16 ธ.ค.2567-นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ จึงมอบหมายให้กรมการแพทย์ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการจัดทำหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลทางวิชาการและพัฒนารูปแบบการให้บริการ ในแต่ละปีประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ กว่า 140,000 ราย ซึ่งมีภาระการนำเข้ายารักษามะเร็งจากต่างประเทศปีละ 21,000ล้านบาท และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นในแต่ละปี ดังนั้นการใช้ยาที่พัฒนาจากสมุนไพรที่ประเทศไทยผลิตขึ้นได้เอง จะสามารถนำมาทดแทนหรือลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เป็นการลดงบประมาณภาครัฐและสร้างความั่นคงทางยาของประเทศไทยในอนาคต
การบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรม สถาบันมะเร็งแห่งชาติและโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาคทั้ง 7 แห่ง ภายใต้สังกัดกรมการแพทย์ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรไทยให้มีมูลค่า โดยองค์การเภสัชกรรมดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ส่วนสถาบันมะเร็งแห่งชาติและกลุ่มโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค นำไปส่งเสริมให้มีการใช้อย่างเหมาะสมและแพร่หลาย รวมทั้งพัฒนางานวิชาการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ระบบสุขภาพและสังคม ทำให้เกิดการยอมรับระบบการแพทย์แบบผสมผสาน ภายใต้การคำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการใช้สมุนไพรในด้านเวชปฏิบัติยังคงมีอุปสรรค เนื่องจากความไม่เข้าใจศาสตร์การแพทย์แผนไทยในกลุ่มแพทย์ ทำให้การใช้ไม่แพร่หลาย ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งบางกลุ่มที่เข้าถึงการรักษาด้วยสมุนไพรยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอีกทั้งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้วยความไม่รู้เท่าทัน
จากขัอมูลของสถาบันมะเร็งห่งชาติ ในแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย มากกว่า 80,000 รายซึ่งไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้โดยการแพทย์แผนปัจจุบัน และมีผู้ป่วยมะเร็ง ร้อยละ 3-5 ตัดสินใจไปรับการรักษาการแพทย์ทางเลือกที่ไม่ได้มาตรฐานบางกรณี อาจไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่คาดหวังทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นหน่วยงานสำคัญซึ่งมีบทบาทในการพัฒนารูปแบบการให้บริการสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนารูปแบบให้บริการแบบองค์รวมด้วยการแพทย์แบบผสมผสาน รวมทั้งพัฒนางานวิจัยในเรื่องดังกล่าว เพื่อแสวงหาคำตอบที่เป็นประเด็นทางการแพทย์ จึงร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อยกระดับในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรและทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจในประโยชน์และสรรพคุณ นำไปสู่การขยายผลในการใช้ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตลอดจนการใช้ในด้านส่งเสริมสุขภาพของประชาชน
พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “องค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยา และเวชภัณฑ์ของประเทศที่ชาวไทยไว้วางใจและภาคภูมิใจ” การลงนามความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรม กับกรมการแพทย์ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันในการส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการวิจัยและพัฒนา ตลอดจน การควบคุมคุณภาพนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอย่างครบวงจร ทั้งในด้านการพัฒนางานวิจัย การพัฒนาบุคลากร การผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางยาและเวชภัณฑ์ใหม่ๆ
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า องค์การฯ มีความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมทางยาและเวชภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นต่อสังคมไทย โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะนำร่องด้วยการวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์ไฟโทเพล็กซ์เพื่อนำไปศึกษาวิจัยในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่องค์การฯ ได้พัฒนาจากตำรับยาพื้นบ้านจากภูมิปัญญานำมาต่อยอดความรู้ทางการวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ซึ่งรวมสมุนไพรไทย 8 ชนิด (มะไฟเดือนห้า พุทธรักษา พืชปีกไก่ดำ พญายอ เหงือกปลาหมอ แทงทวย ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้) โดยองค์การเภสัชกรรมได้มีการศึกษาวิจัยทั้งในหลอดทดลองและการศึกษาทางคลินิก ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า ผลิตภัณฑ์ไฟโทเพล็กซ์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่และการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งฤทธิ์ทั้งสองนี้เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนายาต้านมะเร็งสมัยใหม่ในรูปแบบ Adjuvant therapy ในผู้ป่วยมะเร็งได้ รวมถึงสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งในปอดหนูทดลอง และไม่ทำให้เกิดพิษเรื้อรังต่อหนูทดลอง โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ มีสรรพคุณแก้น้ำเหลืองเสีย รวมถึงในโอกาสต่อไปจะมีการร่วมกันพัฒนาและวิจัยในผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ ด้วย
“ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและประชาชน และเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้มีข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้ยาให้แก่ประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และสร้างความยั่งยืนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้แก่ประเทศได้อย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สถาบันประสาท ชี้ต้นคอศูนย์รวมอวัยวะสำคัญ นวดผิดชีวิตเสี่ยงอันตราย
สถาบันประสาท ชี้นวดต้นคอเสี่ยงอันตราย เพราะเป็นศูนย์รวมอวัยวะสำคัญ มีทั้ง หลอดเลือด และกระดูก ไม่ได้มีแต่กล้ามเนื้อ นวดผิดชีวิตเปลี่ยนตั้งแต่ อัมพฤกษ์ อัมพาต จนเสียชีวิต เพราะกระดูกข้อ มีแค่ 2 ข้อ ที่หมุนได้ 150 องศา การทำกายภาพยังต้องรับการประเมิน