ต่อชีวิต'พะยูนฝูงสุดท้าย' กอบกู้หญ้าทะเล

การเสียชีวิตของพะยูนไทยที่ปรากฎอย่างต่อเนื่องตามสื่อต่างๆ ในรอบปี 2567 มีตัวเลขการตายพุ่งสูงกว่าทุกปี  หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พะยูนตายไปแล้วเกือบ 40 ตัว รวมปี 2566 ไทยสูญเสียพะยูนรวมกันเกือบ 80 ตัว  ถือเป็นสัญญาณอันตรายของพะยูน สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  เพราะหากไม่สามารถหยุดยั้งอัตราการสูญเสียประชากรพะยูนได้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ของพะยูน ส่วนสาเหตุพะยูนตายถี่ในปีนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุมาจากแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมหนักในพื้นที่จังหวัดตรัง กระบี่ สตูล พังงา เมื่อขาดอาหาร ทำให้เกิดพะยูนผอมและเจ็บป่วยจากการขาดอาหารอย่างรุนแรง และเกยตื้นตายในที่สุด  

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอันดามัน (Save Andaman Network- SAN)  ซึ่งติดตามสถานการณ์พะยูนอย่างต่อเนื่อง  กล่าวว่า  พื้นที่หญ้าทะเลใน จ.ตรัง มีกว่า 30,000 ไร่ จำนวน 6-7 แปลง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ แต่แหล่งหญ้าทะเลตรังเสื่อมโทรมมาจากโครงการขุดลอกร่องแม่น้ำตรังเพื่อการเดินเรือผ่านหน้าเกาะลิบง  ช่วงปี 2559 – 2562  โดยไม่มีมาตรการป้องกันหรือใช้ม่านกันตะกอน  ส่งผลกระทบเกิดตะกอนทรายจำนวนมหาศาลทับถมบริเวณเกาะลิบง ปากแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุด ชาวบ้านสังเกตุเห็นตะกอนทรายตั้งแต่ปี 2560 ปีต่อมาชั้นตะกอนหนาขึ้น จนกระทั่งปี 2562 เกิดภาวะวิกฤตชั้นตะกอนทรายทับถมหญ้าทะเลสูง 10-15 เซนติเมตร ทำให้หญ้าทะเลต้นเตี้ยตาย หญ้าใบยาวแม้พยายามต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด แต่สุดท้ายก็ตายหมดในปี 2565  เราสูญเสียแหล่งหญ้าทะเลไปกว่า 10,000 ไร่ ขณะที่แหล่งหญ้าทะเลที่เหลือทยอยเสื่อมโทรมลง ตั้งแต่หน้าทะเลหน้าเกาะมุกราว 9,000 ไร่  ตามด้วยอ่าวขาม บ้านปากคลอง และหญ้าทะเลบ้านแหลมไทรเริ่มเสื่อมโทรมปี 2566 หญ้าทะเลจะมีสภาพใบขาดสั้น  เจอคลื่นลมมรสุมก็หลุดลอย เสื่อมโทรมทั้งระบบ รวมทั้งปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

“ หญ้าทะเลตรัง 2 หมื่นไร่ที่เหลือ ปริมาณไม่สมดุลกับสัตว์ที่กินหญ้าทะเล ไม่เพียงพอต่อการกิน เพราะมีทั้งพะยูน เต่าตะนุ และกลุ่มปลาสลิดหินที่กิน   ตั้งแต่ปี 62 พะยูนร่างกายผอม จนปี  2566 พบพะยูนเกยตื้นตาย 40 ตัว ปี 2567 ตาย 40 ตัว   สาเหตุการตายพะยูนเปลี่ยนไปจากการชันสูตรเดิมพบในท้องที่มีซากหญ้าทะเลและชั้นไขมันหนา  ร่างกายสมบูรณ์ สันนิษฐานตายจากเครื่องมือประมง ช่วง 5 ปีนี้ พบพะยูนป่วยเป็นหลัก มาจากไม่มีอาหารกิน ผอม ผ่ากะเพาะออกมาไม่มีหญ้าทะเลหรือมีน้อยมาก นอกจากนี้ ตายจากกินขยะพลาสติก ส่วนกรณีพะยูนที่ตายแล้ว ถูกตัดหัวเพื่อเอาเขี้ยวและกระดูกด้วยความเชื่อทำเครื่องรางของขลังด้านเมตตามหานิยมต้องเฝ้าระวัง ปราบปราม และใช้กฎหมายจัดการการค้าขายผ่านออนไลน์และตลาดมืดต่างๆ อย่างจริงจัง “ ภาคภูมิ กล่าว

