บ้านปู เน็กซ์ -ดูราเพาเวอร์ ผลิตแบตเตอรี่ รองรับรถไฟฟ้าขนส่งขนาดใหญ่ในไทย

บ้านปู เน็กซ์ บริษัทลูกของบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน)ผู้ให้บริการ Net Zero Solutions ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมกับดูราเพาเวอร์  ซึ่งเป็นผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออนระดับโลกสำหรับการใช้งานด้านพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า  เปิดโรงงานประกอบแบตเตอรี่ดีพี เน็กซ์ อย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมการเดินทางและขนส่งด้วยพลังงานสะอาด และรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศไทย และเอเชียแปซิฟิก

โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ซึ่งนอกจากพร้อมสนับสนุนตลาดรถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ขยายอย่างรวดเร็วในภูมิภาคแล้ว ยังสอดรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยด้วย รวมถึงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โรงงานประกอบแบตเตอรี่ดีพี เน็กซ์ ดำเนินกิจการภายใต้บริษัทร่วมทุน (JV) ระหว่างบ้านปู เน็กซ์ และดูราเพาเวอร์ ผนึกความเชี่ยวชาญของสองบริษัททั้งองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีล้ำสมัยและความเข้าใจตลาด เพื่อส่งมอบแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและตรงกับความต้องการในภูมิภาค โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะแบบกึ่งอัตโนมัติ (semi-automated intelligent production) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ในโรงงานแบตเตอรี่ของดูราเพาเวอร์ สามารถส่งมอบแบตเตอรี่ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รวมถึงรถขนส่งเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

ด้วยการออกแบบให้มีน้ำหนักเบา รองรับการชาร์จเร็ว และกักเก็บพลังงานได้ยาวนาน ทั้งยังมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด อาทิ UNECE No. 100 ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามมาตรฐานยุโรปในการอนุมัติยานยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งบนถนน หรือ IEC 62660 ซึ่งเป็นมาตรฐานการทดสอบประสิทธิภาพสำหรับเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทุติยภูมิ (secondary lithium-ion cells) ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ แบตเตอรี่จากโรงงานดีพี เน็กซ์ ยังผ่านการทดสอบแบบเจาะทะลุ ซึ่งเป็นการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยของแบตเตอรี่

โรงงานแห่งนี้สามารถประกอบแบตเตอรี่ได้มากกว่า 15,000 ชุดต่อปีตามความต้องการของตลาด โดยมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตสูงสุดเป็น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาค โดยร้อยละ 80 ของแบตเตอรี่ที่ผลิตทั้งหมดจะถูกจำหน่ายในประเทศ ขณะที่อีกร้อยละ 20 จะถูกส่งออกไปยังตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา โรงงานนี้มีโซลูชันแบตเตอรี่ที่ครอบคลุมทั้งลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) และลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายประเภทในอุตสาหกรรมการเดินทางและขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์: รถบรรทุก รถบัส รถยก รถพ่วง รถดัมพ์ รถกึ่งพ่วง และรถลากเครื่องบิน ยานยนต์ไฟฟ้าเฉพาะทาง: โดยจัดหาแบตเตอรี่สำหรับการใช้งานเฉพาะด้าน เช่น รถตุ๊กตุ๊ก ผู้ผลิตเรือหรือต่อเรือ และยานพาหนะที่ใช้สำหรับการขนส่งในท่าเรือ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่สำหรับระบบสลับแบตเตอรี่ในรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)

นายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า เอเชียแปซิฟิกถือเป็นผู้นำในตลาดรถบัสไฟฟ้าระดับโลกที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 44.74 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 เป็น 73.88 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2572 ซึ่งโรงงานแห่งนี้สอดรับกับทิศทางการเติบโตดังกล่าว และเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งจะเพิ่มรถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้าเป็น 33,000 คัน หรือ 40% ของยานยนต์ที่จดทะเบียนบนท้องถนนภายในปี 2573อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้กับซัพพลายเออร์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกด้วย โรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งนี้จึงไม่เพียงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของบ้านปู เน็กซ์ สู่การเป็น Net-Zero Solutions Provider ให้กับองค์กรทั่วเอเชียแปซิฟิก แต่ยังจะช่วยส่งเสริมตลาดแรงงานไทยผ่านการจ้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 300 ตำแหน่งตามเป้าหมายการผลิตในระยะยาว

นายเคลวิน ลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดูราเพาเวอร์ กล่าวว่า โรงงานดีพี เน็กซ์ จะขยายศักยภาพของดูราเพาเวอร์ในการนำเสนอโซลูชันแบตเตอรี่ชั้นนำให้กับลูกค้าทั่วโลก ซึ่งมีความพร้อมด้านกระบวนการผลิตและประกอบแบตเตอรี่ เสริมด้วยจุดเด่นด้านนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง โดยนำเทคโนโลยีล้ำสมัยและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมาใช้เพื่อส่งมอบแบตเตอรี่คุณภาพสูงตามความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทำให้เราสามารถนำเสนอโซลูชันพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนให้กับลูกค้าในประเทศไทย ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของเราในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 ปัจจุบันในประเทศไทยมี 4 บริษัท ที่ผลิตแบตเตอรี่รองรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ 1. E@ Energy Absolute การลงทุน Amita Taiwan (ถือหุ้น 70%) เป้าหมายระยะแรก กำลังการผลิต 1,000 MWh ในไทย  และอีก 400 MWh ที่ไต้หวัน

2. GPSC 24M Technologies (ถือหุ้น 18%) และ AXXIVA (ถือหุ้น 11.1%) เป้าหมายการผลิตระยะแรก Pilot Project 30 MWhส่วน AXXIVA มีกำลังการผลิต 1,400 MWh

3. bcpg หรือบริษัทบางจาก กำลังการผลิตเป้าหมายระยะแรก Pilot Project 9 MWh และมีเป้าหมายจะขยายเป็น 1,400 MWh

และ4. BANPU Durapower Holdings (ถือหุ้น 47%) เป้าหมายระยะแรก ขยายกำลังการผลิตสู่ 380 MWh และโรงงานสามารถรองรับได้ถึง 1,000 MWh.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง