ในยุคที่ชีวิตทุกอย่างต้องแข่งขันกับเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเรียน หรือแม้แต่การดูแลตัวเอง หลายคนจึงแทบไม่มีเวลามานั่งตามหา”รักแท้”แบบหนังโรแมนติกเหมือนในอดีต อย่าง สถานการณ์แบบ เจอกันที่ร้านหนังสือแล้วบังเอิญรักกัน กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมากในยุคสมัยนี้ ดังนั้นเมื่อไม่มีเวลามากพอที่จะไปเจอผู้คนในโลกจริง แอปพลิเคชันหาคู่ จึงกลายมาเป็นคิวปิดสื่อรัก ที่ตอบสนองคนยุคใหม่ โดย Tinder เป็นหนึ่งในแอปหาคู่ที่มาแรงมากๆ เพราะแค่มีสมาร์ทโฟนในมือ ปักหมุดสถานที่ ก็สามารถปัดซ้าย-ปัดขวาหาคนที่น่าสนใจได้ทุกที่ทุกเวลาเลย
สำหรับแอปพลิเคชัน Tinder เปิดตัวในปี 2012 และเปลี่ยนรูปแบบในการพบปะของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเริ่มต้นจาก Match ครั้งเดียวไปสู่หนึ่งพันล้าน Match ในเวลาเพียง 2 ปี การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้แสดงให้เห็นว่า Tinder ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในเรื่องของการเชื่อมต่อที่แท้จริง ปัจจุบัน Tinder มีการดาวน์โหลดมากกว่า 630 ล้านครั้ง นำไปสู่การ Match มากกว่าหนึ่งแสนล้านครั้ง และให้บริการผู้ใช้ราว 50 ล้านคนต่อเดือนมากกว่า 45 ภาษาในกว่า 190 ประเทศทั่วโลก
และที่น่าสนใจคือ สไตล์การใช้แอปหาคู่ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เพื่อหาคนคุยเพื่อคลายเหงาแล้ว ล่าสุด Tinder เผยรายงานประจำปี Year In Swipe™ ภาพรวมการเดทในปี 2567 และเทรนด์ที่กำลังมาแรงของปี 2568 ปัจจุบันคนโสดออกเดทด้วยแนวคิดใหม่ที่มีความชัดเจนมากขึ้น มองหาความสัมพันธ์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง รู้สึกได้ถึงความจริงใจ และอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
เมลิสซ่า ฮ็อบลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Tinder กล่าวว่า จากการสำรวจของ Tinder ผู้ใช้งานที่อยู่สถานะโสด ในกลุ่มวัยหนุ่มสาว หรือ Gen Z มีมากถึง 88% ในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลการเดทผ่านแอปกับเพื่อนและครอบครัวถึง 75% และโอบรับความหลากหลายทางเพศมากถึง 73% เพื่อค้นหาความชอบและรสนิยมของอีกฝ่ายที่ตรงกัน และรองลงมาคือกลุ่ม Gen Y
เมลิสซ่า กล่าวต่อว่า คนโสดเริ่มเปิดใจยอมรับและมีความตั้งใจในการหาคู่มากยิ่งขึ้น โดยกล้าที่จะเปิดเผยสิ่งที่ตัวเองต้องการและกล้าปฏิเสธสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิด 3 เทรนด์ใหม่ที่โดดเด่นในปีนี้ คือ 1.ความสัมพันธ์ ชัดแบบตะโกน (Loud Looking) โดยคนโสดขยับขึ้นมานั่งแท่นเก้าอี้ผู้กำกับกำหนดการออกเดทของตัวเองอย่างชัดเจนและกล้าที่จะบอกว่าตัวเองนั้นต้องการอะไร ทั้งนี้ Tinder พบว่ามีการระบุข้อความว่า กำลังมองหา… ในหน้าประวัติส่วนตัวบน Tinder ในปี 2567 โดยผู้ใช้ Tinder คนไทยมีการเปิดเผยเรื่องที่ต้องการมากที่สุด คือ หาคนรักจริงหวังแต่ง ใน Dating Goal กว่า 57% และ 55% ระบุถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตนเองต้องการด้วยการเลือกความสัมพันธ์แบบมีคู่คนเดียวสะท้อนให้เห็นการมองหาความสัมพันธ์ระยะยาว
2.รักนี้ชะตาลิขิต (Kiss-Met) คือ การวางแผนแบบไม่ได้วางแผนจะกลายเป็นไวบ์ใหม่ในปี 2568 เนื่องจากบน Tinder จะมีความสัมพันธ์ใหม่เกิดขึ้นทุก 3 วินาที เพราะผลสำรวจคน Gen Z พบว่า 92% ระบุว่า เริ่มต้นความสัมพันธ์แบบโรแมนติกจากการใช้แอพหาคู่ ดังนั้นรักนี้ชะตาลิขิต จะเป็นไอเดียของการพบรักกันเองโดยธรรมชาติและเกิดความสุขใจในการทำกิจกรรมร่วมกัน ผลสำรวจคนโสดเกือบ 40% ระบุว่า ในปี 2568 จะให้ความสำคัญกับการนัดเดทผ่านการเดินป่าแบบเหงื่อท่วมตัว 34% หรือวางแผนเข้าคลาสปั้นดินเผา เป็นต้น 3.ความสัมพันธ์เล็ก ๆ ระดับนาโน (Nano-Ships) ในปี 2568 คาดว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ยังคงเป็นเทรนด์ในกลุ่มคนโสดที่สนุกกับการหาความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันผ่านปฏิสัมพันธ์เล็กน้อยเหล่านี้เพื่อค้นหาคนที่ใช่ ทั้งการสบตากัน หรือการสนทนากับคนแปลกหน้าในร้านกาแฟ