ในขณะเดียวกัน ภาคภูมิ กล่าวว่า พะยูนหนีตาย ย้ายถิ่นเพื่อหาแหล่งอาหารหญ้าทะเล จึงพบการตายของพะยูนระหว่างทางอพยพ บางตัวไปสตูล พบซากพะยูน 3-4 ตัว ซึ่งในกะเพาะไม่มีหญ้าทะเลเลย เพราะแหล่งหญ้าทะเลสตูลมีน้อย อีกกลุ่มอพยพขึ้นเหนือจากตรัง กระบี่ ไปบริเวณอ่าวพังงา ภูเก็ต ซึ่งมีพะยูนอาศัยอยู่เดิม    การที่พะยูนย้ายถิ่นต้องเผชิญกับภัยคุกคามเรื่องประมงเพราะชาวประมงไม่คุ้นชินกับฝูงพะยูนอพยพย้ายถิ่น

“ หากดูสถิติการตายพะยูนช่วง 5 ปี จำนวน 156 ตัว ถือว่าสูงมาก ในสถานการณ์ปกติพะยูนอาศัยอยู่ฝั่งทะเลอันดามัน 200 กว่าตัว แต่การตายระดับนี้ส่งผลให้พะยูนไทยใกล้สูญพันธุ์ คาดการณ์ในอันดามันมี 50-60 ตัว ส่วนในตรังน้อยมาก ชาวบ้านพบไม่ถึง 5 ตัว    “

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีแนวทางปกป้องคุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล โดยประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเลที่ภูเก็ต และเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล บริเวณอ่าวบางขวัญ จังหวัดพังงา มาตรการเหล่านี้ตรังจัดทำแล้ว และลดอัตราตายได้  แต่มาเผชิญวิกฤตหญ้าทะเล ทำให้กอบกู้ไม่ได้ ต้องรอธรรมชาติฟื้นตัว  เป็นบทเรียนสำคัญมาก ต้องร่วมมือแก้ไข อย่าให้เกิดปัญหาซ้ำ ขณะนี้จะมีโครงการขุดลอกเส้นทางเดินเรือบริเวณหน้าแหลมจูโหย เกาะลิบง ต้องทบทวนและพิจารณาโครงการอย่างเหมาะสม ไม่กระทบระบบนิเวศ

การแก้ปัญหาพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ภาคภูมิ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องเร่งเพิ่มอาหารให้กับพะยูนโดยธรรมชาติด้วยการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลโดยเร็ว เมื่อปี 2566 มูลนิธิอันดามัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ร่วมกับชุมชนชายฝั่ง ทดลองล้อมคอกหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมเพื่อป้องกันสัตว์ในแนวหญ้าเข้าไปกินหญ้าทะเล  พบว่าหญ้าทะเลเจริญเติบโตได้ดี ใบยาว และสภาพสมบูรณ์เหมือนเดิม จากนั้นขยายผลกั้นเขตพิ่มคอก ชักชวนนักวิชาการ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไปเยี่ยมชม  ขณะนี้เห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูหญ้าทะเล  เราล้อมแปลงหญ้าทะเลขนาดเล็กๆ เน้นเพื่อเป็นแปลงต้นพันธุ์ ซึ่งปีนี้ทางจังหวัดตรัง ทช. จะจัดสรรงบประมาณลงมาทำเรื่องนี้ด้วย  รวมถึงทดลองนำหญ้าใบมะกรูดอาหารพะยูนในธรรมชาติมาเพาะขยายพันธุ์ จากนั้นนำไปปลูกในแปลงหญ้าทะเลธรรมชาติหากขยายผลจะบรรเทาภาวะขาดอาหารของพะยูน  อีกแนวทางทดลองเพาะพันธุ์หญ้าทะเลในบ่อกุ้งร้าง  โดยใช้เหง้าหญ้าทะเลมาปลูก แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ มีตัวแปรหลายด้าน

ส่วน ทช.ดำเนินการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ปลูกหญ้าทะเลในพื้นที่ที่กำหนด รวมถึงทดลองทำแปลงเสริมอาหารพะยูน บริเวณท่าเทียบเรือราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ซึ่งใช้สาหร่ายผมนาง ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง นำมาเป็นอาหารเลียนแบบธรรมชาติให้กับพะยูน ต้องติตตามผลว่าเหมาะกับพฤติกรรมการกินของพะยูนหรือไม่ เพราะพะยูนดุนอาหารกินตามพื้นทราย

