เที่ยวเมืองรถม้าลำปาง สัมผัสวิถีคนกับม้า

ลำปาง เมืองแห่งมนเสน่ห์รถม้าของภาคเหนือ จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งรถม้า” เพราะหากได้มาเยือนที่นี่ ประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาดเลยคือ การนั่งรถม้า คือความตั้งใจในการเดินทางมาที่ลำปางในครั้งนี้ พร้อมกับไปฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ของรถม้าในจังหวัดลำปาง ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมาถึงจ.ลำปาง มุ่งหน้าสู่ปลายทางที่ บ้านม้าท่าน้ำ สถานที่ซึ่งเป็นทั้งบ้าน คอกม้า และแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับรถม้าลำปาง ชายร่างกายกำยำ สวมใส่เสื้อหม้อฮ่อม ผ้าขาวม้าคาดเอว ไว้หนวดคล้ายกับนายจันทร์หนวดเขียวทำให้ใบหน้าดูดุดัน แต่พอได้กล่าวทักทายกัน ใบหน้าของชายผู้นี้กลายเป็นคนที่อบอุ่นดูใจดีมีนามว่า ครูบั๊มพ์-ว่าที่ร้อยเอกสุพจน์ ใจรวมกูล ผู้เป็นสารถีขับรถม้าแห่งนครลำปาง

บ้านม้าท่าน้ำ แหล่งเรียนรู้เรื่องราวรถม้าลำปาง

ภายในบ้านม้าท่าน้ำ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสร้างเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย แต่ด้วยความตั้งใจของครูบั๊มพ์ ที่อยากจะถ่ายทอดเรื่องราวและองค์ความรู้เกี่ยวรถม้าให้กับนักท่องเที่ยว จึงได้ต่อเติมด้านข้างของบ้านสร้างเป็นพื้นที่เก็บรวบรวมภาพถ่ายและอุปกรณ์ที่ใช้กับรถม้า จัดทำเป็นนิทรรศการย่อมๆ ตามกำลังให้เหล่าผู้มาเยือนได้ดู ส่วนอีกฝั่งของบ้าน คือคอกม้า แบ่งเป็น 3 คอก มีม้าที่อาศัยอยู่ชื่อจูมง ฟ้าใหม่ และรัชฎา พร้อมโรงเก็บรถม้ที่มีพร้อมอุปกรณ์การซ่อม สายควบคุม บังเหียน ที่ต้องเตรียมให้พร้อมออกไปให้บริการนักท่องเที่ยว

คอกม้า ของจูมงและฟ้าใหม่

ครูบั๊มพ์ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่จำความได้ก็คลุคลีอยู่กับม้า เพราะพ่อเป็นสารถีขับรถม้า แต่ด้วยร่างกายที่เริ่มแก่ชราจึงได้หยุดทำหน้าที่ และตนก็มารับช่วงต่อ ในวัย 8 ขวบก็ฝึกจับสายขับและฝึกบังคับม้า พอเริ่มชำนาญก็ลองออกไปวิ่งรับจ้าง แต่ในช่วงนั้นยังไม่ได้มาทำอาชีพสารถีรถม้า เพราะทำอาชีพครูอยู่ด้วย จนกระทั่งตัดสินใจยุติบทบาทครูลง และหันมาเป็นสารถีอย่างเต็มตัว เพราะได้อยู่บ้านกับครอบครัว มีรายได้เลี้ยงชีพ และเป็นสิ่งที่ทำด้วยความรัก จากนั้นจึงได้คิดที่จะทำบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้รถม้าขึ้นมา

ครูบั๊มพ์ อาบน้ำให้รัชฎาเตรียมพาไปขับรถม้า

ภาพสีขาวดำ ใส่กรอบอย่างดี ที่แขวนไว้ตามผนัง เป็นภาพเก่าในอดีตที่ทำให้เห็นวิวัฒนาการของรถม้าที่เปลี่ยนจากล้อไม้เป็นเป็นล้อเหล็ก ครูบั๊มพ์ไม่รีรอนั่งเล่าให้ฟังว่า รถม้าถูกนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยใช้เฉพาะในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ได้มีการพระราชทานรถม้าทรงวิกตอเรียมาใช้ที่ลำปาง รวมถึงทั่วประเทศ ในปี 2450 เพื่อ ใช้เป็นพาหนะของเจ้านายในการเดินทางมาว่าราชการในต่างจังหวัด เนื่องจากในอดีตพาหนะหลักที่ใช้กันทั่วไปคือเกวียน

