วิทยาลัยนวัตกรรม ธรรมศาสตร์ หนุนไทยสู่ชาติพร้อมใช้ AI ขับเคลื่อนประเทศ

  ปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ การเงิน การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU) ร่วมกับ International Academy of CIO (IACIO) จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติประจำปี 2024 IACIO Annual Conference 2024 ภายใต้หัวข้อ “AI Strategic Transformation Principles and Practices for CIOs” เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันธุรกิจให้มีความยั่งยืนและเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิต การแพทย์ การเงิน และการขนส่ง หรือการนำเอไอไปใช้ในภาครัฐบาล และจัดการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ

พร้อมเจาะลึกประเด็นสำคัญหลายประการ อาทิ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคและระดับโลก ความท้าทายในการนำ AI ไปใช้ในภาครัฐบาล และจัดการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แนวทางการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ การจัดการ AI การกำหนดบทบาทกลุ่ม CIO ที่ควรจะเป็นสำหรับการนำ AI มาใช้ในองค์กรในโลกยุคใหม่ ฯลฯ

สำหรับ IACIO เป็นสถาบันส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาด้านความเป็นผู้นำของผู้บริหารสูงสุดที่บริหารสายงานระบบข้อมูล หรือ CIO(Chief Information Officer)  ด้านการประยุกต์ใช้และนวัตกรรม ICT เช่น เทคโนโลยีมือถือ (Mobile), IoT และ Blockchain โดยผู้ร่วมก่อตั้งประกอบด้วยประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศไทย ปัจจุบันมีสมาชิก พันธมิตร และความร่วมมือครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคกว่า 50 ประเทศ อาทิ จีน  เนเธอร์แลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร เวียดนาม อิตาลี รัสเซีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และ องค์กร NGO และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น APEC, OECD และ ITU


ในขณะเดียวกันภายในงาน IACIO Annual Conference 2024 ตลอดระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2567 ยังเจาะลึกประเด็นสำคัญหลายประการ  อาทิ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งเป็นการประเมินเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของภาครัฐในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยให้เรามองเห็นแนวโน้มในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการทำงานของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดรับกับความคาดหวังและความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในการนำ AI ไปใช้ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูล ความเป็นส่วนตัว รวมถึงข้อกำหนดทางกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับการควบคุมและกำกับดูแลการใช้งาน AI โดยมีนโยบายการพัฒนาทักษะบุคลากรและสร้างความโปร่งใสในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ รวมทั้ง แนวทางการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ (Professional Network) เครือข่ายวิชาชีพที่เข้มแข็งจะช่วยให้บุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการนำ AI ไปใช้ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า ในปีนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ IACIO Annual Conference 2024  ในหัวข้อ “AI Strategic Transformation Principles and Practices for CIOs”  เนื่องด้วยปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ การเงิน การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ทั้งนี้  ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการนำเอไอเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ไม่ตรงกันด้วยปัจจัยต่างๆ แต่ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าทุกสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับเอไอในการเรียนรู้ของนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์มีนโยบายการขับเคลื่อนการใช้ AI เพื่อยกระดับสถาบัน โดยมีการปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน (Personalized Learning) ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่งเอไอจะช่วยจัดการกระบวนการบริหารจัดการ ในการจัดตาราง การจัดทรัพยากร และการลงทะเบียนนักศึกษา ช่วยลดภาระงานซ้ำซ้อนและเกิดการประเมินผลเป็นไปอย่างรวดเร็ว

อธิการบดี มธ. กล่าวต่อว่า โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง ม.ธรรมศาสตร์ เห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา คาดว่าภายใน 2 เดือนนับจากนี้จะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งกรอบแนวทางในการนำเอไอมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างถูกต้องเหมาะสม และให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยมีการปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน (Personalized Learning) ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการมากขึ้นรวมถึงการใช้เอไอในการบริหารจัดทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ในการใช้เอไอจะต้องคำนึงถึงหลักความถูกต้องตามหลักจริยธรรม ความสมดุลของการใช้เอไอที่เหมาะสม เพราะเอไอไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่อง ยังต้องพึงพาความคิดสร้างสรรค์หรือกำลังของคนด้วย

การพัฒนานักศึกษาซึ่งจะเป็นแรงงานให้ตอบโจทย์ในตลาดแรงงานเอไอ  อธิการบดี มธ. มีมุมมองว่า ในอนาคตแรงงานเอไอจะมีสัดส่วนการตกงานน้อย เนื่องจากมีความต้องการสูง ดังนั้นไม่ใช่แค่สาขาเทคโนโลยีที่จะมีทักษะนี้ แต่ทุกสาขาในมหาวิทยาลัยจะต้องมีการประยุกต์ใช้เอไอเข้ากับสิ่งที่เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในวิทยาลัยนวัตกรรมก็มีคอร์สเรียนเอไอ สำหรับนักศึกษาสาขาต่างๆ ในช่วงใกล้เรียนจบ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

