“ความท้าทายของเจนเนอเร ‘เช่า’ ในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดย45% ของกลุ่ม Gen Z และ Millennials มองประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้เป็นความท้าทายลำดับต้น ๆ แม้ว่าผลสำรวจจะแสดงให้เห็นว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยพึงพอใจกับนโยบายที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นอัตราความพึงพอใจที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ในประเทศที่มีการสำรวจทั้งหมด …..”
Vero Advocacy บริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ และ Kadence International บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก มีเป้าหมายในการศึกษามุมมองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีร่วมกันในภูมิภาค และสำรวจความหวัง ความใฝ่ฝัน และความท้าทายของพวกเขาต่ออนาคต การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่ม Gen Z และ Millennials กว่า 2,700 คนจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศไทย 452 คน การศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การวางแนวทางให้ภาครัฐและเอกชนสามารถพัฒนานโยบายและโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของปัจจุบัน เพื่อผลักดันไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
กลุ่ม Gen Z คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2555 หรือ ค.ศ. 1997 – 2012 ในขณะที่ Millennials หรือ Generation Y คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2540 หรือ ค.ศ. 1981 – 1996
ผลการสำรวจพบว่า 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม Gen Z คาดหวังว่าชีวิตในอนาคตจะ “ดีขึ้นมาก” และอีก 47% คาดว่าชีวิตของพวกเขาจะ “ดีขึ้น” ซึ่งสูงกว่าคำตอบในประเด็นเดียวกันของกลุ่ม Millennials ที่รวมอยู่ที่ 85% ในขณะเดียวกัน ค่าเฉลี่ยของผู้ตอบ Gen Z จากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคก็แสดงให้เห็นถึงความหวังในแง่บวกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ อินโดนีเซีย (87%) มาเลเซีย (85%) ฟิลิปปินส์ (85%) สิงคโปร์ (74%) และเวียดนาม (90%)
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Gen Z และ Millennials ในประเทศไทยต่างระบุว่า โอกาสในการทำงานและคุณภาพการศึกษาเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุด รวมไปถึงความกังวลในด้านการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในทุกประเทศที่ทำการสำรวจ นอกจากนี้ ยังพบความกังวลในประเด็นอื่น ๆ อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และการจัดการระบบภาษีและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ
เยาวชนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในการประกอบอาชีพ ผลสำรวจพบว่า 63% ของกลุ่ม Gen Z และ 69% ของกลุ่ม Millennials ยกประเด็นการจ้างงานเป็นความท้าทายอันดับหนึ่ง เช่นเดียวกับความพึงพอใจต่อนโยบายด้านการจ้างงานที่ได้รับคะแนนต่ำที่สุดในบรรดานโยบายทุกด้าน คนรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มมองว่าโอกาสในการทำงานที่มีจำกัดและการแข่งขันที่สูงเป็นอุปสรรคสำคัญ พวกเขายังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน
สำหรับคนรุ่นใหม่ การเข้าถึงงานที่มั่นคงเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การมีชีวิตที่มั่นคง เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เอื้อให้สามารถเข้าถึงบริการจำเป็นพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และการศึกษา พวกเขาเรียกร้องให้มีการพัฒนาบริการด้านการจ้างงานที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อาทิ การให้คำปรึกษาด้านการประกอบอาชีพ การจัดโครงการจัดหาและย้ายสายงานแบบครบวงจร ตลอดจนการเพิ่มการสนับสนุนด้านการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ พวกเขายังยังเรียกร้องให้มีการริเริ่มโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมพนักงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนในระยะยาว
แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรีตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาแบบครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการอุดหนุนค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน และค่าชุดนักเรียน แต่ผลสำรวจกลับพบว่า 69% ของกลุ่ม Gen Z และ 66% ของกลุ่ม Millennials ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาอยู่
กระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงถึง 328,000 ล้านบาทในปี 2567 และจากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI พบว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จในการลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างพื้นที่ชนบทและเมืองได้จริง อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโยบายการศึกษาในประเทศไทยเพียง 54% เท่านั้น แม้จะเป็นคะแนนที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้ปรับปรุงและพัฒนาอีกมาก ข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาทักษะและความสามารถที่จำเป็นต่อการแข่งขันในตลาดแรงงาน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต ผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อเสนอแนะว่า การปรับปรุงระบบการศึกษาควรดำเนินการในหลายมิติ เช่น การทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในองค์รวม และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถรับมือกับความท้าทายของโลกการทำงานยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในทำเลที่เข้าถึงได้ยังคงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ปัญหานี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากการมีที่อยู่อาศัยในทำเลที่เหมาะสมนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน การศึกษา การเข้ารับบริการด้านสุขภาพ และบริการพื้นฐานที่จำเป็น อื่น ๆ
จากรายงานของสำนักข่าวเดอะเนชั่นระบุว่า ผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาเช่าแทนการซื้อที่อยู่อาศัย และมีแนวโน้มขยับแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Generation Rent’ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยถูกลดความสำคัญลงในหมู่คนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก
ผู้ตอบแบบสอบถามได้เสนอแนะให้เร่งผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ให้มากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนของที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่รอบนอกเมือง และนำไปสู่การออกแบบมาตรการเงินอุดหนุนที่ตรงกลุ่มเป้าหมายสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ทั้งการซื้อและการเช่าที่อยู่อาศัยเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่
“การจ้างงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัยคือความท้าทายเร่งด่วนของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนความมั่นคงในชีวิต แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมโดยรวม” พงศ์ศิริ ภูรินธนโชติ หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดการของ Vero Advocacy อธิบาย
พร้อมกับให้มุมมองอีกว่า คนรุ่นใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของภูมิภาค การแก้ไขความท้าทายเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปลดล็อกศักยภาพของพวกเขาและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั้งยั่งยืนและครอบคลุม
ด้าน Ashutosh Awasthi, ผู้อำนวยการ Kadence International ซึ่งเป็นเอเจนซี่วิจัยการตลาดระดับโลกที่มีแนวทางที่เป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง ด้วยสำนักงานที่ตั้งอยู่ในเอเชีย ยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่กลุ่ม Gen Z และ Millennials กำลังเผชิญ และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่ การแก้ไขความท้าทายเหล่านี้อย่างทั่วถึงจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคนรุ่นใหม่อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งวางรากฐานอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับคนทุกช่วงวัย
ด้าน ณัฐพร บัวมหะกุล หนึ่งในหุ้นส่วนผู้จัดการของ Vero Advocacy กล่าวเสริมว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาค จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องเข้าใจและตอบสนองต่อความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้พวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะอนาคตของพวกเราทุกคนล้วนขึ้นอยู่กับการเสริมสร้างศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คอมเมนต์ที่กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลของ 'บาร์บรา สตรัยแซนด์'
ความจริงแล้ว บาร์บรา สตรัยแซนด์ ต้องการแค่อยากรู้จากนักแสดงหญิง-เมลิสซา แมคคาร์ธี ว่าเธอกำลังใช้ยาฉีดลดน้ำห
'ดร.เสรี' ข้องใจ! ใครสั่งสอนคนยุคใหม่
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า คนบางคนนี่ก็ตรรกะแปลกๆ
เทศกาลดนตรีฟรีที่ใหญ่สุดในประเทศ จัดเต็ม 5 เวที ศิลปินกว่า 100 เบอร์!
กลับมาอีกครั้ง! เทศกาลดนตรีฟรีที่ใหญ่ที่สุดในไทย Pepsi, PMCU, NYLON Thailand present ‘Siam Music Fest 2023’ ที่กำลังจะมาสร้างบรรยากาศความสุขส่งท้ายปี ฟังเพลงเพราะๆ ชมโชว์ดีๆ จากศิลปินคนโปรดครบทุกแนว ถึง 5 เวที และกิจกรรมเอาใจ Gen Z อีกเพียบ เตรียมจัดขึ้นทั่วสยามสแควร์ วันที่ 16-17 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้
'ฮาย Paper Planes' ดึงศิลปินรุ่นใหม่ทำเพลงสั้นอัลบั้มแรกค่าย 'GMM SAUCE'
หลังจากเปิดตัวค่ายไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา GMM SAUCE (จีเอ็มเอ็ม ซอส) ค่ายเพลงสั้น 55 วินาที ที่เน้นเรื่องนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์การทำเพลงใหม่ ที่ไม่ยึดกรอบธรรมเนียมปฎิบัติ หรือสูตรความสำเร็จเดิม ได้มีการปล่อยเพลงเนื้อหาสนุกๆ ออกมาสร้างสีสันในโลกโซเชียลกว่า 30 เพลงแล้ว ทั้งออริจินัลและคัฟเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น เพลง แมวแมว, หวยแหลก, ลำพังดังกว่าลำโพง, ชาบูจะเยียวยา, เงินเดือนหรือเงินทอน เป็นต้น