'คลองเปรมประชากร' แลนด์มาร์กที่ทำให้เบิกบานใจ

คลองเปรมประชากรเป็นหนึ่งในคลองสายหลักของกรุงเทพมหานคร  เป็นคลองที่ในหลวง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นตั้งแต่บริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหารยาวไปจนถึง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ที่ผ่านมา คลองสายสำคัญนี้เผชิญปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมและบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากรุกล้ำลำคลอง ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ เกิดน้ำเสีย ขยะในคลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาแหล่งน้ำคูคลองทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อฟื้นฟูคลองทั้งระบบเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำให้กลับมาสะอาด มีความอุดมสมบูรณ์ และเกื้อกูลระบบนิเวศเมืองอีกครั้ง

มีการพัฒนาคลองเปรมประชากรมีการสร้างเขื่อนระบายน้ำ ขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบาบน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสีย  รวมทั้งการจัดระเบียบ ปรับภูมิทัศน์ และวางโซนนิ่งที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือที่เรียกว่า “คนจนเมือง”    ซึ่งดำเนินการครอบคลุม 4 เขต ได้แก่ เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ และเขตดอนเมือง   พร้อมทั้งสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวริมคลอง จัดทำลานกีฬา พื้นที่สันทนาการและจัดทำแหล่งเรียนรู้ของชุมชน  

ภาพชุมชนริมคลองเปรมประชากรวันนี้เปลี่ยนไป มีบ้านใหม่ที่มั่นคงเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิต  พื้นที่รูปธรรม คือ ชุมชนประชาร่วมใจ 1 และชุมชนประชาร่วมใจ 2  ชุมชนด้านหลังวัดเสมียนนารี เดิมชุมชนบุกรุกสร้างที่อยู่อาศัยในคลองเปรมประชากร วันนี้มีอยู่อาศัยใหม่ 400 ครัวเรือน เป็นตึกสองชั้นสีสันสดใสเรียงยาวตลอดแนวคลองเปรมประชากร มีการ จัดระเบียบอยู่ร่วมกัน มีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ออมเงินเพื่อเช่าบ้านหรือสร้างบ้านใหม่  ชาวบ้านเช่าที่ดินของหน่วยงานรัฐอยู่อาศัย  โดยกรุงเทพมหานคร  สำนักงานเขต กรมธนารักษ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  (พอช.) และภาคเอกชน มาช่วยกันเติมเต็มคุณภาพชีวิตให้กลุ่มเปราะบางในเมือง

พื้นที่แออัดในอดีต ตอนนี้พัฒนาเป็นแลนดมาร์กใหม่หลังวัดเสมียนนารี บ้านแต่ละหลังตกแต่งสวยงาม พื้นที่หน้าบ้านปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพิ่มพื้นที่สีเขียว  ปลูกผักในเมือง ชาวบ้านรักษาความสะอาดหน้าบ้านของตนเอง มีการคัดแยกขยะ ไม่ทิ้งขยะหรือปล่อยน้ำเสียลงคูคลอง  อีกทั้งมีการสร้างสะพานข้ามคลองมาสู่วัดเสมียนนารี  เชื่อมบ้าน วัด โรงเรียน ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน รวมถึงพัฒนาทางเดินเชื่อมต่อระบบรางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง วัดเสมียนนารี เพิ่มความสะดวกในการเดินทางของคนในชุมชน  สลัมที่คนภายนอกหวาดกลัว ปัจจุบันเปิดประตูต้อนรับทุกคนเข้ามาในพื้นที่ อีกทั้งมีแนวทางส่งเสริมเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ  ถือเป็นทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ มีการพัฒนาพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานกับคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่  กรุงเทพฯ จัดสรรพื้นที่ 10 ไร่ จากเดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า นำมาออกแบบจัดสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่  โดย บริษัท ปตท.จำกัด มหาชน ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในการดำเนินโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาสายน้ำ คูคลอง สิ่งแวดล้อมเมือง และคุณภาพชีวิตประชาชน

