวเล็ก ทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดกลุ่มสัตว์ที่ศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่า จัดเวทีเสวนาวิชาการ” SAVE OUR HOME สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์ “ สนับสนุนโดยกองทุนสิ่งแวดล้อมสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจากองค์กรที่ทำงานอนุรักษ์เสือ รวมถึงสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์เสือขนาดเล็กของไทย ณ อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันก่อน
ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า อดีตการศึกษาและวิจัยเน้นเสือขนาดใหญ่อย่างเสือโคร่ง แต่ไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กไว้ในที่เดียวกัน มจธ.เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อทบทวนสถานภาพสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กเมื่อ 15 ปี ก่อน รวบรวมข้อมูลจากการตั้งกล้อง นำมาสู่ข้อมูลไทยมีแมวป่า 9 ชนิด มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเสือขนาดเล็ก 6 ชนิด คือ เสือลายเมฆ เสือปลา เสือกระต่าย แมวดาว แมวลายหินอ่อน และแมวป่าหัวแบน
จากข้อมูลปี 2554 สัตว์ตระกูลแมวขนาดเล็ก แมวดาว มีสถานภาพกระจายทั่วภูมิภาค พบในธรรมชาติและที่อยู่อาศัยชาวบ้าน พบตามกลุ่มป่าใหญ่ หากินกลางคืน นอกจากนี้ พบที่เขาสามร้อยยอด ส่วนแมวลายหินอ่อนเจอในพื้นที่ธรรมชาติ 6 พื้นที่อนุรักษ์ ส่วนแมวป่าหัวแบนพบแค่ทางตอนใต้สุดของประเทศไทยที่พรุโต๊ะแดง ขณะที่เสือกระต่าย พบทางตอนเหนือจนถึงภาคกลาง ก่อนจะได้ภาพที่อมก๋อยในเวลาถัดมา เสือไฟพบได้ทั่วประเทศไทย ทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง เขาใหญ่ ทับลาน ลงไปที่ฮาราบารา โดยมีสีแตกต่างกันตามถิ่นที่พบ เสือปลา พบการกระจายในพื้นจำกัด แก่งกระจาน เขาสามร้อยยอด พบเจอที่ปัตตานี เขาใหญ่ เสือขนาดกลาง เสือลายเมฆเคยกระจายค่อนข้างกว้างและสูญพันธุ์ไป ก่อนพบใน 9 ป่า
นักวิจัย มจธ.ระบุการศึกษาเสือขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำมีการศึกษาน้อยมาก นำมาสู่การการศึกษาเสือปลาในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ล่าสูงสุด ช่วยรักษาสมดุลของพื้นที่ มีรายงานการพบเสือป่าที่เขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่หลักของประเทศไทย แล้วยังพบที่พิษณุโลก บางขุนเทียน พันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร สิงหนคร ปัตตานี เรามอนิเตอร์ประชากรระยะยาว ตั้งกล้องใน 5 พื้นที่ โดยมีทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่สำรวจล่าสุดปี 67
งานอนุรักษ์ดำเนินการด้วยวิธีตั้งกล้องสำรวจประชากรเสือปลา สัมภาษณ์ชาวบ้านเพื่อดูประเด็นภัยคุกคาม เพราะเสือใช้พื้นที่ทับซ้อนกับชาวบ้าน เขาสามร้อยยอดตั้งกล้อง 50 จุด ประเมินปี 2562 พบ 34 ตัว ปี 2564 พบ 55 ตัว ปี 2566 พบ 61 ตัว พบอัตราการรอด 50% ซึ่งไม่สูง ในช่วง 3 ปีนี้ ประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีโอกาสเกิดใหม่ หรือมีตัวใหม่เข้ามา 80% ส่วนข้อมูลเพชรบุรี ตั้งกล้อง 112 จุด คาดมีเสือปลา 16 ตัว พันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาครตั้งกล้อง 27 จุด ได้ภาพจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ ที่จันทบุรีและตราดตั้งกล้อง 122 จุดตลอด 6 เดือน ในพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ได้ภาพเสือปลาเลย ส่วนทะลเสาบสงขลา ตอนล่าง ตอนบน ตั้งแต่ต้นปี- เดือน ส.ค.2567 พบเสือปลา 13 ตัว
“ พบเสือปลาเผชิญภัยคุกคามหลายพื้นที่ ชาวบ้านแจ้งเสือปลาขโมยกินเป็ด ล่าเสือปลาเอาหนัง ตายจากถูกรถชน ทัศนคติชาวบ้านต่างคนต่างอยู่ อย่ามารบกวน หากเสือปลามากินไก่จะไม่ชอบ บางส่วนทราบว่า เสือปลาเป็นสัตว์หายาก อยากอนุรักษ์ไว้ แผนงานปี 2568 จะสำรวจพื้นที่สามร้อยยอดครั้งที่ 4 ส่วนเพชรบุรีจะอีกครั้งหลังว่างเว้นมา 3 ปี เพราะปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินมาก น่าห่วง มีนายทุนถือครองพื้นที่ผืนใหญ่ ถือเป็นจุดอ่อนและภัยคุกคามที่เกิดขึ้น การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECM) พื้นที่ชุ่มน้ำ จะมีประโยน์มากต่อการอนุรักษ์ ส่วนที่ทะเลสาบสงขลามีประชากรเสือปลาอาศัยส่วนบนและส่วนล่าง แต่ไปมาหาสู่ไม่ได้เพราะชุมชนกั้นกลาง เตรียมสำรวจว่าจะเชื่อมประชากรได้หรือไม่ นอกจากนี้ ทำเรื่องเจเนติกในธรรมชาติ อนาคตจะดูเรื่องอาหารและชนิดสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือปลาด้วย “ ผศ.ดร.นฤมล กล่าว
รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เสือขนาดเล็กคนไม่ค่อยรู้จัก เป็นกลุ่มที่ถูกละเลย เมื่อไม่รู้จัก ยากต่อการจัดการ เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก ล่าสุดวันที่ 11 ธ.ค. 2567 พบเสือลายเมฆ เสือลายหินอ่อนที่คลองนาคา จ.ระนอง ถือเป็นพื้นที่ตกสำรวจและเป็นข้อมูลใหม่ ตลอด 12 ปี มากกว่า 40,000 TNtotally จุดตั้งกล้อง 11 พื้นที่ เป็นเขตป่าอนุรักษ์ 9 พื้นที่ ที่เหลือเป็นป่าสงวนหรือคอลิดอร์ ซึ่งเสือขนาดเล็กออกมาใช้พื้นที่ป่าสงวนเป็นขอบป่าที่อยู่ใกล้คน ต้องหาทางจัดการและเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะเสี่ยงต่อการถูกล่าและความเสี่ยงต่อคนจากสัตว์ป่าที่อาจป่วยด้วยโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
“ ภาพรวมสถานภาพเสือขนาดเล็กในปัจจุบัน ในเส้นทางเชื่อมต่อสำหรับสัตว์ป่า หรือ Wildlife Corridor คอลิดอร์ทับลาน-เขาใหญ่ ออบขาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พบแมวดาว ป่าห้วยขาแข้งพบเสือลายเมฆ เสือไฟ เสือลายหินอ่อน อช.เฉลิมรัตนโกสินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี พบเสือไฟ เสือลายเมฆ ขณะที่วังน้ำเขียวก็เป็นพื้นที่สำคัญ พบเสือปลา เสือไฟ เสือลายเมฆ แมวดาว เขาอ่างฤาไนพบเสือลายเมฆหากิน คลองนาคาพบเสือไฟ สรุปการศึกษายังต้องติดตามต่อไป การจัดการในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนฯ สำคัญ ปัจจุบัน อช.มีกิจกรรมอนุรักษ์เสือขนาดเล็กมากขึ้น “ รศ.ดร.รองลาภ ให้ข้อมูล
ด้าน สพ.ญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี ผู้เชี่ยวชาญระดับ 8 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากทำประชากรในถิ่นอาศัยให้สมบูรณ์แล้ว กรณีสัตว์ป่าที่หมดไปแล้ว เราฟื้นฟูประชากรกลับมา เช่น กะเรียน ละมั่ง และประชากรพญาแร้ง การขยายพันธุ์เชิงอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัยเป็นอีกความพยายามอนุรักษ์และวิจัย เพื่อให้เกิดประชากรที่สมบูรณ์และแข็งแรง การจัดทำประชากรสัตว์สำคัญมาก ปัจจุบันจากการศึกษาพบกรณีเสือไฟ เสือลายเมฆ คุณภาพน้ำเชื้อแย่ ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ในอนาคต อีกงานวิจัยเสือขนาดเล็กมีการผสมพันธุ์ในกลุ่มเกิดปัญหาเลือดชิด ส่งผลกระทบเกิดโรคต่างๆ ที่ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมแย่ๆ อวัยวะต่างๆ ผิดปกติ และเสี่ยงเสียชีวิตในที่สุด การอนุรักษ์จำเป็นต้องเติมประชากรใหม่ เรากำลังศึกษาในเสือลายเมฆเพื่อชะลอความเป็นเลือดชิด ขยายพันธุ์ได้ดีขึ้น ส่วนแมวป่าหัวแบนในสวนสัตว์สงขลา มี 3 ตัว อายุชรา ม.สงขลานครินทร์ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ เก็บตัวอย่างเซลล์ในธนาคารพันธุกรรมใช้เทคโนโลยีเพื่อการสืบพันธุ์ รวมถึงร่วมกับ อช.ดำเนินงานที่เขาสามร้อยยอด รวมถึงศึกษาเสือปลาในสีหนคร จ.สงขลา ให้ความรู้กับประชาชน อีกทั้งจากการศึกษาประชากรเสือปลาพบที่โคกขาม แหลมผักเบี้ย ถือเป็นพื้นที่ใหม่ เป็นโอกาสดีนำข้อมูลมาศึกษา
“ ประชากรเสือขนาดเล็กแย่จะจัดทำแผนการจัดการร่วมกันอย่างไรเพื่อให้เกิดประชากรอย่างยั่งยืน เสือปลา เสือไฟ ดูแลประชากรได้ในสวนสัตว์ แต่แมวลายหินอ่อนไม่มีเพาะขยายพันธุ์และให้ประชาชนมาเรียนรู้ ยังโชคดีที่พบในธรรมชาติ “ สพ.ญ.ดร.อัมพิกา กล่าว
ศุภวัฒน์ เขียวภักดี ผู้จัดการโครงการวิจัยเสือขนาดเล็ก องค์การ PANTARA วิจัยนิเวศวิทยาเสือปลาพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด กล่าวว่า ในประเทศไทยมีประชากร 112 ตัว พื้นที่พบสำคัญ คือ พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด จ.ประจวบฯ และวนอุทยานเขานางพันธุรัตน์ จ.เพชรบุรี ส่วนมากเสือปลาอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ ต้องดึงชุมชนเข้ามาร่วมอนุรักษ์ ขณะนี้มีแอคชั่นแพลนปี 2564-2568 การศึกษาต้องดูเหยื่อเสือปลา พบกินปลาอันดับหนึ่ง นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์อื่นๆ เรานำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาศึกษาอย่างปลอกคอติดวิทยุเพื่อบันทึกข้อมูลที่เสือปลาทำกิจกรรม ล่าเหยื่อ หลับนอน เลี้ยงลูก มีการดักจับเสือขนาดเล็กในพื้นที่สามร้อยยอด
จากการเก็บกองมูลพื้นที่สามร้อยยอด เสือปลากินปลา 48% เป็นปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลานิล และมีไก่บ้าน ที่ชาวบ้านเลี้ยง กินอาหาร 1,000-1,500 กรัมต่อวัน กินหนูพุกมากกว่า 490 ตัวต่อปี ช่วยลดภัยคุกคามการเกษตรของชาวบ้าน เสือปลาเพศผู้พื้นที่อาศัย 6.29 ตร.กม. เพศเมีย 2.83 ตร.กม. เสือปลาเพศผู้ที่น้ำหนักมากสุด 15 กิโลกรัม พื้นที่อาศัย 6 ตร.กม. ซึ่งน้ำหนักยิ่งเพิ่ม พื้นที่อาศัยยิ่งเพิ่ม จากข้อมูลยังพบเสือปลาชอบใช้พื้นที่รกร้างบ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง หากมีการจัดเก็บตาข่ายกันนกไม่ดี เป็นอันตราย บาดเจ็บ และอาจเสียชีวิตในที่สุด มีกรณีเสือปลาในพื้นที่บาดเจ็บแล้ว 4 ตัว นักวิจัย ชาวบ้านในพื้นที่ ต้องหาคุยกันจัดเก็บอุปกรณ์ดูแลสัตว์น้ำอย่างเป็นระบบ หากเสือปลาตาย ประชากรจะลดลงระยะหนึ่ง ก่อนจะฟื้นกลับมา จากเสือปลาอนาคตจะขยับไปศึกษาแมวป่าหัวแบน เสือลายเมฆต่อไป
จากเวที ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยทั้ง 6 ชนิด ประชากรเหลือน้อย และอยู่ในภาวะที่น่าห่วงมาก พบว่าขาดข้อมูลวิชาการ ขาดคนสนใจ เรารู้จักเสือขนาดเล็กน้อยมาก ขณะที่พื้นที่อยู่อาศัยลดลง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน ปัจจัยนี้มาจากนโยบายเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน อีกประเด็นพื้นที่อยู่อาศัยนอกเขตคุ้มครอง เช่น เสือปลา ส่งผลขาดคนดูแล สถานะนอกถิ่นอาศัยเองก็ยังน่าเป็นห่วง เช่น ในสวนสัตว์ พบว่ามีจำนวนเหลืออยู่ไม่มากนัก และเป็นกลุ่มประชากรที่สูงอายุแล้ว เสือขนาดเล็กขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมจากสภาวะติดเกาะ และประชากรเหลืออยู่ไม่มากแล้ว นอกจากนี้ พบปัญหาขัดแย้งกับคนในชุมชน เช่น เสือปลาออกมากินสัตว์เลี้ยงเลยถูกทำร้าย ไม่รวมการล่าเพื่อเอาหนัง ล่าเพื่อขายเป็นสัตว์เลี้ยง ข้อมูลกรมอุทยานฯ พบการลักลอบล่าเสือขนาดเล็ก มีสถิติคดีปี 55-67 ประมาณ 31 คดี ซึ่ง 30 คดีเกิดในพื้นที่อนุรักษ์ อีก 10 ดคีล่อซื้อ แนวทางจากเวทีเสนอปี 68 จัดเวทีเพื่อร่วมกันประเมินประชากรทั้งในและนอกถิ่นอาศัย รวมถึงในกลุ่มผู้ขออนุญาตครอบครอง จัดทำแผนการจัดการ หารูปแบบเครื่องมือที่เหมาะสมในการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัย สร้างการรับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมอนุรักษ์
ภาพเสือกระต่าย โดย ปริญญา ผดุงถิ่น ภาพเสือลายเมฆ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ภาพเสือปลา โดยมูลนิธิสืบฯ ภาพแมวป่าหัวแบน โดยองค์การสวนสัตว์ฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักเศรษฐศาสตร์ ฉีกหน้า ‘พิชัย’ ย้ำแนวคิดรื้อจัดเก็บภาษี ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ฉีกหน้า”ขุนคลัง-พิชัย”ย้ำแนวคิดรื้อจัดเก็บภาษียิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไม่ใช่ลดเตือนลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเสี่ยงเกิดวิกฤติการคลังคนสงสัยเอื้อประโยชน์คนในรัฐบาล-กลุ่มทุนใหญ่ แนะเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ในอัตราก้าวหน้าจะได้ผลกว่า
ม.เกษตรฯ ตั้ง 'เสกสกล' เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คณะอุตสาหกรรมบริการ
นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ
อ.อ.ป. ผสานความร่วมมือ กรมป่าไม้ และ ม.เกษตรฯ ลงนามความร่วมมือ “โครงการขยายผลงานวิจัยไม้เศรษฐกิจพันธุ์ดีสู่ประชาชน”
วันนี้ (29 มีนาคม 2567) นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และ นายดำรง ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
คณะเศรษฐศาตร์ ม.เกษตร ดึงเจ้าของรางวัลโนเบล สร้างแรงบันดาลใจ นักศึกษา ผลิตงานวิจัยสู่สากล
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง“สันติภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์” หวังสร้างแรงบันดาลใจอาจารย์-นิสิต