เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ บรรยากาศแห่งความสุข สนุกสนาน และการเฉลิมฉลองกับครอบครัวและเพื่อนฝูงก็เริ่มต้นขึ้น หนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การสังสรรค์ ที่มักมาพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงแม้ว่าการดื่มเพื่อผ่อนคลาย สร้างความสนุกสนานจะเป็นเรื่องปกติของเทศกาลเช่นนี้ แต่สิ่งที่ตามมาหลังความสนุกอาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดี โดยเฉพาะเมื่ออุบัติเหตุและการเสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ
โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงปีใหม่ของทุกปี พบดื่มแล้วขับสาเหตุหลักของความสูญเสียเทศกาลปีใหม่ 23.16% ส่งผลต่อการขับขี่-คิดช้า-ตัดสินใจพลาด-หลับใน แสดงให้เห็นว่าการเมาแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อุบัติเหตุที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวผู้ขับขี่เอง แต่ยังลามไปถึงเพื่อนร่วมทาง คนในครอบครัว และสังคมโดยรวม ล่าสุด สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และภาคีเครือข่าย รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2568 ภายใต้แนวคิด “ดื่มแล้วขับอาจเป็นฆาตกร ” เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น กระตุ้นให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรม หาทางเลือกอื่นในการเดินทางกลับบ้าน เช่น ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เรียกรถรับจ้าง หรือให้เพื่อนที่ไม่ได้ดื่มช่วยขับแทน เพราะดื่มแล้วขับอาจเป็นฆาตกร
ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ข้อมูล 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเกิดจากดื่มแล้วขับมากถึง 23.16% แอลกอฮอล์หลังถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ส่งผลต่อสื่อประสาท สูญเสียการควบคุมตัวเอง เสียการควบคุมการเคลื่อนไหวทรงตัว ถ้าได้รับแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะกดการหายใจ ทำให้รู้สึกตัวน้อยลง และยังทำให้ตัดสินใจช้าลง เหยียบเบรกไม่ทัน
ก่องกาญจน์ กล่าวต่อว่า การดื่มส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ 1. มองไม่เห็นคนข้ามถนน แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการโฟกัสของดวงตา 2. สมองสั่งเบรกไม่ทัน แอลกอฮอล์ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากสมองสู่อวัยวะส่วนอื่นช้าลง 3.ตัดสินใจผิดพลาด แอลกอฮอล์ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจเมื่อเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า 4. ง่วงซึม หลับใน แอลกอฮอล์ทำให้ประสาทเฉื่อยชา
“สสส. มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ยานพาหนะ และส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยร่วมกับเครือข่าย เช่น สอจร. จัด กิจกรรมใน 222 อำเภอเสี่ยงทั่วประเทศ เน้น 3 มาตรการสำคัญ ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว สวมหมวกนิรภัย พร้อมรณรงค์ในระดับชุมชน ผ่านด่านตรวจเตือน ยับยังดื่มแล้วขับออกจากบ้าน ในระดับตำบล ดำเนินมาตรการลด อุบัติเหตุ ตำบลขับขี่ปลอดภัย 189 แห่ง รวมถึงเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ที่เน้นย้ำมาตรการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดจากอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กเยาวชน นอกจากนี้เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลุ่มพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมรณรงค์ในพื้นที่เสี่ยง และเครือข่ายชุมชน กทม.ตั้งด่านสกัดเตือนป้องกันอุบัติเหตุ โดยอาสาสมัครสาธารณสุข เทศกิจ แกนนำชุมชน นำร่อง 2 เขต ที่เขตหลักสี่และบึงกุ่ม โดยมีเป้าหมายลดจำนวน ผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บในช่วงเทศกาลปีใหม่” ก่องกาญจน์ กล่าว
ด้านสถิติความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงปีใหม่ จุฑามาศ เดชพิทักษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สถิติตัวเลขความสูญเสียในช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง สถิติการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2565-2567 เฉลี่ย 7,435 ครั้ง หรือ 10% จำนวนการบาดเจ็บเฉลี่ย 2,472 คน หรือ ตกวันละ 353 คน ลดลงเฉลี่ยปีละ 13% และการเสียชีวิตเฉลี่ย 311 คนหรือตกวันละ 34 ราย ลดลงเฉลี่ยปีละ 36%
จุฑามาศ กล่าวต่อว่า โดยแบ่งจำแนกเป็นในปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน เสียชีวิต 333 ราย ปี 2566 เกิดอุบัติเหตุ 2,440 คน บาดเจ็บ 2,437 คน เสียชีวิต 317 ราย และในปี 2567 ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง บาดเจ็บ รวม 2,307 คน เสียชีวิต รวม 284 ราย สาเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 40.6% ตัดหน้ากระชั้นชิด 23.31% ดื่มแล้วขับ 14.29% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 87.01% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี 19.67% และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูง คือ 01.00-03.00 น.
“โดยภาพรวมช่วงปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับลดลงเฉลี่ย 27.59% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 48.33% ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ในช่วง 7 วันอันตราย โดยการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนและประชาชน ทั้งนี้ในช่วงคุมเข้ม 27 ธ.ค. 2567-2 ม.ค. 2568 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ดำเนินงานภายใต้หัวข้อหลักในการรณรงค์ จับชี่ปลอดภัย เมืองไทยไว้อุบัติเหตุ ลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่น ๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติ 3 ปีย้อนหลัง และเป็นความท้าทายที่อยากจะลดลงให้ได้ร้อยละ 10 ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าได้ต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรทั้งการรณรงค์ควบคุมดูแลจากทุกภาคส่วน เครือข่าย และประชาชน ในช่วงวันหยุดเพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจ” จุฑามาศ กล่าว
พ.ต.อ.อังกร ทวีเกตุ ผู้กำกับการจราจร กองแผนงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า โดยในปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมามีการจับกุมข้อหาเมาแล้วขับ สูงถึง 20,917 ราย ตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเมาแล้วขับที่กระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 รวบรวมพยานหลักฐานส่งฟ้องต่อศาลให้ได้รับโทษสูงขึ้น สำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็ก และเยาวชน ใช้มาตรการสืบสวนขยายผลไปยังร้านค้าที่จำหน่ายสุรา โดยมีบัญชีร้านค้าเสี่ยงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย หรือสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดื่มสุราตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง รวมถึงบุคคลเสี่ยงที่กระทำผิดซ้ำ ที่มักกระทำผิดในช่วงเทศกาล จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการตักเตือนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำ
พ.ต.อ.อังกร ย้ำว่า ได้กำหนดแผนปฏิบัติงานเทศกาลปีใหม่ 2568 ช่วงคุมเข้ม 7 วัน เนื่องจากกรมทางหลวงมีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2567 จะมีการเดินทางสูงขึ้นจากปีที่แล้วราว 10% และอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับจะสูงในช่วงวันที่ 31 ธ.ค.67 -1 ม.ค. 68 จึงได้มีการกำหนดบังคับใช้กฎหมาย เน้น 10 ข้อหา เน้นหนักเรื่องการดื่มแล้วขับ และมีการตั้งด่านตรวจรวม 15,000 ด่านทั่วประเทศ และมีบทลงโทษ ดื่มแล้วขับหากทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท ทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้ว ขับ ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท ถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า การเดินทางมักเกิดความสูญเสียทั้งในพื้นที่และระหว่างการเดินทาง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในสังคม การสื่อสารในระดับพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในจุดเสี่ยง เช่น บริเวณที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองหรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น จำเป็นต้องมีการสื่อสารย้ำเตือนให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง ผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และสื่อในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง ยังมีการเตรียมลงพื้นที่กรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่ เพื่อวิเคราะห์เจาะลึกถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลที่ได้ไปสื่อสารต่อสังคมในวงกว้าง เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในอนาคต
แผนดำเนินการมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยในพื้นที่ท้องถิ่น-ชุมชน ณัฐวุฒิ อุประโจง นายก อบต.หนองหนามอ.เมือง จ.ลำพูน กล่าวว่า อบต. มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 หมู่บ้าน โดยจุดเสี่ยงอันตรายสูงสุดคือสี่แยกม่อนแสงดาว ซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเนื่องจากไม่มีสัญญาณไฟจราจร หลังติดตั้งสัญญาณไฟ อุบัติเหตุลดลงเป็นศูนย์ และแก้ไขจุดเสี่ยงอื่น ๆ ด้วยการปักธงแดงเตือนตามจุดเสี่ยง จัดตั้งจิตอาสาพิทักษ์จุดเสี่ยงในแต่ละหมู่บ้าน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น กรวยจราจร และกระบองไฟ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน โดยมีการซ้อมแผนฉุกเฉินในทุกหมู่บ้านเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 อบต. จะร่วมกับอำเภอและจังหวัด จัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 15 แห่งเข้าร่วม เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุและยกระดับความปลอดภัยทางถนน