9 ปีศาสตร์พระราชา'โคก หนอง นา โมเดล'

ย้อนไปเมื่อ 9ปีก่อน คำว่า “โคก หนอง นา” ได้เริ่มปรากฎขึ้นตามหลัง ศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นทฤษฎีการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่  9 ที่ทรงพระราชทานให้กับคนไทย ยึดเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและประกอบสัมมาอาชีพ


โดยมีดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ”อาจารย์ยักษ์” ผู้ก่อตั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  ซึ่งเคยถวายงานในหลวง ร.9 มาก่อน เป็นผู้ลุกขึ้นมา ปลุกให้สังคมตื่นตัว ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง และจัดผังการเกษตรแบบ “โคก หนอง นา ” ซึ่งจะแก้”ปัญหาน้ำ”ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยทุกปี ทั้งการเกิดน้ำท่วม และเกิดน้ำแล้ง วนเวียนไม่รู้จบ

อ.ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

อาจารย์ยักษ์ ได้เปิดตัว ศาสตร์พระราชา โคกหนองนา โมเดล  พื้นที่แถบเขื่อนป่าสัก จ.ลพบุรี โดยระบุว่าเป็นการใช้พลังคนสร้างสรรค์โลก ตามรอยพ่อของแผ่นดิน  และการปักหมุดที่พื้นที่เขื่อนป่าสัก ก็เพราะมองว่าเป็นหัวใจหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคนกรุงเทพฯ เคยเผชิญน้ำท่วมใหญ่ ที่เรียกว่ามหาอุทกภัยเมื่อปี 2554มาแล้ว   หากมีการบริหารจัดการน้ำแถบลุ่มน้ำป่าสักให้ดี ก็จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้กับชุมชนตามเส้นทางของแม่น้ำ และคนกรุงก็จะได้ประโยชน์ไม่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วม


การขับเคลื่อนวิถีทางเกษตร โคกหนองนาโมเดล ตามศาสตร์พระราชา ของอาจารย์ยักษ์ ได้มี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด ก ประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนหลัก ในแต่ละปี จะมีกิจกรรมอีเว้นท์ ที่เรียกว่า “เอามื้อสามัคคี” หรือการลงแขก ซึ่งเป็นวิธีการทำเกษตรดั้งเดิมของไทย ตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย เป็นการรณรงค์เพื่อให้คนรู้จักการทำเกษตรตามแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้มากขึ้น  


โดยโครงการได้สร้างพื้นที่ตัวอย่างมากมายหลายแห่ง ซึ่งล้วนเคยประสบปัญหาทำการเกษตร ขาดน้ำ หรือน้ำท่วม จนพลิกฟื้นกลับมาเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์สามารถปลูกข้าวหรือพืชผัก นำมาเลี้ยงชีพ และขายได้อย่างพอเพียง หรือบางพื้นที่ ก็เป็นการเปลี่ยนวิถีการเกษตร จากเคมี ให้เป็นเกษตรอินทรีย์  ซึ่งมีผลดีต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม


ในช่วง ประมาณปีที่ 6-8 ของโครงการ ถือว่าได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างมาก แทบไม่มีคนไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อของ “โคก หนอง นา โมเดล “โดยมีผู้คนค้นหาคำนี้ในโลกโซเชียลมากมาย ขณะที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ซึ่งเข้ามาร่วมโครงการ รับหน้าที่ออกแบบโคกหนองนา ให้กับผู้สนใจ ซึ่งแต่ละรายอาจมีขนาด และรูปทรงของพื้นที่หลากหลายแตกต่างกัน  จนมีงานล้นมือ ออกแบบแทบไม่ทัน  

ภาพรวมก็คือ สังคมตอบรับและตื่นตัวกับ โคกหนองนา โมเดลอย่างมาก ถึงกับมีธุรกิจรับขุด รับทำโคกหนองนา เกิดขึ้น แม้กระทั่งมีการหลอกลวง โดยในเพจของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงได้ออกคำเตือนว่าถ้ามีการเรียกเก็บเงินการทำ โคกหนองนา โดยอ้างชื่อของมูลนิธิฯถือว่าเป็นการหลอกลวง

ปี2565 เป็นปีที่9 ของโครงการรวมพลังสร้างสรรค์ ตามรอยพ่อของแผ่นดิน  โคกหนองนา โมเดล เอามื้อสามัคคี มีจุดที่ถือว่าเป็น”รอยต่อ”ของโครงการ เมื่อบริษัทเชฟรอน ฯ ผู้สนับสนุนหลัก อาจจะถอนตัวออกไป  และอาจมีผู้สนับสนุนรายอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน 
การเข้ามาสนับสนุนโครงการของ “เชฟรอน” คือการสะท้อนในความเชื่อมั่นและศรัทธาในศาสตร์พระราชา  ทำให้มีการสนับสนุนยาวนานถึง  9 ปี โครงการประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน อย่างไร  อาทิตย์ กริชพิพรรธ  ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวว่า โครงการฯ พลังคนสร้างสรรค์โลกฯ ที่ดำเนินมา 9 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้การทำกสิกรรมธรรมชาติวิถี ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป มีคนสนใจและต้องการการเรียนรู้เรื่องนี้ตลอดเวลา

อาทิตย์ กริชพิธรรธ

แม้แต่ในช่วงโควิด 19  ทาวโครงการฯได้มีการจัดทบทเรียนออนไลน์ คู่มือสู่วิถี กสิกรรมธรรมชาติ ในช่วงโควิด19 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคู่มือความรู้พื้นฐานแก่ผู้สนใจลงมือทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะการทำเกษตรตามศาสตร์พระราชาเป็นสิ่งที่ทำแล้วจะเห็นผลสำเร็จในอนาคต แต่ระหว่างทางก็พบเจอปัญหา   เพราะมีหลายคนที่เข้าใจผิดว่าทำแล้วรวย ทำให้เกิดเกษตรกรตาโต หรือ เกษตรกรที่ทำเพราะหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว รายได้กลายเป็นความโลภ เช่น ลงทุนทำในพื้นที่ใหญ่เกิน ซึ่งมีความเสี่ยงสูง หากไม่เข้าใจมากพอ คือการใจร้อน ต้องเรียนรู้พร้อมกับลงมือทำ และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีการเช่าพื้นที่ทำเกษตรอยู่ ทั้งที่จริงการทำกสิกรรมวิถี คือการทำเกษตรแบบพอเพียง พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ถ้าเปรียบการทำเกษตรเหมือนการทำธุรกิจ คือ การลดค่าใช้จ่าย และสิ่งที่จะได้กลับคืนมาคือกำไร  

“ทั้งนี้ “เชฟรอน” ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังสุดความสามารถ โครงการฯสามารถเดินหน้าและเชื่อมั่นว่าแนวทาง โคก หนอง นา จะสามารถดำรงอยู่ได้จากผลของความสำเร็จที่เกษตรกรได้เกิดเครือข่าย ได้ร่วมทำตลอด 9 ปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้เกษตรกรรายอื่นๆ ได้เกิดการตื่นตัวและปรับตัวอย่างเต็มใจในการเรียนรู้วิถีของศาสตร์พระราชาอย่างแท้จริง “อาทิตย์กล่าว

” เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี” ด้วยศรัทธา ของคนไม่เคยทำเกษตร

เมื่อต้นเดือนมกราคม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมเอามื้อ ณ จังหวัดนครราชสีมา ลุ่มน้ำป่าสัก ในพื้นที่ของสุณิตา เหวนอก เจ้าของเสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี ต.จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา ภายใต้โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (ตามรอยพ่อฯ) เข้าสู่ปีที่ 9  

 ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่รั้งตำแหน่งนายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า การทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น พราะในโคก หนอง นา จะมีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง นับเป็นเครื่องมือสร้างสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ นำมาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในน้ำ ใต้ดิน บนดิน หรือในป่า ทำให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน ยังช่วยให้มีอาหารการกินสมบูรณ์ เกิดความมั่นคงทางอาหารด้วย ทั้งนี้การทำกสิกรรมวิถีให้ประสบความสำเร็จ คือ 1.มีความเชื่อมั่นในแนวทางกสิกรรมวิถีอย่างมีปัญญาและเข้าใจ 2.สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆได้ พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ การทำงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดผลและสามารถนำไปต่อยอดได้ 3.มีความมุ่งมั่นในการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะจะทำให้ประสบความสำเร็จ และได้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำมาอย่างสม่ำเสมอ

เอามื้อ ด้วยขุดปรับหน้าดินเพื่อการเพาะปลูก

บุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ กล่าวเสริมว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน มีพื้นที่ป่าเขาและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก เป็นแหล่งรวมลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่ม คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และทางทิศตะวันตกมีพื้นที่บางส่วนที่ไหลไปลงใน ลุ่มน้ำป่าสัก  เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรมากมีความต้องการน้ำสูง ประกอบกับมีภัยแล้งบ่อยครั้ง ซึ่งในพื้นที่ของสุณิตา เหวนอก เป็นพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จในโคราช เพราะได้พิสูจน์ว่าแม้ว่าสภาพที่ดินจะเป็นดินทราย แต่ก็สามารถทำเกษตรได้ โดยมีการปรับปรุงหน้าดิน เช่นการปลูกหญ้าแฝก การขุดคลองไส้ไก่ มีคลองในการกักเก็บน้ำ เป็นต้น ดังนั้นศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใด ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย หรือภัยจากโรคระบาด

สุณิตา เหวนอก

เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี บ้านหนองบัวกลาง ต.จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา แบ่งพื้นที่มาทำเกษตรตามศาสตร์พระราชาขนาด 6 ไร่  สุณิตา เหวนอก หรือพี่นวล เจ้าของพื้นที่ เล่าว่า ที่ผ่านมาครอบครัวจะทำเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกอ้อย  ตนทำงานเป็นนิติกรในอ.จักราช ที่ดินที่พ่อแม่ยกให้ก็ปล่อยให้เช่า หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต และได้ดูรายการสารคดีโทรทัศน์ แสงจากพ่อสู่ความยั่งยืน จึงได้เข้าร่วมทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาทั้งที่ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ อบรมออกแบบโคก หนอง นา โมเดลที่วัดหนองสองห้อง อบรมที่ศูนย์คืนป่าสัก แล้วตัดสินใจลงมือทำบนที่ดินของตนเองในปี 2563  แม้ว่าทางครอบครัวจะไม่เห็นด้วย และไร่รอบข้างก็ยังไม่มีใคราสนใจการทำกสิกรรมวิถี แต่เราทำอย่างมีความสุขและเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ทำจะทำให้ครอบครัวได้กินอาหารที่ปลอดภัย ครอบครัวจึงเริ่มเห็นถึงความพยายาม และเริ่มเข้ามามีส่วนในการช่วยดูแลหรือปลูกพืชผักช่วย ซึ่งถือว่าดีมาก และในอนาคตเกษตรกรระแวกอาจจะให้ความสนใจที่จะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรได้ในอนาคต

ในพื้นที่ 6 ไร่ แบ่งเป็นหนองน้ำ 2ไร่ ลึกประมาณ 6 เมตร, ทำนา 1.5 ไร่, คลองไส้ไก่ยาวประมาณ 2.38 เมตร กว้าง 1.2 เมตร และโคก 1 ไร่ ซึ่งรวมแล้วสามารถเก็บน้ำได้กว่า 20,000 ลบ.ม. หรือประมาณ 200% ของปริมาณน้ำฝนต่อปี นอกจากนี้ในสวนยังมีการเลี้ยงเป็ดไข่เป็ดเนื้อ เผาถ่านใช้เองจากกิ่งไม้ในสวน ควันสามารถไล่มดแมลง ขี้เถ้าเอาไปทำน้ำด่าง เศษถ่ายโรยใสต้นไม้ มีการทำเครื่องกรองน้ำแบบโบราณ จากการใช้หิน ถ่าน ทราย จนน้ำสะอาด ผักผลไม้ ที่เติบโตในสวนเราก็ให้ครอบครัวหรือเเพื่อนบ้านได้ทาน และยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นสบู่ ยาสระผมทำมาจากฟักข้าว ไข่เค็ม ชาตระไคร้ เป็นต้น ถึงตอนนี้จะยังไม่มีรายได้เข้ามา แต่ทุกอย่างที่ลงมือทำคือความสุขแบบพอเพียง


ด้านอาทิตย์ กริชพิพรรธ  ผู้บริหารจากเชฟรอน กล่าวว่า หลังจากจากที่ได้ชะลอการจัดกิจกรรมออนกราวด์ถึงกว่า 1 ปีเต็ม ปีนี้เมื่อสามารถจัดกิจกรรมได้จึงได้เลือกลงพื้นที่ทำกิจกรรมเอามื้อ ที่จ.นครราชสีมา ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ เมื่อ 9 ปีที่แล้วอีกครั้ง ในพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีของสุณิตา เหวนอก หนึ่งในคนต้นแบบ คนหัวไวใจสู้ ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่และคนรุ่นลูกหลานในอนาคต

ผลผลิตธรรมชาติจากไร่เสงี่ยมคำฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย แนะ 7 ไอเดีย เที่ยวเปลี่ยนโลก ส่งต่อคุณค่าสังคมอินทรีย์

นายอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) กล่าวว่า ภายใต้โครงการ “Amazing Organic Tourism for Sustainable Living” TOCA ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการทำงานเชิงรุก เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรสังคม

สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ผนึก ททท. ส่งเสริม 'ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์'

สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ หรือ Organic Tourism ให้เป็นเสน่ห์และจุดขายทางการท่องเที่ยวใหม่ของประเทศ พร้อมสานพลังผู้บริโภค

จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ล้านเปอร์เซ็นต์ ที่ตำบลเขาไม้แก้ว “ความเปลี่ยนแปลงจากเกษตรเคมีสู่แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย”

สุนทร คมคาย เกษตรกรหนุ่มใหญ่วัยเกือบ 50 ปี คนในพื้นที่เรียกกันติดปาก “เกษตรแหลม” แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว เล่าให้ฟังว่า ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตร สาขาไม้ผล

เริ่มแล้ว! 'งานสังคมสุขใจ' ครั้งที่ 9 งานเดียวเที่ยวได้ทั้งครอบครัว สายออร์แกนิกห้ามพลาด

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานพิธีเปิดงานสังคมสุขใจ กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “Carbon Neutrality” ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

มูลนิธิสังคมสุขใจ ชวนเที่ยวงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 ที่สวนสามพราน 26-28 ม.ค.นี้

มูลนิธิสังคมสุขใจ เปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “รวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์” ชวนภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมผลักดันประเทศไทยพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เตรียมพร้อม! งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 สวนสามพรานรวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ 26-28 ม.ค.นี้

มูลนิธิสังคมสุขใจ ผนึกกำลังภาคี เตรียมจัดงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 ชูคอนเซ็ปต์ “รวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์” ตอบโจทย์เทรนด์โลกสายกรีน 26 – 28 ม.ค.นี้ ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม เข้างานฟรี!!