“จากผลสำรวจคน Gen Z ในไทยยังพบอีกว่า หน้าโปรไฟล์ของการหาคู่ การมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และให้ความสำคัญกับเรื่องการให้เกียรติว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด และรูปแบบในการแสดงความรักที่ต้องการ คือ การกระทำที่เอาใจใส่ เพราะในปี 2567 คนโสดหลายคนต้องเผชิญกับสภาวะสมมติฐาน ซึ่งทำให้เกิดการตีความที่ผิดพลาด เช่น ตีความสัญญาณธงเขียวว่าเป็นสัญญาณธงแดงที่อันตราย เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้หญิง 65% คิดว่าผู้ชายส่วนใหญ่ต้องการความสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืน แต่มีผู้ชายเพียง 29% เท่านั้นที่บอกว่าความสัมพันธ์แบบนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นในปี 2568 ความสัมพันธ์ชัดแบบตะโกน จึงเปิดโอกาสให้กับการหาคู่เดทจนไม่เหลือที่ว่างสำหรับสัญญาณที่เงียบอย่าง สถานะคนคุยอีกต่อไป” เมลิสซ่า กล่าว
นอกจากนี้จากผลสำรวจพบว่า เกือบ 1 ใน 4 ของคนโสด เลือกมีความสัมพันธ์ที่ น้อยแต่มีคุณภาพ มากกว่าการมีความสัมพันธ์ที่ไม่มีความหมาย โดยพวกเขาไม่ได้มองแค่การสร้างความประทับใจให้คู่เดทเท่านั้น แต่ยังต้องการชนะใจคนรอบข้างของอีกฝ่ายด้วย เพราะเกือบ 60% ขอคำแนะนำจากเพื่อน และ 20% ให้เพื่อนช่วยส่องโปรไฟล์โซเชียลของคู่เดท เพื่อช่วยคัดกรองล่วงหน้า โดยคน Gen Z เกือบ 50% วางแผนพึ่งพาเพื่อน ให้ช่วยเลือกสถานที่เดทและแนะนำเส้นทางที่ปลอดภัยให้ครอบครัวรับรู้ ส่วนคนโสดเกือบ 40% ให้ความสำคัญกับคำทำนายรักตามโหราศาสตร์ ในการตัดสินใจออกเดท
สำหรับเกณฑ์การเลือกคู่เดท คนโสดให้ความสำคัญกับ ความน่าเชื่อถือ 40% เสน่ห์ทางกายภาพ 35% ค่านิยมร่วมกัน 31% ความพร้อมทางอารมณ์ 30% และความสนใจที่คล้ายกัน 28% ขณะที่พฤติกรรมที่ทำให้ความสัมพันธ์จบลงเร็วที่สุดคือ ความไม่สะอาด 50% ความหยาบคาย 44% การพูดถึงแฟนเก่าบ่อยเกินไป 34% และ22% ดูเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ต้องการคู่ที่จัดการเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวได้ดี โดยไม่ปล่อยให้เรื่องงานมากระทบกับเวลาส่วนตัวและความสัมพันธ์ของพวกเขา
เมลิสซ่า กล่าวถึงความปลอดภัยในการใช้งาน Tinder ว่า ได้มีการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาใช้ในการป้องกันและตรวจคัดกรองบุคคลที่อาจจะเป็นมิจฉาชีพ และมีฟีเจอร์สำหรับกดรายงานบุคคลที่อาจจะก่อให้ความกังวลหรือเข้าข่ายหลอกลวง ซึ่งในปัจจุบันมีฟีเจอร์การยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนหรือพาสปอร์ต (ID Verification) ซึ่งมีการนำร่องทดลองใช้ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพื่อประเมินผลการใช้งานและขยายผลใช้งานในประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศไทยมีฟีเจอร์ Photo Verification จะยืนยันตัวตนโดยการถ่ายภาพตนเอง หลังจากนั้นจะได้รับเครื่องหมายสีฟ้า หมายถึงผู้ใช้ธงเขียว มีตัวตนจริง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน
ด้าน อาภัสสร ผาติตานนท์ นักจิตวิทยาและผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา Cozybara แสดงความเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับกลุ่ม Gen Z มากๆ ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน หรือไปเที่ยว ดังนั้นการใช้แอพลิเคชันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องคุ้นเคยสำหรับคนกลุ่มนี้และในกลุ่ม Gen Y ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในกลุ่ม Gen Z มีลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ที่ให้ความสำคัญกับความชัดเจน บอกความต้องการอย่างตรงไปมา รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลการพูดคุยกับคนใกล้ตัว เพื่อขอคำแนะนำในการเดท ทั้งนี้การพบปะผ่านไม่ได้เพียงแค่หาความสำพันธ์เชิงคู่รัก แต่ยังเป็นในรูปแบบเพื่อนได้อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับสึก พระครูปลัดวัย 32 เล่นแอปหาคู่เกย์ ค้นกุฏิพบอุปกรณ์เสพยาไอซ์
โลกโซเชียลมีเดียเผยแพร่ภาพรถยนต์ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ สีดำ ขับมาประสบอุบัติเหตุชนเกาะกลางถนน ถนนศรีจันทร์ หน้าโรงพยาบาลขอนแก่นราม ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น
โอละพ่อ! ตร.ไซเบอร์ ยันสายชาร์จดูดเงินไม่มีจริง ที่แท้ติดตั้งแอปฯหาคู่เถื่อน
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียหายหลายรายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บช.สอท.