รถม้า ก็ติดไฟแดงเคารพกฎจราจร

ในสมัย เจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย ได้รับพระราชทานรถม้าในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รถม้าถูกใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในลำปาง และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเกินกว่า 100 คันโดยใช้ทั้งเป็นพาหนะของคนชั้นสูงและรถม้ารับจ้าง ซึ่งในยุคนี้คนขับจะเป็นชาวอินเดียที่มาอาศัยอยู่ในลำปาง ประกอบกับมีรถไฟสายแรกที่ตัดผ่านลำปาง จึงยิ่งทำให้รถม้าได้รับความนิยม จนมีสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง ต่างจากจังหวัดอื่นๆที่รถม้ค่อยๆเลือนหายไป

หัวใจสำคัญของสารถีหรืออาชีพขับรถม้า คือการมีช่างซ่อมรถม้าที่เชี่ยวชาญมีการทำอย่างจริงจัง จากรถม้าที่เป็นล้อเกวียนไม้ ไม่ทนต่อการใช้สัญจรในทางขรุขระที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ช่างในสมัยนั้นก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นล้อซี่เหล็ก คล้ายเป็นล้อจักรยาน แต่ยังคงโครงสร้างเดิมสำหรับผู้โดยสาร  จึงทำให้รถม้ายังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้เห็นจนถึงปัจจุบัน โดยมีรถม้าที่ให้บริการทั้งสำหรับท่องเที่ยวและรับจ้างกว่า 90 คัน แต่ผู้ขับมีประมาณ 70-80 คน ที่ต้องมีความรู้เรื่องซ่อมรถม้าและเป็นครูฝึกม้าด้วย

ความโดดเด่นของรถม้าที่ลำปางนอกจากคลาสสิคแล้ว รถแต่ละคันจะมีการตกแต่งดอกไม้นานาสีสันให้ดูสวยงาม บางคันม้าก็มีการแต่งตัวให้ดูน่ารักด้วย ที่นี่ยังมีมุมทำของที่ระลึกสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวได้พกติดตัวหรือจะนำไปเป็นของขวัญก็ได้  หลังจากนั้นครูบั๊มพ์จะพารัชฎา ม้าหน้าตาใจดี รูปร่างปราดเปรียว จะให้บริการพาเราไปชมเมืองลำปางในช่วงเย็นด้วย แต่ก่อนจะไปก็พามาอาบน้ำอาบท่าให้ผ่อนคลาย จากนั้นกผ้แต่งตัวเตรียมใส่สายบังคับ พร้อมกับไปเจอกับสารถีคนอื่นๆ อีกกว่า 10 คัน พาเราและชาวคณะนั่งรถม้าชมเมือง

พระพุทธรูปไดบุตสึ

จากจุดเริ่มต้นที่เซ็นทรัลลำปางจนถึงสถานีรถไฟลำปาง  รถม้าพร้อมสารถีค่อยพาเราออกตัวอย่างช้าๆ ตามจังหวะการควบคุม บนถนนที่พลุกพล่านไปด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ แต่ม้าก็ยังควบคุมสติได้เป็นอย่างดี ไม่มีการตื่นกลัว ตกใจ เมื่อไแดรม้าก็ต้องติดไฟแดงเหมือนกับรถทั่วไป แถมผู้คนที่นี่ไม่โวยวายหรือบีบแตรไล่ในยามที่ม้าเคลื่อนตัวช้า ภาพเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจเลยว่า ม้าและคนลำปางคือ วิถีแห่งสายสัมพันธ์เหมือนญาติสนิทและคนในครอบครัวจริงๆ

สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณฯ

วันสุดท้ายในจ.ลำปาง เราแวะมาวัดพระธาตุดอยพระฌาน ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาในต.ป่าตัน อ.แม่ทะ รายล้อมไปด้วยต้นไม้เขียวขจีและอากาศอันบริสุทธิ์ บรรยากาศในวัดมีการตกแต่งราวกับว่ามาเยือนญี่ปุ่น เพราะมีไฮไลท์คือ พระพุทธรูปไดบุตสึ สีเขียวดั่งหยกองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 14 เมตร ประดิษฐานเด่นตระหง่านอยู่บนยอดเขา เหมือนกับองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดโคโตคุ เมืองคามาคุระ ประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว เดินต่อมายังวิหารสมเด็จองค์ปฐม ระหว่างทางแวะกราบขอพรที่ศาลา 5 พระองค์ และพระธาตุดอยพระฌาน จากมุมนี้เราจะเห็นประติมากรรมต้นโพธิ์สีทองสุดวิจิตรด้านหลังของผนังวิหาร

พระธาตุดอยพระฌาน

เราเดินชมตังวิหารไปเพลินๆ จนถึงจุดชมวิวบันไดนาค ที่ทองเห็นวิวเมืองอ.แม่ทะ อันงดงาม ก่อนจะเข้าไปสักการะพระประธานในวิหาร สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณ พิชิตมารวิกรม ปฐมสัมมาสัมโพธิญาณ ศรีพระฌานบรรพต  ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วสีทองอร่าม ผนังด้านในโดยรอยแกะสลักปิดทองที่งดงามอ่อนช้อย โดยเฉพาะชิ้นงานแกะสลักเหนือบานประตูฝั่งตรงกับข้ามกับพระประธานที่เป็นรูปพญานาคกระหวัดเกี่ยวรอบองค์พระธาตุสีขาวนั้นถือได้ว่าวิจิตรงดงาม

จุดชมวิวบันไดนาค

มาต่อที่พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี แหล่งผลิตชามตราไก่ในไทย ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกระบวนการผลิตชามตราไก่อย่างใกล้ เริ่มจากนิทรรสการที่บอกเล่าเรื่องราวของชามตราไก่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน ต่อมาเมื่อชาวจีนได้อพยพไปอยู่ในประเทศต่างๆ รวมถึงที่ไทย อิทธิพลการใช้ชามตราไก่ก็ถูกเผยแพร่ด้วย สำหรับในไทย อาปาอี้ (ซิมหยู) แช่ฉิน ชาวจีนแคะที่อพยพมาอยู่ไทย  เกิดที่ต.กอปี อ.ไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง อยู่ตอนใต้ของประเทศจีน เมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านการผลิตถ้วยชาม ได้ก่อตั้งโรงงานของตนเองขื่อ โรงงานธบดีสกุล ที่มีการผลิตถ้วยขนม ถ้วยน้ำจิ้ม และชามตราไก่แบบดั้งเดิมใช้เตาเผามังกร ปัจจุบันยุพิน ธนบดีสกุล ลูกสาวคนโต ได้สานต่อกิจการ

ชามตราไก่ สีทอง
สาธิตวาดชามตราไก่
ถ้วยขนม จากโรงงานธนบดีสกุล

ภายในมีการจัดแสดงชามตราไก่ตั้งแต่รุ่นแรก วิวัฒนาการมาจนถึงปัจุบัน ด้วยเอกลักษณ์ของชามที่มีไก่ ตัว หงอนสีแดงหางสีดำ ต้นกล้วยสีเขียวอ่อน ต้นหญ้าสีเขียว ดอกเบญจมาศสีชมพูม่วง ตกแต่งชามให้สวยงาม ได้มีการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของที่ระลึก ของชำร่วย ที่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ชามตราไก่มากขึ้น และมีสาธิตวิธีการทำชามตราไก่ การวาดลวดลาย และได้ชมเตามังกรโบราณ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว  จะใช้การเผาแบบสมัยใหม่เผื่อให้เผาชามได้ในจำนวนเยอะ และความคุมไฟได้ หลังจากเดิมชมก็มาทำกิจกรรมเพ้นท์ชามสไตล์แบบที่เราชอบ งานนี้บอกเลยว่าต้องงัดทักษะศิลปะอันน้อยนิดออกมาวาดเลยทีเดียว

นิทรรสการเส้นทางการก่อตั้งโรงงาน

ลำปางยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่น่าไปเยือนมากๆ แต่คราวนี้เต็มอิ่มกับเรื่องราวของรถม้า ที่ไม่เพียงแค่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด แต่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชาวลำปางในการอนุรักษ์วิถีชีวิตคนกับรถม้าให้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน

เตามังกรโบราณ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลำปาง....เมืองในฝัน

“ นั่งรถม้า..ตามหาชามตราไก่ ไหว้พระธาตุลำปางหลวง”เคยเป็นความใฝ่ฝันของสุนีย์ เจ้าของเพจ “ตัวแทนหมู่บ้าน” มาตั้งแต่วัยเด็ก คราวนี้เมื่อได้มาเที่ยวจังหวัดลำปางอีกครั้ง สุนีย์จึงไม่รอช้าที่จะชวนแฟนรายการไปเดินตามรอยทริปในฝันด้วยกันแบบครบครันทีเดียว

ดีพร้อมหนุนศก.ภาคเหนือนำทัพ 15 ค่ายรถชั้นนำจัดงานมอเตอร์โชว์ที่ลำปาง

ดีพร้อมหนุนศก.ภาคเหนือ นำทัพ 15 ค่ายรถชั้นนำจัดงานมอเตอร์โชว์ที่ลำปาง ประกาศอัดโปรโมชั่นเพียบ พร้อมดึงนักธุรกิจภาคเหนือกว่า 100 ราย จับคู่ธุรกิจ หวังสร้างความคึกคักให้พื้นที่ คาดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 115 ล้านบาท

ทล.เร่งปรับปรุงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 กับทางหลวงหมายเลข 11 จ.ลำปาง

กรมทางหลวง เดินหน้าปรับปรุงทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 กับทางหลวงหมายเลข 11  หวังแก้ปัญหาจราจรช่วงเทศกาลฯและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนแยกภาคเหนือ จ.ลำปาง