ส่วนมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล ผอ.มูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า ต้องเร่งจัดทำข้อตกลงหรือกติกากับชุมชนในพื้นที่ติดแหล่งหญ้าทะเล เพราะชุมชนชายฝั่งใกล้ชิดกับทรัพยากร ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเล สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับชุมชนในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลอีกด้วย รวมถึงผู้ประกอบการเดินเรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเรือเจ็ทสกีให้ช่วยกันระมัดระวังขณะเดินเรือ หรือทำกิจกรรมทางทะเล ให้ชะลอความเร็วหากเข้าใกล้ฝั่ง รวมถึงเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล

อีกทั้งเน้นย้ำชาวประมงช่วยดูแลและเฝ้าระวัง หมั่นตรวจเช็คเครื่องมือประมงขณะทำประมงอย่างต่อเนื่อง งดใช้เครื่องมืออวนขนาดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการทำประมงบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหรือพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูน ป้องกันไม่ให้พะยูนติดอวนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดจนงดเว้นการเดินเรือผ่านแหล่งหญ้าทะเล หรือหากจำเป็นต้องใช้เส้นทาง ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต แต่ละพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตรการให้ครอบคลุม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการให้ครอบคลุมบริเวณอ่าวพังงา รวมถึงมาตรการควบคุมกิจกรรมท่องเที่ยวไม่ให้กระทบพะยูน

“ ขณะนี้พะยูนลดจำนวนลง อาจจะเพียงพอกับแหล่งหญ้าทะเลที่มีอยู่ สุดท้ายเราต้องทำใจ ประชากรพะยูนจะลดลง โดยเราเร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้สำเร็จ หากทำได้ พะยูน 50-60 ตัวที่เหลืออยู่ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ประชากรจะเพิ่มขึ้นในธรรมชาติ ซึ่งต้องทำควบคู่มาตรการปกป้องคุ้มครองพะยูนด้านอื่นๆ อาจจะมีความหวังว่าฝูงพะยูนจะกลับมา เมื่อก่อนเรามีปัญหาเครื่องมือประมง เรือชน เมื่อแก้ได้ ประชากรพะยูนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราตายลดลงต่อเนื่อง แต่จากวิกฤตหญ้าทะเล ทำให้เหลือพะยูนฝูงสุดท้าย  เราต้องระดมพลังช่วยกันกอบกู้สถานการณ์จากทุกภาคส่วน “  ภาคภูมิกล่าวถึงทางรอดและอนาคตของพะยูนไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หลุยส์' ดำเนินรายการเต็มตัว 'Kids พิทักษ์โลก' หนุนเด็กรักษ์สิ่งแวดล้อม

ช่อง 7HD รุกเปิดพื้นที่เพื่อเด็กและเยาวชน ส่งช่วงใหม่ "Kids พิทักษ์โลก" ดึง "หลุยส์ เฮส" ที่เพิ่งขึ้นแท่น Brand Ambassador ของมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พลิกบทบาทมาเป็นผู้ดำเนินรายการเต็มตัวครั้งแรก ลงจอทุกวันจันทร์ ทางรายการ สนามข่าว 7 สี ตั้งแต่เวลา 07.30 น.

สถานการณ์ทางทะเลที่ต้องจับตา ขยับเศรษฐกิจสีน้ำเงินลดทำลาย

สถานการณ์ทางทะเลของประเทศไทยขณะนี้หลายปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งสัตว์ทะเลหายากเสี่ยงสูญพันธุ์จากกิจกรรมมนุษย์และสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ล่าสุดกรณีพะยูนตายมากถึง 5 ตัวภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เพียงเดือนเดียว

เก็บขยะศึกษาแหล่งที่มาในทะเล ปลุกความรับผิดชอบผู้ผลิต

กรม ทช. เก็บตัวอย่างขยะทะเลและศึกษาปริมาณขยะบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อตรวจสอบบาร์โค้ดเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงพลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือย่อยสลายได้

พบพะยูนตายกลางทะเล มีร่องรอยโดนทำร้าย ถอดเขี้ยวออก

เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ตรัง)  และชาวบ้านช่วยกันนำซากพะยูนขึ้นฝั่ง ที่บริเวณ

พะยูนยังเหลืออยู่ที่ไหน? อีกเท่าไหร่ในปัจจุบัน

ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์พะยูนเมืองไทย  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอความร่วมมือช่วยกันส่งจุดที่พบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในฝั่งอันดามัน