ข้าวฟืนอุ่นสีม่วงจาง หนึ่งในเมนู “ข้าวแรมฟืน” อาหารพื้นถิ่นสุดฮิตใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทำจาก ถั่วดินหรือที่คนภาคกลางเรียกว่าถั่วลิสง นำมาโม่จนได้น้ำถั่วแล้วนำมาเคี่ยวจนข้น ลักษณะคล้ายโจ๊กแต่ ละเมียดกว่า รสชาติออกมันๆ เค็มปะแล่มๆ ถูกตักจากหม้อตุ๋นลงใส่ชาม ที่มีผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี ซอยละเอียดรองอยู่ด้านล่าง ด้านบนโปะด้วยซอสสูตรเฉพาะของแต่ละร้าน น้ำมันพริกคั่ว ถั่วเน่า และส่วนผสมอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่ว่าแม่ครัวสืบสายจากไทใหญ่ ไทยลื้อ หรือจีนยูนนาน ก่อนโรยผักชีสับและถั่วลิสง คั่วป่น เป็นอันเสร็จพร้อมเสิร์ฟลูกค้า
ข้าวฟืนทอดร้อนๆ เอาไปกินที่แม่ฟ้าหลวง
อุณหภูมิข้าวฟืนในชามไม่ถึงกับร้อนจนลวกปาก ออกอุ่นๆ สมชื่อ แต่ช่วยคลายหนาวจากอากาศ เย็นช่วงพลบค่ำได้อย่างดี แถมให้พลังงานอิ่มท้องนานสู้อากาศช่วงหน้าหนาวได้ดีนัก ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายคน มานั่งรอกินข้าวฟืนอุ่นที่ร้านรถเข็นข้างทางบริเวณหน้าด่านข้ามแดนแม่สาย ทว่า สถานการณ์โควิดสายพันธุ์ ใหม่ “โอไมครอน” ที่กำลังน่ากลัว แม้ชาวบ้านรวมถึงนักท่องเที่ยวจะบางตาในช่วงนี้ทั้งที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว แต่พวกเราก็ไม่ประมาท ตัดสินใจหอบหิ้วข้าวแรมฟืนกลับมากินยังที่พักแทน
Road Trip ครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี เรียกว่าตั้งแต่โควิดระบาดเลยก็ว่าได้ 8 วัน 9 คืน ที่ท่องแถวแม่สาย และตัวจังหวัดเชียงรายอีกนิดหน่อย กลายเป็นพลังใจช่วยเติมพลังกายกลับไปสู้งานสู้ชีวิต เอาตัวรอดจากโอไมครอนต่อไป
การเดินทางมาแม่สาย นอกจากไปชมวิวสูดอากาศหนาวแบบฉ่ำปอดแล้ว เป้าหมายสำคัญอีกประการ คือการกลับไปลิ้มชิมรสข้าวแรมฟืนแบบเต็มปากเต็มคำ ซึ่งจริงๆ แล้วข้าวแรมฟืนมีหลากหลายเมนู ทั้งข้าวฟืน อุ่น ข้าวแรมฟืนยำรสนัว ข้าวแรมฟืนทอดสีเหลืองนวลทำจากถั่วลันเตาดอย หรือ “กาละแป” ในภาษา เมียนมา บ้างก็เรียกกันว่าถั่วลูกไก่ ซึ่งทริปนี้กินเกือบครบทุกเมนู ยกเว้นข้าวแรมฟืนน้ำ และข้าวแรมฟืนสีขาวทำ จากข้าวแขกขาวปลูกบนดอย ที่ยังไม่มีโอกาสได้ลอง
ทำไมต้องมากินข้าวแรมฟืนที่แม่สาย หนึ่งคือหากินยาก สองแม่สายคือพื้นที่ออริจินอลของข้าวแรมฟืน แถมช่วงปลายปีอากาศยังเย็นสบาย กลางคืน17-19 องศาฯ กลางวัน 20 องศาฯ ต้นๆ ผู้คนที่พบเจอก็สัมผัสได้ ถึงความเป็นกันเอง มีความเนิบช้าในวิถีชีวิตจนเรารู้สึกได้ สายลมที่พัดโชยก็พากลิ่นหอมสดชื่นของอากาศ หนาวมาให้สัมผัส จนอยากเก็บเอากลับบ้านไปด้วย
มาแม่สายทั้งทีในช่วงปีใหม่ อากาศเย็นๆ ช่วงหน้าหนาวถ้าไม่แวะไป “งานสีสันแห่งดอยตุง” ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเลยจากแม่สายไปนิดเดียวก็ถือว่าเสียเที่ยวจริงๆ ปีนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรม ราชูปถัมภ์ ตั้งใจจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Forward to Nature” เดินทางมุ่งหน้าสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ อีกครั้งเพื่อเยียวยาจิตใจ ให้ผู้คนที่เจอมรสุมจากโควิดมาตลอด 2 ปี ได้ผ่อนคลายไปกับบรรดาดอกไม้ นานาพันธุ์ สีสันตระการตา ณ โครงการพัฒนา ดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ภายในงานยังมีของกินชาติพันธุ์อร่อยลิ้นมากมาย การแสดงชนเผ่า หัตถกรรมเวิร์กชอป เและแหล่งช้อปของฝากสุดชิคที่ดอยตุงไลฟ์ สไตล์ แต่ความพิเศษสุดสนุก ที่ขอเล่าก็คือ กิจกรรมไฮไลต์ จุดถ่ายภาพสุดปังที่นักท่องเที่ยวสามารถบันทึกความสุขสดชื่นของธรรมชาติบนดอยตุง กับ “น้องโต” สัตว์แห่ง ความโชคดีในตำนานของชาวไทใหญ่ ในรูปแบบเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง AR (AR-Augmented Reality) ใส่มือถือกลับบ้าน เพียงแค่ยิง QR Code ที่ป้ายแล้วเลื่อนมือถือส่องไปยังหุบเขา ในบริเวณที่กำหนด น้องโตยักษ์สีส้มก็จะโผล่มาตุ้งแช่บนหน้าจอมือถือ เรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดได้ไม่น้อย และสามารถแคปเก็บไว้ดูเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย ที่ประทับใจอีกอย่างคือการให้บริการวีลแชร์ สำหรับนักท่องเที่ยวสูงวัยหรือผู้ทุพพลภาพ ที่จอดให้บริการตั้งแต่ทางเข้างาน ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดใน การเดินเข้าชมซุ้มต่างๆ ได้มีโอกาสชมงานพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงยังจัดถึง สิ้นเดือนมกราคม 2565 ใครสนใจก็แวะไปได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ถัดจากดอยตุง ไปพบกับสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดว่าเป็นช้างเผือกในป่านั่นก็คือ “วัดหิรัญญาวาส อุทยานเวฬุวัน” หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “วัดพระสาน” ตั้งอยู่ท่ามกลาง ไร่ นา สวน ของชาวบ้าน ที่ บ้านเหมืองแดงน้อย ต.เกาะช้าง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก วัดแห่งนี้มีองค์พระประธาน “พระสิงห์ สานชนะมาร” งานศิลปะล้านนาพระสิงห์หนึ่งเชียงแสน (โบราณ) ปางมารวิชัย สร้างสานจากไม้ไผ่ใหญ่ที่ สุดในโลก โดยไม้ไผ่ที่ใช้เป็นไผ่มุงไม้มงคลจากเมียนมาทั้งหมด 39,000 ท่อน
ระหว่างสานองค์พระทั้งสล่าและชาวบ้านที่มาช่วย ได้ปวารณาตน กิน อยู่ นอน รอบวิหาร แถมงดเว้น จากการทานเนื้อสัตว์ ทำสมาทานศีล 8 นุ่งขาวห่มขาว สมาทานเบญจศีล ศีล 5 จิตใจจึงผ่องใสตลอดระยะเวลา ลงมือสาน พระสิงห์สานชนะมารจึงเป็นตัวแทนความเป็นสิริมงคลและความบริสุทธิ์ ใต้ฐานองค์พระยังทำเป็น ทางลอดสะเดาะเคราะห์ พอถึงทางออกผู้คนมักนำเงินทั้งเหรียญและแบงก์มาสอดหรือเหน็บไว้ ตามความเชื่อ ด้านโชคดีมีชัยพรที่ขอไว้จะประสบผล
ภายในวิหารยังอร่ามตาด้วยเจดีย์ไม้ไผ่สีทองประดิษฐ์จากไม้ไผ่มุงเช่นกัน ปลียอดด้านบนเป็นศิลปะ แบบพม่าประดับทองคำและเพชรพลอย โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่เบื้องหลังองค์พระสาน ผู้ที่มาเยือนยังสามารถชม และสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ตามช่องโดยรอบ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุตรงกลางนั้น สมเด็จ พระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกได้ประธานให้วัดหิรัญญาวาส และทรงตั้งชื่อเจดีย์ นี้ว่าพระธาตุสลีศรีจอมเงิน รอบวัดยังมีกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ เช่น ให้อาหารปลาริมสระ และนั่งช้างชม ความงามของวัดจากมุมสูง
หากพูดถึงวัดที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มาเชียงรายทั้งทีต้องไม่พลาด และสองวัดนั้นก็คือ “วัดร่องขุ่น” และ “วัดร่องเสือเต้น” วัดนึงสีขาวล้วนสะอาดตาออกแบบและก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชื่อดัง อีกวัดเน้นสีน้ำเงินฟ้าสร้างโดย สล่านก-พุทธา กาบแก้ว ศิษย์ก้นกุฏิของ อาจารย์เฉลิมชัย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก หมู่บ้านร่องเสือเต้น ต.ริมกก อ.เมือง จากวัดร้างอายุกว่า ศตวรรษ สล่านกใช้เวลาถึง 11 ปี ในการบูรณะสร้างวัดร่องเสือเต้นขึ้นมาใหม่ แม้เพิ่งสร้างเสร็จเพียง 3-4 ปี ก่อนโควิดระบาดปี 2563 แต่ด้วยสีน้ำเงินฟ้าสุดโดดเด่น เปรียบได้กับธรรมะของ พระพุทธเจ้าที่ขจรไกลดั่งท้องฟ้าแสนสดใส และกลิ่นอายงานศิลป์ที่ผสานความ อ่อนช้อยของอาจารย์เฉลิมชัย เข้ากันกับอิทธิพลทางศิลปะน่าเกรงขามของศิลปินแห่งชาติอีกท่าน อาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี ได้อย่างกลมกล่อม ก็ทำให้ผู้คนเดินทางแวะเวียนมาชมความงามพุทธศิลป์แห่งนี้ไม่ขาดสาย ที่นี่ยังมีของดีเป็นไอศกรีมกะทิโบราณ อัญชัญมะพร้าวอ่อนสีฟ้าอมม่วงอีกด้วย
ใกล้กันวัดร่องเสือเต้น ถ้าอยากชิมรสมือชาวบ้านแท้ๆ แค่ขับรถเลยไปอีกหน่อยก็จะถึง “ตลาดเทศบาล ๑” ที่นี่อาหารพื้นเมืองละลานตา ไส้อั่วย่างสด และแคปหมูติดมันที่ติดมันจริงๆ เคี้ยวทีได้ทั้งความกรอบและหมูรสเค็มปะแล่มๆ น้ำพริกหนุ่มตำมือแบบบ้านๆ แกงกระด้าง แม้แต่ลาบควาย ก็หาชิมกันได้
ขอยกยอดเส้นทางขึ้นดอยขึ้นเขา Road Trip แม่สาย กับการแวะชิมขนมดาว แคปควาย และน้ำพริกพื้นถิ่นไทยใหญ่อย่างน้ำพริกผักชี และน้ำพริกบาลาฉ่อง อิทธิพลอาหารจากเมียนมาไปไว้อาทิตย์หน้า ทิวทัศน์ที่งามตามาพร้อมเหตุการณ์ “ผ้าเบรกไหม้” ระหว่างทางลงจากบ้านผาฮี้มายัง บ้านผาหมี ตื่นเต้นประทับใจไม่รู้ลืม
สิรินภา อิ่มศิริ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วางคิว ‘นายกฯอิ๊งค์’ ลงพื้นที่แม่สายเดือนพ.ย. ก่อนประชุม ครม.สัญจรครั้งแรก จ.เชียงใหม่
ในเดือนหน้า นายกฯมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.เชียงราย และเป็นประธานประชุม ครม.สัญจร ที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการประชุม ครม.สัญจรนัดแรกของรัฐบาลชุดนี้
‘ภูมิธรรม’ เตรียมส่งคืนพื้นที่แม่สาย 28 ต.ค. ขอ ‘อปท’ รับช่วงฟื้นฟูระยะต่อไป
นายกฯ ขอบคุณศปช.ส่วนหน้า สำเร็จตามเป้าหมาย พรุ่งนี้ มอบ ‘ภูมิธรรม’ ส่งคืนพื้นที่พร้อมขอ อปท.ฟื้นฟูระยะต่อไป
'ศปช. ส่วนหน้า' เตือนเชียงใหม่รับน้ำอีกรอบ ประกาศพื้นที่เสี่ยง 7 โซน
'ศปช. ส่วนหน้า' เตือนเชียงใหม่เตรียมรับน้ำอีกรอบ ประกาศพื้นที่เสี่ยง 7 โซน ด้าน ปภ. ระดมกำลังเสริมเข้าพื้นที่ เชียงรายน้ำลดเร่งฟื้นฟู
ทหาร ร.17 พัน 3 ในพระองค์ฯ เข้าฟื้นฟูบ้านเรือน ปชช.กลุ่มเปราะบาง อ.แม่สาย
ศบภ.มทบ.37 โดย ร.17 พัน.3 ในพระองค์ฯ เข้าร่วมฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่รับผิดชอบ
สัญญาณฝนหนัก 30 ก.ย. ’อ.เสรี ศุภราทิพย์’ ติดแฮชแท็กSave ‘เชียงราย-แม่สาย’
เฝ้าระวังฝนตกหนักเชียงรายไม่เท่ากับช่วงก่อนจากพายุซุบเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ แต่ต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท
‘อิ๊งค์’ ไปลุยโคลน! สมศักดิ์เอาเขื่อน
"นายกฯ อิ๊งค์" ลงพื้นที่ตรวจสภาพความเสียหายและจ่ายเงินเยียวยาจากอุทกภัยที่ภาคเหนือ เผยมีถนนหลักอีก 24 สายที่ต้องเร่งเคลียร์โคลนออก คาดต้นเดือน