โดยได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่มีการใช้เอไอในการขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก คาดว่าความต้องการด้านเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 เท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2570 – 2580 ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับ AI จะสูงถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจท้องถิ่นในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ดังนั้นการจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้จะเป็นเวทีที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาธุรกิจในทิศทางที่ยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ต่อยอดไปถึงการประยุกต์ใช้ในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาในอนาคต” อธิการบดี มธ.กล่าว

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช  นวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ทักษะเอไอ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีความรู้เบื้องต้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการต่อยอดสู่ระดับมืออาชีพ และสิ่งสำคัญของแรงงานเอไอ คือ การเข้าใจบริบทของการใช้เอไอในองค์กรนั้นๆ เพราะแต่ละตำแหน่งมีการใช้เอไอที่แตกต่างกัน เพื่อการบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความต้องการขององค์กร จะต้องมีบุคคลากรที่ใช้เอไอในทักษะต่างๆ ในการเรียนการสอนจึงไม่ใช่แค่การสร้างวิศวกรเอไอ หรือผู้เชี่ยวชาญเทคนิคด้านเอไอ แต่หัวใจหลักคือ การสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรที่ต้องการจ้างแรงงานเอไอ เพื่อออกแบบหลักสูตรหรือวิชาที่เหมาะสม  

ด้านบทบาทของ CIO กับการนำเอไอมาใช้ในองค์กร ดร. ฌอง-ปิแอร์ อัฟเฟรต ประธานกรรมการ IACIO กล่าวว่า ในฐานะที่ IACIO เป็นสมาคมของ CIO  ระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารสนเทศจากทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้มุมมองของ CIO ในการปรับเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรในยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีการก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและซับซ้อน จนทำให้การบริหารจัดการองค์กรจำเป็นต้องอาศัยแนวทางใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้ CIO สามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประธานกรรมการ IACIO กล่าวต่อว่า บทบาทของ CIO ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้วางกลยุทธ์เพื่อให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างมีคุณค่าและเกิดประสิทธิผลสูงสุด การเตรียมความพร้อมในด้านทักษะ ความรู้ และการเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยถือเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการนำเอไอมาใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการจัดการและการกำกับดูแล จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ชัดเจน มีความโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับตามหลักจริยธรรม การกำกับดูแลการใช้งานอย่างถูกต้องจะช่วยให้องค์กรมั่นใจว่าเอไอไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังสอดคล้องกับมาตรฐานด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

กำพล ศรธนะรัตน์ นายกสมาคมซีไอโอไทย กล่าวว่า เอไอ เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน อย่างที่ทุกคนรู้จักดีและมีการใช้งานกันมากขึ้น อย่าง ChaiGpT ที่มีข้อมูลต่างๆถูกป้อนเข้าไปในระบบ เมื่อมีผู้ใช้งานในการสั่งการก็สามารถที่จะผลิตคำตอบให้ผู้ใช้งานได้ เพราะข้อมูลถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเอไอ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลต่างๆ ก็จะเกิดการเผยแพร่อย่างไม่จำกัด จึงต้องมีเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเอไอสามารถสร้างระบบป้องการแฮกได้ แต่ก็จะมีการสรเอเพื่อมาแฮกข้อมูลอีก  ดังนั้นความปลอดภัยในการใช้เอไอจึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด  

“ทั้งนี้ในมุมของการนำเอไอมาใช้ในองค์กร สิ่งสำคัญคือ ศักยภาพขององค์กรในการนำเอไอมาใช้งานมากเพียงพอหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคลหรือเครื่องมือ และเมื่อมีการนำเอไอมาใช้บุคลากรเดิมขององค์กรการไล่ออกไม่ใช่แนวทางพัฒนาองค์กร ควรจะมีการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Reskill)  เพื่อให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีในอนาคต” กำพล ทิ้งท้าย.

แรงงานเอไอในองค์กร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาผู้บริโภคเผย 3 ปี พบคนไทยเสียหายจากภัยออนไลน์สูงถึง 65,000 ล้านบาทต่อปี!

สภาผู้บริโภคเผย 3 ปี พบคนไทยเสียหายจากภัยออนไลน์สูงถึง 65,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 180 ล้านบาทต่อวัน ครึ่งแรกปี 2567 สถิติร้องเรียนสูงถึง 1,386 กรณี จากช่องทางเฟสบุ๊คสูงสุด เตรียมเปิดเวทีสัมมนาใหญ่ “โครงการสานพลังอาเซียนบวกสาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์” ครั้งแรกในอาเซียน อัพเดทกลโกง ถกหาความร่วมมือที่เข้มแข็ง 29-30 ส.ค.นี้

กรอบการพัฒนา AI Roadmap ขององค์กร

ในยุคที่ AI เป็นประเด็นสุดร้อนแรงในทุกวงการ องค์กรต้องการได้ชื่อว่าได้ นำ AI มาใช้งานแล้ว  เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย และ มีประสิทธิภาพ มีความพยายามส่งคนไปอบรมใช้งาน Chatbot เพื่อช่วยทำงานด้านการตลาด การใช้วาดรูป วาดกราฟ หรือ ช่วยจัดทำเอกสารวิเคราะห์รายงานต่าง ๆ