สองนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร/สหรัฐ คว้า'รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล'ปี2567

จากซ้ายไปขวา ศ.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ดและศ. ดร.โทนี ฮันเตอร์  

ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ  อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์  วัฒนาภา ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จ      เจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 33 ประจำปี 2567 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช              

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 สาขาการแพทย์     ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. โทนี ฮันเตอร์  (Professor Dr. Tony Hunter, Ph.D.) จากสหราชอาณาจักร / สหรัฐอเมริกา    สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกในงานวิจัยเกี่ยวกับการสังเคราะห์โปรตีน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร  ต่อมาเป็นนักวิจัยที่สถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน มีผลงานก้าวหน้าจนได้รับแต่งตั้งสูงขึ้นตามลำดับจนเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันซอล์ก และนักวิจัยอาวุโส (Renato Dulbecco Chair) ของศูนย์มะเร็งแห่งสถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา  สหรัฐอเมริกา

ผลงานวิจัยสำคัญของศาสตราจารย์ ดร.โทนี ฮันเตอร์ คือการค้นพบเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับเอนไซม์ ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinase) และกระบวนการฟอสโฟรีเลชั่น (Phosphorylation) ซึ่งเป็นการเติมโครงสร้างหมู่ฟอสเฟตที่กรดอะมิโนไทโรซีนในโปรตีน กระบวนการดังกล่าวถือเป็นกลไกพื้นฐานของการส่งสัญญาณภายในเซลล์ ที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์  การกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส ที่ผิดปกติ เช่น โดยไวรัสหรือสารที่ก่อโรคมะเร็ง  ซึ่งสามารถส่งสัญญาณกระตุ้นดังกล่าวผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ นำไปสู่การทำงานของกระบวนการเติมโครงสร้างหมู่ฟอสเฟตที่มากผิดปกติของโปรตีนภายในเซลล์  เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้  

ความเข้าใจในกลไกดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ได้โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส  เกิดการพัฒนายาที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพจำนวนมากมาย ไม่น้อยกว่า 86 ตัว  เช่น อิมาทินิบ (Imatinib, Gleevec™) ซึ่งใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว  และสร้างความก้าวหน้าให้กับการรักษาและวิจัยด้านโรคมะเร็งอย่างกว้างขวาง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์ได้หลายร้อยล้านคนทั่วโลก

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่   ศาสตราจารย์โจนาธาน  พี. เชฟเพิร์ด (Professor Dr. Jonathan P. Shepherd, D.D.Sc,Ph.D.) จากสหราชอาณาจักร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล  ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมทางอาชญากรรม ความมั่นคง และการสืบสวนมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์  สหราชอาณาจักร

ศาสตราจารย์ ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาบัณฑิตจากการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปาก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านความรุนแรงของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์กว่า 22 ปี

ผลงานสำคัญของศาสตราจารย์ ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด คือการริเริ่มสร้าง “คาร์ดิฟฟ์โมเดลเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง” (Cardiff Model for Violence Prevention) โดยที่การบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นปัญหาสาธารณะที่สำคัญของประเทศก่อให้เกิดการสูญเสียที่มีนัยสำคัญ คือ การบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต รวมถึงเกิดผลกระทบต่ออารมณ์ และจิตใจตลอดจนต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ผลการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์เชฟเพิร์ด พบว่า ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงนำไปสู่การที่ผู้ป่วยมารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลจำนวนมาก แต่เหตุดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ได้มีการรายงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้รับทราบมากถึงร้อยละ 75 จึงได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของเหตุรุนแรงระหว่างโรงพยาบาลและตำรวจ เพื่อวิเคราะห์สถานที่ซึ่งเกิดเหตุบ่อย วันเวลาที่เกิดเหตุ ขนาดและประเภทของความรุนแรงนำไปสู่การสร้างเป็นคาร์ดิฟฟ์โมเดล สามารถใช้ในการวางแผนป้องกันเหตุความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องมาแผนกฉุกเฉินลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 42 อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการบาดเจ็บได้จำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.เชฟเพิร์ด ได้ริเริ่ม และพัฒนาคาร์ดิฟฟ์โมเดล ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2544 จนสมบูรณ์แบบและนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเมืองคาร์ดิฟฟ์ เมืองหลวงของเวลส์ ในปี พ.ศ.2544 และต่อมาในกรุงลอนดอนพบว่าได้ผลดีมากในการลดความเสียหายจากเหตุความรุนแรง จึงถูกนำไปใช้ต่อทั่วสหราชอาณาจักร และต่อมาในอีกหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ โคลอมเบีย จาเมกา แคนาดา และสหรัฐอเมริกา องค์การอนามัยโลกยังได้นำไปใช้สำหรับการป้องการความรุนแรงในเด็ก รวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้นำไปประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน

คาร์ดิฟฟ์โมเดล  จึงเป็นเครื่องมือและนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับการลดเหตุความรุนแรงในชุมชน ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้จำนวนมาก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนต่างๆ  และได้รับการยอมรับในหลายทวีป เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

ในปีนี้     มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 รวมทั้งสิ้น 73 ราย จาก 29 ประเทศ อีกทั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้นำรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อระหว่างปี (2564 – 2566) มาพิจารณาร่วมด้วย และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ  ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นประธาน  พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ในระยะเวลา 32 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม 96 รายเป็นคนไทย 4 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับนายมีชัย วีระไวทยะ  ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552

มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจำนวน 6 ราย  ซึ่งต่อมา ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน ได้แก่   (1) ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2548

(2) ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2551

(3) ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ จากญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิด สเตรฟโตมัยซีส เอเวอร์มิติลิต จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin เพื่อใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558

(4) ศาสตราจารย์ตู โยวโยว จากจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม China Cooperative Research Group on Qinghaosu and its Derivatives as Antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558

(5) เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ จากสหราชอาณาจักร ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้าง และดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและลดความเป็นสิ่งแปลกปลอม (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายากลุ่มใหม่ จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค  ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2561

ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก จากฮังการี / สหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ดรู ไวส์แมน จากสหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2564 จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก  ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2566

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ.


———————–

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง