เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโลกในทุกมิติ การหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนกลายเป็นความท้าทายสำคัญของมนุษยชาติ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการลดผลกระทบและฟื้นฟูสมดุลสิ่งแวดล้อม การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาประยุกต์ใช้เพื่อการติดตาม ตรวจสอบ และรายงานสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเป็นกลไกในการหาต้นเหตุและแนวทางการป้องกัน
ล่าสุดในงานสัมมนา “Carbon Atlas 2024” ภายใต้แนวคิด “Satellite – Powered Carbon MRV for Climate Action” นวัตกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และรายงาน (Monitoring, Reporting, Verification: MRV) ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีภาคส่วนต่างๆร่วมนำเสนอนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับดาวเทียมมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ติดตาม และรายงาน (Satellite-based Carbon MRV) การเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พื้นที่ป่าไม้ ป่าชายเลน และพื้นที่การเกษตร อีกทั้งยังช่วยประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าและเกษตรกรรม รวมถึงติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ
รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่าต่อว่า ปัจจุบัน GISTDA กำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการตรวจสอบคาร์บอนเครดิตจากระบบเดิมที่อาศัยการวัดและสำรวจด้วยมนุษย์ หรือที่เรียกว่า Monitoring, Reporting, Verification (MRV) ไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Digital Monitoring, Reporting, Verification (DMRV) ซึ่งรวมถึงการนำอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น เครื่องสแกน 3 มิติ (3D Scanner), อุปกรณ์ LiBackpack และโดรน LiDAR มาใช้ในการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า ป้องกันไฟป่า และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการการพัฒนาแบบจำลองการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ร่วมกันในอนาคตให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ได้รวดเร็วอีกด้วย นอกจากนี้ GISTDA ยังร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพัฒนาแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับป่าชุมชนเพื่อสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐาน T-VER และ Premium T-VER
“GISTDA ยังได้สนับสนุนการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรวจสอบได้ เพื่อใช้ในรายงานระดับประเทศ (National Communication: NC) และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report: BUR) ที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในประเทศและระดับโลก โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน นอกจากนี้ยังร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การเสวนาในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศ เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกอย่างยั่งยืน” รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า
เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกกระจกในไทย ศิวัช แก้วเจริญ ผู้อานวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแบ่งเป็นสองช่วงหลัก คือ การบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดให้เป็นศูนย์( Net Zero)ภายในปี 2065 การตั้งเป้าหมายนี้พิจารณาจากศักยภาพของประเทศและแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ซึ่งพบว่าภาคพลังงานเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด คิดเป็นประมาณ 70% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและของเสียมีการปล่อยก๊าซมีเทนในสัดส่วน 80-90%
“จากข้อมูลในปี 2021 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 367 ล้านตัน แม้จะมีมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกผ่าน NDC (Nationally Determined Contribution) ซึ่งสามารถลดได้ 60 ล้านตัน แต่ยังไม่เพียงพอต่อเป้าหมายที่จะต้องลดลงให้ได้กว่า 200 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 30-40%ภายในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยจึงกำหนดให้ มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี 2025 (Peaking Year) เท่ากับ 368 MtCO2eq เป็นปีที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องถึงจุดสูงสุด และจากนั้นจะลดลงอย่างต่อเนื่องตามมาตรการที่วางไว้ โดยเป้าหมายคือการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกินค่าที่กำหนดจากปี Peaking Year เพื่อให้การลดลงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุเป้าหมายในปี 2030 ได้สำเร็จ เป้าหมายเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการลดผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก และการร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก” ศิวัช กล่าว
ด้านชมภูนุช ฉายาเวช นักพัฒนานวัตกรรม GISTDA กล่าวว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและภาพถ่ายดาวเทียมมีบทบาทสำคัญในการประเมินการดูดซับและปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศ ทั้งป่าไม้และภาคการเกษตร โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม สภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และการตรวจวัดภาคพื้น ซึ่งสามารถวัดการดูดซับหรือปลดปล่อยก๊าซได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น Check Carbon ซึ่งเป็นนำข้อมูลทั้งหมดถูกประมวลผลด้วย AI และ Machine Learning ที่ให้บริการฟรี ฟีเจอร์ในแอปพลิเคชัน ประกอบด้วย การแสดงสถานการณ์การดูดซับและปลดปล่อยก๊าซในบรรยากาศแบบรายเดือนในภาพรวมประเทศ ซึ่งแถบสีส้ม จะแสดงพื้นที่ปลดปล่อยคาร์บอน ส่วนแถบสีฟ้า จะแสดงพื้นที่ดูดซับคาร์บอน
ชมภูนุช กล่าวต่อว่า ในแอปจะแสดงข้อมูลการดูดซับและปลดปล่อยก๊าซในระดับภูมิภาค จังหวัด หรือพืชแต่ละชนิด เช่น ยางพารา ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และป่าไม้ จากสถิติรวมที่ผ่านมาในเดือนปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 103 ล้านตัน แอปพลิเคชันนี้จะช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถติดตามและวางแผนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซและส่งเสริมการดูดซับก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เชี่ยวชาญจาก NASA Dr.Lesley OTT Leads, Carbon group within the Global Modeling and Assimilation Office,NASA กล่าวว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เทคโนโลยีดาวเทียมจึงมีบทบาทสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น GEDI (Global Ecosystem Dynamics Investigation) ที่ช่วยวัดโครงสร้างและความหนาแน่นของป่าไม้ทั่วโลกอย่างละเอียด ในการประเมินการปล่อยและการดูดซับคาร์บอน รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็ง ขณะเดียวกันดาวเทียม OCO-2 (Orbiting Carbon Observatory-2) ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับโลกได้ แม้ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เช่น อเมริกาใต้
ผู้เชี่ยวชาญ NASA กล่าวถึงประเทศไทยว่า ไทยมีศักยภาพในการวิเคราะห์และเปรียบเทียบแผนที่หลายรูปแบบ โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งช่วยคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างแม่นยำ ปัจจุบันโครงการนำร่องด้านนี้กำลังพัฒนาและเชื่อมโยงกับงานวิจัยสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ เช่น การแจ้งเตือนคุณภาพอากาศและสภาพอากาศรุนแรง เพื่อช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและวงจรคาร์บอน โดยมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ dMRV จากบริษัท Spirocarbon แพลตฟอร์มในการจัดเก็บข้อมูลกิจกรรมการปลดปล่อยคาร์บอน และการซื้อขายคาร์บอนI, Carbon Watch จาก Thaicom แอปพลิเคชันการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้, LiDAR จาก บริษัท ดีพร้อมงานสำรวจ จำกัด เป็นเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลในพื้นที่ป่าไม้ และอีกมากมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
GISTDA เปิดข้อมูลจากดาวเทียม พบจุดความร้อนในไทย 328 จุด มากสุดที่โคราช
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า รายงานจุดความร้อนด้วยข้อมูลจากดาวเทียม จุดความร้อนของไทยวานนี้พบ 328 จุด
อว. เผยค่าฝุ่นพิษทั่วไทยเกินหลายพื้นที่
กระทรวง อว. โดย GISTDA เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม รายชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น”
GISTDA เผยน้ำท่วมขังในสุโขทัยยังสูงกว่า 1.3 แสนไร่
ภาพจากดาวเทียมพบท่วมขังกว่า 1.3 แสนไร่ในพื้นที่บางส่วน 3 อำเภอของสุโขทัย
GISTDA เผยภาพดาวเทียม พื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดแพร่
GISTDA เผยภาพจาก THEOS-2 เห็นมวลน้ำบางส่วนที่ยังตกค้างอยู่ในจังหวัดแพร่
ดีพร้อม ผนึกกำลัง GISTDA ติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ จับมือสองกระทรวงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่โลกอนาคต
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ป.ป.ช. ฟันอาญา-ผิดวินัยร้ายแรง 'ดร.อานนท์' อดีตผอ. GISTDA เอารถหลวงไปใช้ส่วนตัว
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศ