เรื่องราวของจีจี้ – นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งถูกคู่รักทำร้ายหลายครั้ง แต่จีจี้ยื่นโอกาสให้กับฝ่ายชาย สุดท้ายเธอต้องจากไปด้วยน้ำมือของคนที่รัก ก่อนแฟนหนุ่มจบชีวิตตัวเองตาม ถูกหยิบยกนำมาเป็นบทเรียนราคาแพงเตือนสติคนในสังคมออกจากความสัมพันธ์ที่ทำร้ายตัวเองร่วมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี
ในปีนี้มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด (BBDO Bangkok) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ภายใต้แนวคิด “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน พร้อมเปิดตัวหนังเรื่องใหม่ของจี้ชื่อ “Second Chance” ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI Deepfake สร้างภาพ เสียงของจีจี้ สุพิชชา กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ราวกับเธอยังมีชีวิตอยู่ หวังหยุดวงจรความรุนแรง หนังเรื่องนี้มีการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงเพจเรื่องของจี้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของเพจครั้งแรกหลังจีจี้เสียชีวิต งานนี้ ครอบครัวจีจี้ทั้งพ่อ แม่ และน้องสาว มาร่วมงาน
จะเด็จ เชาว์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ มูลนิธิจับตาสถานการณ์มาตลอด 10 ปี สถิติไม่ลดลง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังโควิดสถานการณ์น่าห่วงมากกระโดดเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ปัจจัยจากเหล้าและยาเสพติด ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลปี 2567 ใช้เป็นวาระพูดกับสังคมช่วยกันหยุดความรุนแรง สถิติที่เพิ่มทุกปี ต้องลดลงบ้าง ปีนี้นำบทเรียนของจีจี้สะท้อนวิธีหยุดความรุนแรง แต่เราไม่อยากเรียนรู้จากการเสียชีวิตแบบนี้ไปเรื่อย สถิติไทยติด 1 ใน 10 ของโลก ต้องหาทางออก ไม่รณรงค์แล้วจบ วันที่ 27 พ.ย.นี้ มูลนิธิเตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต่อ พม. ปีที่แล้วยื่นหนังสือให้ควบคุมอาวุธปืน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ปล่อยให้ใช้กันง่าย ฆ่าผู้หญิงเหมือนผักปลา ขอบคุณครอบครัวจีจี้ สสส. BBDO Bangkok ต้องทำงานต่อไปเพื่อให้ปัญหาลดลง
มินนี่ – ชนกนันท์ ปรีดาเจริญ อายุ 18 ปี น้องสาวของจีจี้เป็นตัวแทนครอบครัว กล่าวว่า ความสูญเสียของครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อปี 2566 จากความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักแบบแฟน มีการทะเลาะและใช้ความรุนแรง และใช้อาวุธปีน ทำให้พี่จีจี้เสียชีวิต มีสัญญาณเตือนเพราะพี่สาวเคยเล่าให้คุณแม่ฟังว่าถูกกระทำ แม่เตือน ตนก็เคยเตือน คนรอบข้างเตือน แต่การออกจากความรุนแรงตรงนั้นมันยากมาก พี่สาวให้โอกาสเพราะฝ่ายชายอ้างจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ความรุนแรงในความสัมพันธ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีครั้งต่อไป หากย้อนเวลากลับไปได้จะทำทุกวิถีทางให้หยุดความสัมพันธ์ เพราะถ้าพี่ไม่จากไป ยังมีโอกาสดีๆ ให้กับตัวเองในการทำงาน พี่ทั้งเก่งทั้งสวย มากความสามารถ เป็นไอดอลของตนและแฟนคลับ เป็นแรงบันดาลใจให้กล้าแสดงออกและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น อนาคตถ้ามีโอกาสอยากเข้าสู่วงการอินฟูลเอนเซอร์ เป็น TikTokers
“ อยากบอกว่าทุกคนรักและคิดถึงพี่เสมอ จะเก็บความทรงจำดีๆ ไว้ในใจ ในความเสียใจของครอบครัว ดีใจที่กรณีพี่จีจี้ได้กระตุ้นเตือนในคนหันกลับมารักตัวเอง หนูตัดสินใจร่วมแคมเปญนี้ เพราะอยากให้ทั้งหญิง ชาย หรือใครๆ ก็ตาม ที่มีอยู่ในความสัมพันธ์ที่โดนทำร้าย เดินออกมา การให้โอกาสหรือให้อภัยต้องเลือกให้ในสิ่งที่ให้ได้ แต่ความรุนแรงในครอบครัว คู่รัก มีโอกาสเกิดซ้ำ กรณีพี่จี้เป็บทเรียนสำคัญ หากพบความรุนแรงต้องหยุดความสัมพันธ์และไม่ให้โอกาสที่สอง ควรให้โอกาสตัวเองมากกว่าให้โอกาสกับความรุนแรง รวมถึงหากต้องการความช่วยเหลือเพื่อออกจากความรุนแรงสามารถติดต่อมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าคิดว่าอยู่คนเดียวเพียงลำพัง “ มินนี่ ชนกนันท์ กล่าว
สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2566 อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ตีแผ่ปัญหาว่า มูลนิธิฯ รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 เหมืนกระจกสะท้อนความรุนแรงในครอบครัว พบ 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% โดยแบ่งเป็น 5 ประเภทข่าว ได้แก่ 1.ทำร้ายกัน 433 ข่าว คิดเป็น 39.9% เป็นเรื่องระหว่างสามี-ภรรยามากที่สุด 152 ข่าว คิดเป็น 35.1% พ่อ-แม่-ลูก 108 ข่าว คิดเป็น 24.9% คู่รักแบบแฟน 102 ข่าว คิดเป็น 23.6% เครือญาติ 71 ข่าว คิดเป็น 16.4% หากเจาะลึกสาเหตุ เพราะหึงหวง ง้อขอคืนดีไม่ได้ โมโห บันดาลโทสะ
2.ฆ่ากัน 388 ข่าว คิดเป็น 35.7% เกิดขึ้นในคู่สามี-ภรรยา 168 ข่าว คิดเป็น 43.3% เครือญาติ 94 ข่าว คู่รักแบบแฟน 64 ข่าว พ่อ แม่ ลูก 59 ข่าว และฆ่ายกครัว 3 ข่าว คิดเป็น 0.8% สาเหตุเพราะหึงหวง ตามง้อไม่สำเร็จ บันดาลโทสะ โมโหที่ถูกบอกเลิก ขัดแย้งเรื่องการเงิน 3.ฆ่าตัวตาย 213 ข่าว คิดเป็น 19.6% โดยผู้ชายเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 140 ข่าว คิดเป็น 65.7% ผู้หญิงเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 68 ข่าว และ lgbtq+ฆ่าตัวตาย 5 ข่าว 4.ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 46 ข่าว คิดเป็น 4.2% โดยเกิดระหว่างเครือญาติ พ่อเลี้ยงทำกับลูกเลี้ยง ที่น่าตกใจคือ พ่อทำกับลูกแท้ๆ ถึง 11 ข่าวและ 5.ความรุนแรงในครอบครัวอื่นๆ จำนวน 6 ข่าว
“ สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวน่าห่วงมาก ไม่ใช่แค่ลิ้นกับฟัน แต่เกิดการทำร้ายกัน ฆ่ากัน การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงทางเพศ ข่าวความรุนแรงปี 66 มีการใช้อาวุธปืน มืด ไม่ใช่แค่ตบตี แต่ทำให้บาดเจ็บสาหัส และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว หากดูสถิติย้อนหลังปี 59 ฆ่ากันตาย 300 เคส ปี 65 มีถึง 500 เคส ปี 66 ผู้หญิงตาย 388 เคส ไม่รวมที่ไม่เป็นข่าวหรือซุกไว้ใต้พรม มีปัจจัยกระตุ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์และเสพยา ส่งผลให้สถานการณ์ทำร้าย ฆ่ากัน รุนแรงเพิ่มขึ้น ข่าวสามีฆ่าภรรยาใช้ปืนยิงเป็นอันดับหนึ่งเกือบ 50% รองลงมา มีด ตบตี ใข้ไม้ตี กรณีภรรยาฆ่าสามีก็พบเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสามีใช้ความรุนแรงกับภรรยาประจำ นำมาสู่การโต้กลับด้วยการฆ่า กรณีคู่รักแบบแฟนฆ่ากัน ผู้หญิงที่ถูกกระทำช่วงอายุ 21-25 ปี มากที่สุด เหตุจากหึงหวง ใช้อาวุธปืนยิงมากที่สุด “ อังคณา บอก
ส่วนข้อเสนอแนะป้องกันและแก้ปัญหา อังคณา กล่าวว่า ทางออกต้องเน้นเครื่องมือ 2 ส่วน คือ การเสริมพลังอำนาจให้ผู้หญิงเห็นคุณค่าและความสามารถของตัวเอง สามารถก้าวข้ามและกล้าลุกจากความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง อีกส่วนต้องทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพช่วยเหลือครอบครัวและผู้หญิงที่ประสบปัญหา ผู้หญิงต้องเลิกให้โอกาสที่ 2 ก็ต้องใช้เวลาและมีพื้นที่ปลอดภัย กรณีน้องจีจี้อาจทำให้ผู้หญิงให้โอกาสดีๆ กับตัวเอง รวมถึงกระตุ้นทำงานเชิงรุกกับคู่รักแบบแฟน ตลอดจนครอบครัวผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่ประสบภาวะวิกฤต รวมถึงใช้กลไกชุมชนร่วมลดปัญหา มีมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยง เหล้า ยาเสพติด ปืน ต้องอาศัยทุกองคาพยพในสังคมยุติความรุนแรง
การออกจากความรุนแรงผ่านทัศนะ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศกล่าวว่า เราอยากสื่อสารให้คนในสังคมคืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเองและเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรงผ่านแคมเปญนี้ เชื่อว่า ผู้เผชิญกับความรุนแรงอยากพ้นจากปัญหา และตกเป็นผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่องจากความสันพันธ์ กรณีจีจี้พยายามออกจากความสัมพันธ์นี้ แต่ไม่สำเร็จ เมื่อค้นหามาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีอารมณ์ความรู้สึกจากสิ่งที่ดีและไม่ดีในชีวิต อีกทั้งผู้กระทำไม่ใช่คนแปลกหน้า ทำให้ตัดสินใจไม่ได้ มีการศึกษาพบว่า คู่สามีภรรยาที่ทำร้ายกันจะมีช่วงที่ดี ช่วงดิ่ง ช่วงตึงเครียด ช่วงความสัมพันธ์รุนแรงจนระเบิด แล้วกลับมาง้อขอคืนดี ทำดีด้วย บางกรณีอยู่เพราะลูกและกังวลเสียงจากคนรอบข้าง จุดอันตรายสุดคือจุดที่กำลังจะออกจากความสัมพันธ์ ความรุนแรงไม่ใช่แค่จากบันดาลโทสะ ผิดหวัง เสียใจ แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง และอาจใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เกรณีจีจี้มีความรุนแรงที่เพิ่มระดับขึ้นสุดท้ายใช้อาวุธปืน หากกระจายความคิดออกจากวังวนความรุนแรง ให้โอกาสดีๆ กับตัวเอง จะช่วยให้หลุดพ้นได้
“ ปัจจัยเกื้อหนุนจัดการปัญหาความรุนแรง อันดับ 1 ครอบครัว เพื่อน ชุมชน ที่พร้อมรับฟังปัญหา เปิดใจฟัง และไม่ตัดสินกับปัญหา พร้อมอยู่เคียงข้างไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะตัดสินใจอย่างไร นอกจากนี้ อยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองและรับประกันว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวจะปลอดภัย และสามารถช่วยหยุดพฤติกรรมความรุนแรงได้จริง กรณีคู่รักอายุน้อยทำร้ายกัน กฎหมายยังไม่คุ้มครอง หากไม่ใช้คู่สามีภรรยา เสนอให้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุความรุนแรงต่อครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ คาดหวังให้มีหน่วยงาน one stop service เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ถูกกระทำ ขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมที่ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง รวมถึงตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง“ ดร.วราภรณ์ เสนอแนะ
นัฏญา วรชินา ผอ.กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า รายงานสถานการณ์ความรุนแรงของมูลนิธิ เชื่อมโยงกับข้อมูลศูนย์พึ่งได้ ปี 2566 พบสตรีถูกกระทำความรุนแรง 38 คนต่อวัน ปี 2567 เพิ่มเป็น 42 วันต่อวัน อีกทั้งข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวทำร้ายร่างกายอันดับหนึ่ง ผู้กระทำ แฟน สามี พ่อ แต่ผู้หญิงให้โอกาส ไม่ยุติความสัมพันธุ์จากหลายปัจจัย ทั้งผู้ชายมีอำนาจทางการเงิน บางกรณีช่มขู่หลังเลิกรา อุปสรรคแก้ปัญหา คือ การเพิกเฉยนำมาสู่การสูญเสียในครอบครัว กรมฯ มีศูนย์ป้องกันและลดความรุนแรงกระจายทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ด้านกฎหมายมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยกระดับความช่วยเหลือผ่านศูนย์เร่งรัดจัดสวัสดิภาพประชาชน นอกจากนี้ ทำพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัว นำร่อง 5 พื้นที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจะขยายผลในระดับท้องถิ่น ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นไลน์”เพื่อนครอบครัว” บริการให้คำปรึกษาเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ครอบครัว เป็นการสื่อสารเชิงบวก ร่วมสร้างสังคมไร้ความรุนแรง
สำหรับ “Second Chance” หนังโฆษณากระตุกสังคมจากแคมดปญนี้ ทสร บุณยเนตร หัวหน้าครีเอทีฟ บ. บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า การทำหนังในแคมเปญยุติความรุนแรงในครอบครัวเพื่อดึงให้คนสนใจต้องเป็นไอเดียที่ดูแล้วอิมแพค ฟังแล้วสะเทือนใจ เพื่อแข่งกับสิ่งเร้ามากมายในสังคม กรณีน้องจีจี้สะเทือนใจมาก เป็นคดีตัวอย่างที่เชื่อว่าหากสังคมได้เห็นจะรู้สึกถึงความโหดร้ายของความรุนแรงต่อสตรี ทั้งนี้ ได้ปรึกษาครอบครัวน้องจีจี้เพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้สังคมรับทราบในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณา อย่าให้โอกาสความรุนแรงกับคนอื่น แล้วเก็บโอกาสนั้นให้กับตัวเอง เพราะที่จริงแล้วน้องจีจี้ยังมีโอกาสในชีวิตอีกเยอะ น้องจีจี้กำลังจะเป็นนักร้อง เป็นนักแสดง ได้เล่นหนังเรื่องแรกไปแล้ว แต่การให้โอกาสนี้กับความรุนแรงทำให้ไม่มีโอกาสให้กับตัวเอง และมีสารตั้งต้นใช้ไอจีของจีจี้จริงๆ ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวมากว่า 1 ปี เผยแพร่หนังโฆษณานี้
“ หนังเรื่องใหม่ของจี้ เรารวบรวมรูปของจีจี้และใบหน้าของเธอมากกว่า 4,000 ภาพ และวิดีโอ รวมถึงมีต้นแบบใบหน้าน้องมินนี่ที่ใบหน้าคล้ายคลึงกับพี่สาว ทำให้ได้ภาพนักแสดงที่หน้าเหมือนจี้ เป็นการสร้างสรรค์ด้วยเทคนิค AI Deepfake หลังปล่อยทีเซอร์ไปมีกระแสตอบรับดีมาก มียอดวิวและยอดแชร์จำนวนมาก ทำให้คนในสังคมได้ตระหนักความรุนแรงต่อสตรี อยากชวนคนในสังคมแชร์สร้างการรับรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากการทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ กว่า 10 ปี เห็นการให้โอกาสของผู้ถูกกระทำ แต่กลับรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น การให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต “ ครีเอทีฟย้ำความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่ร้ายแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง