9 มหา'ลัย จับมือปั้นแรงงานAI 1.5หมื่นคน ใน 5 ปี

ทีมผลงาน PathSense

ในวันที่เทคโนโลยีกลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาในทุกโครงสร้างพื้นฐาน  ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI(เอไอ) ไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่มาแล้วผ่านไป หากแต่เป็นพลังขับเคลื่อนที่กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมทั่วโลก การปรับตัวจึงไม่ใช่แค่ที่ต้องทางเลือก แต่เป็นความจำเป็น ที่ทุกคนต้องยอมรับและปรับตัวให้ได้ เพราะในโลกของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยแรงงานมนุษย์ กำลังถูกเพิ่มประสิทธิภาพด้วยพลังของ AI ที่ทำงานได้แม่นยำ เร็ว และฉลาดมากยิ่งขึ้น

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์  (AI Engineering Institute; AIEI)   ร่วมมือกับ 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย นำโดย มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล   ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ได้จัดงาน AI Engineering & Innovation Summit 2024 เป็นเวทีสำคัญที่สะท้อนถึงปัจจุบัน และอนาคตของ AI ในประเทศไทยและทั่วโลก เพื่อเป้าหมายการผลิตบัณฑิตที่มีความ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และคอมพิวเตอร์ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและตอบสนอง ความต้องการของประเทศ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศไทย โดยมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการการศึกษาและการวิจัย นอกจากนี้ได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานวิจัยที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขา อาทิ การเกษตร การยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการ การแพทย์ และการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างครอบคลุม

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ในอนาคต ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่ก้าวหน้าและยั่งยืน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับรพ.เจ้าคุณทหารฯ ซึ่งมีเป้าหมายในการเป็นโรงพยาบาลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI แห่งแรกของประเทศไทย โครงการดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยกระดับระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บทบาทเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น

ด้าน รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า เนื่องจากความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ การพัฒนาบุคลากรที่เป็นอนาคตของชาติในขณะนี้จึงยังถือว่าอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการต่อยอดพัฒนาทักษะและคุณภาพในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยในระยะแรก โครงการได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง และในปีนี้ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) รวมเป็น 9 มหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งเน้นการสร้างวิศวกรและนักวิจัย AI  มากถึง 15,000 คนใน 5 ปี

“โดยการพัฒนากับทั้ง 9 มหาวิทยาลัย จะมีในด้านงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ และเปิดโอกาสให้ใช้ทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างสูงสุด และยังมีความร่วมมือกับอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Industries – FTI) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการใช้งาน และพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับ SME ในเครือข่ายของ FTI และสยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น (Siam AI Cloud) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการวิจัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบปัญญาประดิษฐ์ เหล่านี้ ล้วนนับเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านวิชาการและนวัตกรรม AI อีกด้วย” อธิการบดี ม.ซีเอ็มเคแอล กล่าว

ผศ.ดร.อักฤทธิ์  สังข์เพ็ชร

ผศ.ดร.อักฤทธิ์  สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์  มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมแนวคิดธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการของนักศึกษาภายใต้ AIEI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกนกลางในการช่วยประสานงานระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษาแบ่งปันทรัพยากร และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองเป้าหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แผน AI แห่งชาติ โดยการสร้างทรัพยากรบุคคลของประเทศ ที่มีศักยภาพตามสาขาความต้องการด้านปัญญาประดิษฐ์ และสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม AI ของประเทศสู่ระดับโลก  

กล้องตรวจจับสิ่งกีดขว้างผู้พิการทางสายตา

ผศ.ดร.อักฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ในอนาคต มีแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะและนวัตกรรม AI ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ตัวอย่างโครงการสำคัญ ได้แก่ CNAI (Center for Natural And Artificial Intelligence) และ ห้องปฏิบัติการวิจัยที่โรงพยาบาลเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง และเสริมสร้างความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์สมอง ยังมีการพัฒนา AI เพื่อรองรับ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มความปลอดภัยในเมือง การบริหารจัดการจราจรที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้าน AI เพื่อยกระดับการศึกษา โดยออกแบบ แผนการเรียนรู้ที่ปรับตามศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งได้รับการริเริ่มนำร่องจาก มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล

“ในด้านการเรียนรู้ AI สำหรับคนทุกช่วงอายุ มีการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่าง Canarie ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยสอนการเขียนโปรแกรม AI สำหรับผู้เรียนทุกวัย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่าง CMKL/AIEI และ Siam.AI เพื่อพัฒนา Thai Multi-Modal Foundation Model ซึ่งเป็นโมเดลที่มุ่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI ในงานด้านการศึกษา และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในหลากหลายมิติอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.อักฤทธิ์ กล่าว

กาจพล ดวงแก้ว

ผลงานนักศึกษาจากเอไอ กาจพล ดวงแก้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Artificial Intelligence and Computer Engineering (AiCE) มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เจ้าของผลงาน การตรวจสอบจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ไม่ป่วยโรคเบาหวาน   เล่าว่า ได้มีการนำโปรแกรม BERT  ที่มีลักษณะการใช้งานเหมือน ChatGPT ซึ่งสามารถแปลคำศัพท์ต่างๆ แต่ในผลงานชิ้นนี้ได้นำมาใช้ในการประยุกต์แปลสายดีเอ็นเอแทน เพื่อจัดลำดับจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อตรวจสอบสถานะโรคเบาหวาน เพราะจากข้อมูลของสํานักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHSO) โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่สําคัญในประเทศไทย ซึ่งนําไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและการเสียชีวิต โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนมจากจุลินทรีย์ในลําไส้เพื่อจําแนกบุคคลว่าเป็นโรคเบาหวานหรือสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพเมตาบอลิซึมของประชากรไทย

จิรา พิทักษ์วงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Artificial Intelligence and Computer Engineering (AiCE) มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ตัวแทนทีมผลงาน PathSense เล่าว่า ผลงานนี้เป็นการพัฒนาอุปกรณ์ ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตา โดยจะตรวจจับสิ่งกีดขวางแบบติดกล้องเข้ากับสายกระเป๋า เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเดินผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆ เป็นการวิเคราะห์ตรวจจับอย่างแม่นยำ ซึ่งกล้องจะตรวจจับด้วยระบบเอไอและจะส่งเสียงไปยังผู้ใช้งานว่าสิ่งใดอยู่เบื้องหน้า โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองพัฒนาใช้ในผู้พิการทางสายตา และคาดว่าจะพัฒนาสู่ในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต.

โมเดลโปรแกรม BERT  การตรวจสอบจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ไม่ป่วยโรคเบาหวาน  

เพิ่มเพื่อน