สวนสาธารณะแห่งนี้มีการอนุรักษ์พันธุ์ไม้เกียรติประวัติและพรรณไม้ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ  เช่น ต้นไทรย้อย เคียงคู่ ต้นโพธิ์ขนาดใหย่ใจกลางสวน  และพรรณไม้พื้นถิ่นอื่นๆ  รวมถึงการรักษาสมดุลระบบนิเวศเมืองในภาพรวมด้วยการผสมผสานพรรณไม้สีเขียวนานาชนิด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนกรุง อีกทั้งยกระดับสวนสาธารณะเพื่อนิเวศบริการทั้งเป็นแหล่งพักผ่อน นันทนาการ สถานที่ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต รวมถึงเป็นจุดเชื่อมโยงขนส่งมวลชน เป็นต้นแบบ Commuity Green Space พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อชุมชน 

สวนแห่งนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่า “สวนเปรมประชาวนารักษ์”  ซึ่งมีความหมาย สวนที่นำความสุขและความเบิกบานใจมาสู่ประชาชนโดยได้รับการดูแลรักษาด้วยความรัก และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม  2567 ไปประดิษฐานที่ป้ายชื่อสวนสาธารณะ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ทรงเปิดสวนสาธารณะเปรมประชาวนารักษ์ พร้อมกับทรงปลูกต้นประดู่ป่า 1 ต้น ซึ่งเพาะเมล็ดจากต้นประดู่ป่าที่ทรงปลูกต้นที่ 100 ล้าน ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ของ ปตท. ณ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และพระราชินี ทรงปลูกต้นพิกุล  1 ต้น เพื่อเป็นสิริมงคลเสริมส่งความร่มเย็นในพื้นที่สวนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

ภายในสวนประกอบด้วยสวนสาธารณะ อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ”ชลวิถีธีรพัฒน์”  และท่าเรือ เพื่อเป็นจุดเชื่อมเส้นทางสัญจร โดยมีต้นไม้ดั้งเดิมขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กลางพื้นที่ประกอบกับแนวคิดออกแบบเฉลิมพระเกียรติ ผสานโครงสร้างหลัก ดังนี้ เลข 10 ไทย (๑๐) ที่หันทิศทางไปทางคลองเปรมประชากร ด้วยในอดีต ลำคลองคือเส้นทางสัญจรหลัก เปรียบเสมือนหน้าบ้าน เป็นการต้อนรับผู้มาเยือน  ต้นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่เสมือนตัวแทนเล่าเรื่องราวผ่านกาลเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ต้นไม้เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้อากาศบริสุทธ์ ไม้ยืนต้น 39 สายพันธุ์ รวม 272 ต้น และไม้พุ่ม 19 สายพันธุ์

สวนแห่งนี้เพิ่มการเข้าถึงโดยมีเส้นทางสัญจรที่เชื่อมต่อระบบล้อถนนวิภาวดีรังสิต  ระบบรางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงทุ่งสองห้อง ระบบเรือ คลองเปรมประชากร และเส้นทางจักรยาน โดยหวังว่าสวนเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ชุมชนโดยรอบและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง  โดยกำหนดเปิดให้ประชาชนใช้บริการปี 2568 นี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พี่เอ้' เสนอนำร่อง 16 เขตกทม.ชั้นใน เป็นโซนมลพิษต่ำ ตั้งด่านเก็บค่าธรรมเนียมสู้ฝุ่นพิษPM2.5

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอ “Bangkok Low Emission Zone” หรือ “B-LEZ” (บีเลส) เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น

'จักรภพ' ได้ฤกษ์ 7 ก.พ. ควงคนรักจดทะเบียนสมรส เถ้าแก่ 'ทักษิณ' สักขีพยาน

'จักรภพ' ได้ฤกษ์! ควงคนรักจดทะเบียนสมรส 7 ก.พ. เขตบางรัก เถ้าแก่ 'ทักษิณ' ลงนามเป็นสักขีพยาน ลั่นรู้สึกชื่นใจเสียงตอบรับล้นหลาม

กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศ 24 ชม. ทั่วประเทศอากาศเย็นลง ‘กทม.’ ต่ำสุด 18 องศาฯ  

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน