“การทำกติกาเรื่องนี้มันเป็นเรื่องปกติที่มันยากก็จริง เพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งวิธีคิด และการกระทำ ต้องมีผลกระทบแน่อน แต่การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ต้องหาวิธี ทำให้ได้เมื่อถามว่าเทียบกับการที่รัฐบาลแจกเงินหมื่น อดีตนายกบอกว่า ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยติดหล่ม ต้องแจก จะมองแบบเดิมโดยอัดกำลังซื้อเข้าไปไม่ได้ เพราะมันมีประเด็นเชิงโครงสร้างที่ต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งรัฐจะต้องเป็นผู้นำ ในการลงทุน “
จะมีอดีตนายกรัฐมนตรีประเทศไทยสักกี่คน ที่พอหลุดจากสถานะทางการเมืองแล้ว จะหันมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เท่าที่เหลียวมองไปก็มีแต่เพียง “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จํากัด (มหาชน) หรือ SPC เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่สำคัญเขายังรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหพัฒน์ฯอีกด้วย
วันนี้ จึงมาพูดคุยกับ อดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ เกี่ยวกับทรรศนะและมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก โดยมองจากสถานะจากความเป็นอดีตผู้นำ ผู้บริหารประเทศ และความเป็นอดีตนักการเมืองที่คลุกอยู่วงการการเมืองมากว่า 30 ปี ว่ามีมุมมองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเช่นไร
เริ่มแรก “อภิสิทธิ์”เกริ่นนำว่า ทุกวันนี้ เจอหน้าตาทุกคน ไม่มีใครไม่คิดว่าผมไม่ได้อยู่การเมือง จริงๆ เพียงแต่ปลายปีที่แล้วออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแม้ทุกวันนี้หลายคน ยังเห็นผมเป็นปชป.อยู่ ซึ่งต้องบอกว่า การที่มีบทบาท เวลาส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ไปบรรยายยังเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่ เพียงแต่ว่าตอนนี้มาเป็นกรรมการของบริษัท สหพัฒนพิบูลย์ และทางบริษัทอยากให้มาช่วยเรื่องเรื่องความยั่งยืน จึงเป็นประธานคณะกรรมการด้านความยั่งยืน ของบริษัท ซึ่งงานหลักมี3 ส่วน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องพวกนี้ก็การเมืองทั้งนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่การเมืองควรจะใส่ใจมากๆ เพราะก่อนที่เราจะพูดถึงบริษัท เราก็ต้องมองภาพรวมประเทศ สังคม พูดถึงสิ่งแวดล้อมคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกันหมด เพราะเขารู้ว่าคืออนาคตของเขา แต่ในภาพใหญ่อันหมายถึงประเทศเรายังไม่ตระหนักถึงผลกระทบเรื่องนี้ ภาพใหญ่นี้ หมายถึงประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของโลก หลายประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ในด้านต่างๆทั้งอาหารและการเกษตร จริงๆ เราประสบด้วยตัวเองเกือบทุกเดือน เดือนนี้น้ำท่วมภาคนี้ อีกเดือนน้ำก็ไปท่วมอีกภาค ฝุ่นก็มา ดังนั้น สิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนและทุกองค์กรต้องมีส่วนช่วย แต่เราก็ยังอยากเห็นการผลักดันในระดับนโยบาย และแผนที่มีความเป็นรูปธรรมมากกว่านี้
ในแง่ความเหลื่อมล้ำ ในสังคม นายอภิสิทธิ์ มองว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยปัญหาเหลื่อมล้ำที่สะสมจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เรามีคนกลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาสเสียปรียบในสังคมเยอะมาก การแสดงความรับผิดชอบต่อคนกลุ่มนี้ ทุกองค์กรต้องช่วยกัน ขณะที่การแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ในฐานะที่อยู่การเมืองมา 30 ปีเห็นว่าปัญหาคอรัปชั่น ทุจริต ธรรมาภิบาล ไม่ได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ความพยายามในการแก้ปัญหาถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่า แต่พอเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม กลุ่มคนที่ได้รับความเหลื่อมล้ำ มักได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีกำลังคุ้มครองตัวเองได้ และปัญหาของเขาไม่ได้รับการแก้
“แม้จะบอกว่าสิ่งแวดล้อมกระทบทุกคน เช่นตอนโควิดเกิด การเว้นระยะห่างทางสังคม มีแต่คนรวยที่ทำได้ การหยุดทำงานที่บ้านเป็นเรื่องของคนฐานะดี ถามว่าคนมีเงินซื้อประกัน และมีโอกาสป้องกันรักษาผลกระทบจากฝุ่น เป็นคนกลุ่มไหน ซึ่งคนด้อยโอกาสก็จะเสียเปรียบและได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า ว่าไปแล้ว คนกลุ่มนี้ สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าใคร เพราะใช้รถสาธารณะ แต่คนมีฐานะใช้ส่วนส่วนตัว เผาผลาญน้ำมัน แก๊สความเหลื่อมล้ำกับสิ่งแวดล้อม มันจึงเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน”
อดีตนายกฯบอกว่า น่าเสียดายแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ในหลวงร.9 การทรงงานของพระองค์ งานตามโครงการพระราชดำริต่างๆสะท้อนปรัชญาของความยั่งยืน ช่วงเป็นนายกรัฐมนตรี พยายามให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เริ่มทำการประเมิน นโยบายโครงการต่างๆของรัฐโดยเอาหลักความพอเพียงเข้ามาจับ แต่น่าเสียดาย ที่ไม่ได้มีการสานต่อ สิ่งหนึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร หรือไม่ได้มองว่าเป็นหลักคิดและปรัชญา ไปมองเป็นเชิงโครงการมากกว่า จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เมื่อเร็วๆนี้ ที่มีวาทะระหว่างผู้ว่าแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ที่ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่าอย่าไปไล่ล่า GDP ฝ่ายไม่พอใจก็ต่อว่า และบอกว่า GDP ไม่สำคัญหรือยังไง แต่จริงๆแล้ว ประเด็นสำคัญของผู้ว่าแบงก์ชาติ ก็คือ การดึงกลับมาสู่เป้าหมายการพัฒนา ถ้าไปไล่ล่าตัวเลขอย่างเดียวแล้วเกิดผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล ปัญหาสังคม มันไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ มีความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำเยอะมาก
โจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันคืออะไร อภิสิทธิ์ บอกว่า ถ้าถามว่าก๊าซเรือนกระจกที่เราปล่อย 70% มาจากภาคพลังงาน 15% เป็นภาคเกษตร และเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวกับพลังงาน แค่กว่า10 % ดังนั้น เรื่องใหญ่จริงๆ คือ โครงสร้างของพลังงานว่าควรเป็นเช่นไร โดยเฉพาะสัดส่วนพลังงานทดแทนควรเป็นเท่าไหร่และแรงจูงใจให้คนหันมาใช้พลังงานทดแทน กติกาที่เกี่ยวข้องกับการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้ เรื่องพวกนี้ จะช่วยได้เยอะมาก
การแก้เรื่องโลกเดือด โลกร้อน โดยใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต อภิสิทธิ ไม่เห็นด้วยกับทางออกรูปแบบนี้ โดยบอกว่าเป็นปัญหาที่ตนเองกลัว คือแรงกดดันเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามา องค์กรภาคเอกชนอาจเลือกใช้วิธีการซื้อขายคาร์บอนในตลาดคาร์บอนเครดิต มุมมองส่วนตัวเห็นว่าไม่ตอบโจทย์ โครงการที่ใช้วิธีนี้ลดคาร์บอน มีปัญหามาก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการฟอกเขียวเยอะ หลายองค์กรวันนี้ ที่กล้าประกาศว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน หลายแห่งอาจจะไม่ได้ลดสิ่งที่ตัวเองก่อจริง แต่เอาเงินไปซื้อ เพื่อให้ได้ความเป็นกลาง ถ้าหากระบบตัวนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมจริง กลายเป็นว่า เราไม่ได้เดินไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ถ้าเป็นรัฐบาล จะทำอย่างไร อดีตนายก ฯ ตอบว่า ผมว่าระยะเปลี่ยนผ่าน ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ยังไงก็ต้องมีต้นทุน คำถามเราจะแบ่งภาระตรงนี้อย่างไร รัฐบาลมีกำลังจะช่วยไหม เช่น มีเงินอุดหนุน สร้างแรงจูงใจอย่างไร หรือรัฐบาล กล้าไหมที่จะใช้มาตรการภาษี เก็บสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตรงนี้กลับมาที่ประชาชนผู้บริโภคเอง รับได้ไหมที่จะต้องจ่ายมากขึ้น อย่างน้อยในระยะเปลี่ยนผ่าน และทุกวันนี้ ก็มีแนวทางแบบนี้ในระบบแล้ว เช่น แพลตฟอร์มส่งสินค้าหรืออาหาร จะมีให้เลือกว่าไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงขึ้นมาอีกหน่อย ผู้บริโภค จะรับได้แค่ไหน ส่วนองค์กรเอกชน จะต้องเฉือนกำไร มาทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับเขามากจนแข่งขันกับเจ้าอื่นไม่ได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ รัฐจะต้องเข้ามาจัดการเรื่องกติกา
“คนที่ทำธุรกิจ แล้วต้องแข่งขัน แต่เขาทำตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเขาแพงขึ้น แต่อีกคนไม่ทำ เขาก็อาจจะเสียตลาดไปให้คู่แข่ง เขาก็อยู่ไม่ได้ และกลายเป็นว่าตลาดของคนที่ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใหญ่มากขึ้น ตรงนี้ จึงเป็นบทบาท ของรัฐต้องมาช่วย เพราะเป็นภาระที่เพิ่มเข้ามา ต้องบอกว่าทั้งหมดที่เรามีปัญหาก็เพราะเราใช้ทรัพยากรกันหมดแบบไม่ต้องคิด ไม่เคยคิดว่าใช้แล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร แต่วันนี้ มันเกิดแล้ว ต้องปรับวิถีชีวิต เราต้องมีภาระกันเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เคยพูดกันจริงจังว่าภาระตรงนี้ ตัวเราเองในฐานะผู้บริโภค จะรับได้เท่าไหร่ และรัฐจะช่วยเท่าไหร่ เอกชนไหวมั๊ย ทำอย่างไรไม่ให้เขามีปัญหาแข่งขัน “
อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า อย่างตอนอยู่การเมือง เคยคุยกับJETRO หรือองค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น เวลาไปถามว่าโรงงาน บริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะ Go Green เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะเจอปฎิกริยา 2อย่างคือ เขารอดูทิศทางนโยบายของเราก่อนและอีกอย่าง เขาบอกว่าถ้าบังคับ ให้เขาทำแต่ไม่บังคับใช้กฎหมายแบบเสมอภาค ก็จะกลายเป็นว่าคนที่ไม่ทำจะได้เปรียบ หรือมาขอร้องให้ทำ เขาทำ แต่คู่แข่งไม่ทำ เขาก็อยู่ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องติดปัญหาว่าต้องจริงจังเข้ามากำหนดกติกาตรงนี้มากขึ้น
“การทำกติกาเรื่องนี้มันเป็นเรื่องปกติที่มันยากก็จริง เพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งวิธีคิด และการกระทำ ต้องมีผลกระทบแน่อน แต่การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ต้องหาวิธี ทำให้ได้เมื่อถามว่าเทียบกับการที่รัฐบาลแจกเงินหมื่น มีอดีตนายกบอกว่า ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยติดหล่ม ต้องแจก จะมองแบบเดิมโดยอัดกำลังซื้อเข้าไปไม่ได้ แล้ว เพราะมันมีประเด็นเชิงโครงสร้างที่ต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งรัฐจะต้องเป็นผู้นำ ในการลงทุน “
ปัญหาสิ่งแวดล้อม กดดันทุกประเทศบนโลกใบนี้ เราจะเห็นว่าที่ประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP 29 เป็นเรื่องใหญ่โต ตัวประธานก็โวยกับเรื่องที่เกิดขึ้น บวกกับการที่ ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ให้คำมั่นสัญญาว่าจะหาเงินมาช่วยประเทศต่างๆรับมือ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อน การปรับตัวแต่เงินที่ได้ไม่เคยพอ เงินจำนวน 3แสนล้านเหรียญ ประเทศกำลังพัฒนามองว่าเงินจำนวนนี้ยังห่างไกล จากจำนวนเงินที่เขาควรจะได้ ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ จะว่าไปสหรัฐอเมริกา อาจเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่คนครึ่งประเทศไม่เชื่อเรื่อง Climate change
นโยบายโซลาร์ราคาถูกของรัฐบาล มองว่าเรายังไม่ได้เปิดเสรีโซลาร์จริง เรายังมีเรื่องโควต้า ถามว่าทำไมไม่ยอมเปิดเสรี ในส่วนตัวมองว่า จุดหนึ่งจะไปกระทบกับหน่วยงานการไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งต้องไปลงทุนสายส่งกริด จึงต้องกลับไปที่นโยบาย รัฐบาล ว่าถ้าไปกำหนดให้หน่วยงานไฟฟ้า ต้องมีรายได้และนำส่งรัฐเท่าไหร่ ถ้ารัฐบาลบอกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม สำคัญกว่าเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้เร็ว มันก็ต้อง เปลี่ยนโจทย์ให้การไฟฟ้า ฯ ในแผน PDP หรือการใช้ไฟก็พยายามขยับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนออกมาเป็น50% ถ้าใน10ปี เราตั้งเป้่าลดคาร์บอน ต้องเปิดเสรีให้เร็วกว่านี้
อภิสิทธิ์ บอกอีกว่า คำว่าเปลี่ยนผ่านไปสู่คาร์บอนเป็นกลาง หรือ Go Green มันต้องมีต้นทุนอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างถูกลง ตอนนี้ เห็นชัด โซลาร์เซลล์ แบตเตอร์รี่ จะมีแรงกดดันตลอด ตอนนี้แข่งขันการสร้างนวัตกรรม และมีการใช้ AI แต่ AIใช้พลังงงานเปลืองมากๆ ยิ่งใช้ข้อมูลมากเท่าไหร่ อย่าง GPT 4 จะกินไฟมาก เท่ากับบ้านเรือนคนอเมริกัน 5พันครัวเรือนใช้ไฟฟ้า 1ปี ยิ่ง AI รุ่นสลับซับซ้อนมากขึ้น ก็ใช้พลังงานมากขึ้น ประเทศไทยเองก็รับระบบดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามา สิ่งเหล่านี้ ล้วนใช้พลังงานมากขึ้นทั้งนั้น เป็นเรื่องต้องคิดเรื่องจัดหาพลังงาน แม้ว่าโลกตอนนี้ จะแข่งกันคิดว่าทำอย่างไรให้เทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้พลังงานลดลง และเริ่มคิดถึงAIเฉพาะทาง จะได้ไม่ต้องใช้ข้อมูลมหาศาล ซึ่งจะกินพลังงานมาก
“ในภาคพลังงาน ต้องไล่ปรับทุกอย่างทุกองคาพยพให้เดินได้ คนบริหารรับผิดชอบ ไม่ตระหนักเท่าไหร่ จริงๆ เราถูกกดันประชาคมโลก ภาคธุรกิจ ก็ถูกกดดัน คนส่งสินค้าไปยุโรป จะเจอมาตรฐานเข้มข้น เช่น ฝากับขวดติดกัน เรื่องใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น คือ ถ้าเราไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันไม่ได้มาจากการรุกป่า ก็จะถูกตอบโต้ ภาคธุรกิจจะเจอ อีก 6 ปีข้างหน้า บริษัททั้งหลายที่หวังเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ก็จะเจอปัญหา มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะบีบมากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดพูดมากขนาดนี้ ก็ยังไม่เห็นว่าใครจะเดินหน้าไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มมากขึ้นตามที่ตกลงกันไว้ ยังห่างจากเป้ามาก UN ที่ประกาศNet ZERO ในปี 2070 ไม่น่าเป็นไปได้ ปัจจุบันดูจากกราฟ ยังไม่ลดลงเลย “อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
สร้างความยั่งยืนให้กับสหพัฒน์ฯ
บทบาทใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหพัฒน์ฯ อภิสิทธิ์ เคยกล่าวไว้ว่า” การทำธุรกิจต้องให้สังคมดี ไม่เพียงแต่สินค้าดีแต่สังคมต้องดีด้วย “เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักการของสหพัฒน์ ทำให้เขายอมรับที่จะมาร่วมงานกับสหพัฒน์ฯ นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความตื่นตัวเรื่องนี้มาก และถ้าสามารถเชื่อมโยงความรู้สึก และสื่อสารว่าองค์กรกำลังปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้นจะทำให้เกิดการตอบสนองของผู้บริโภคมากขึ้น
ทำให้พอเริ่มเข้ามาในบริษัทฯ อภิสิทธิ์ บอกว่า สิ่งแรกที่ทำคือ เริ่มทำการสำรวจคาร์บอนฟรุตพริ้น เฉพาะสหพัฒน์ เราสำรวจได้ใบรับรองสโคป 1และ2 เมื่อปีที่แล้ว ต่อเนื่องปีหน้าจะทำให้ถึงสโคป 3 จะเป็นจุดเริ่มต้นถ้าเรารู้ปัญหาจะได้แก้ได้ว่ามลพิษมาจากส่วนไหน 2. หลายคนไม่ทราบว่า สหพัฒน์ฯ ไม่ใช่แค่โรงงานผลิต เพราะเราเป็นผู้จัดจำหน่ายที่มีคลังสินค้า มีการขนส่ง จึงได้เริ่มทดลองนำรถไฟฟ้ามาวิ่งส่งสินค้า และดูช่องทางลดมลพิษ ติดโซลาร์เซลล์ และที่สำคัญเรากระตุ้นพนักงานช่วยคิดช่วยทำ โครงการให้ประชาชนนำขวดมาแลกสินค้าบริษัท หรือที่ปลวกแดง สมุทรปรากรา มีการนำผลิตภัณฑ์มารีไซเคิล กระตุ้นพนักงานให้ลดมลพิษอย่างไร รวมทั้งปรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“เรายังทำเอ็มโอยู ดีเอชแอล ขนส่งต่างประเทศ จะต้องใช้น้ำมันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะทำให้ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกกิโลละ 19 บาท แต่เราก็ทำ นอกจากนี้ เรายังมีงานด้านสังคม การศักษา ทำเรื่องแอดมิชชั่นกับสหพัฒน์ฯ มากว่า 20ปี ให้น้อง เผยแพร่การทำความดีของเด็ก ปีละ 20 กว่าโรงเรียนทำมา 8ปีแล้ว เอาสินค้าราคาถูกไปขายแลกขยะบางอย่างที่จะส่งต่อรีไซเคิล นี่ยังเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และเราจะต้องมีโครงการอื่นๆต่อไปอีก เพื่อสร้างความยั่งยืน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก
แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง
สอน 'เพื่อไทย' หัดเอาอย่าง 'อภิสิทธิ์' นักการเมืองรักษาสัจวาจา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพื่อไทย ไม่นิรโทษ มาตรา 112 ไม่แคร์มวลชน แต่แคร์พรรคร่วม
'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม
'ชวน' ควง 'อภิสิทธิ์' ร่วมงานพิธีเคารพบรรพบุรุษตระกูล 'วงศ์หนองเตย' ปลุกสกัดการเมืองขี้โกง
ช่วงเย็นวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา ที่บ้านเลขที่ 37/4 เทศบาล 5 ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประช