พก. เร่งเครื่องผู้ประกอบการจ้างงานคนพิการ ตามกม.กำหนด สัดส่วนพนง. 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ สนับสนุนให้คนพิการมีงานทำมากขึ้น โดยลงพื้นที่เยี่ยมคนพิการที่ทำงานในสถานประกอบการของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดน้อยลง ในทางตรงกันข้ามเรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นจำนวนคนที่อยู่ในวัยแรงงานจะน้อยลง การที่จะส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการที่มีศักยภาพและมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่าคนปกตินั้นเป็นเป้าหมายของกระทรวง พม. พก. ที่ขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งดำเนินการจ้างงานคนพิการให้ครบถ้วนตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด

20 พ.ย.2567- นางณฐอร อินทร์ดีศรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กล่าวว่า กระทรวง พม. โดย พก. มีแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้สิทธิด้านอาชีพคนพิการ และสามารถเข้าถึงสิทธิได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 โดยกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช่คนพิการทุก 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน เศษเกิน 50 คน ขึ้นไป จ้างเพิ่มอีก 1 คน

ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. ให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงาน และได้มีแผนกา.รขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ โดยได้ขอความร่วมมือหน่วยงานของรัฐและนายจ้างฯ ปฏิบัติตามกฎหมายและรายงานผลการจ้างงานคนพิการ นอกจากนี้ ยังมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ให้คนพิการมีงานทำมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ เพิ่มโอกาสให้คนพิการเข้าถึงการสร้างอาชีพ ลดภาระในสังคม สร้างอาชีพที่ยั่งยืนสู่คนพิการ ในการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนพิการ รวมถึงการสร้างสังคมที่บูรณาการเพื่อคนพิการและผู้ดูแลคนพิการให้สามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ตลอดจนการสร้างเสริมเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการและคนพิการให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมในสังคม

ทั้งนี้ จากข้อมูลการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวนสถานประกอบการที่ต้องจ้างงานคนพิการ 14,814 แห่ง ต้องมีการจ้างงานคนพิการตามกฎหมายการจ้างงานจำนวน 69,271 คน แต่ขณะนี้มีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 จำนวน 39,793 คน จัดให้สัมปทานฯ ตามมาตรา 35 จำนวน 16,526 คน และส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 จำนวน 11,058 คน รวมมีการจ้างงานคนพิการ ในสถานประกอบการแล้วคิดเป็นร้อยละ 97 ซึ่งต้องมีการจ้างงานคนพิการเพิ่มอีกร้อยละ 3

นางณฐอร กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์งานด้านคนพิการในปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากที่จะต้องใส่ใจ เพราะการที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ความเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทบทวน และปรับตัวพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นในวันนี้ พก. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมการทำงานของ นางสาวสุกัญญา บุตรโคตร พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ โดนตัดฝ่าเท้า ใส่เท้าเทียม ปัจจุบันทำงานที่ร้านเชสเตอร์ ฟู้ดส์ สาขาสยามสแควร์ ธุรกิจในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมอาหารและรับออเดอร์อาหารให้กับลูกค้า ซึ่งการทำงานในสถานประกอบการเป็นการช่วยสนับสนุนให้โอกาสคนพิการได้ทำงานหาเลี้ยงชีพตนเอง และที่สำคัญทำให้เกิดภาคภูมิใจในตนเอง มีกำลังใจในการทำงาน สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม เห็นคุณค่าของคนพิการในสังคมมากขึ้น

“กระทรวง พม. โดย พก. ตระหนักว่า การกำหนดทิศทางการทำงานด้านคนพิการ จำเป็นต้องพิจารณาบริบทสถานการณ์ ควบคู่กับการประเมินเงื่อนไขของปัจจัยต่าง ๆ หรือสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกทิศทางและแนวทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการบูรณาการความร่วมมือการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ทุกด้าน ทุกระดับ ผ่านเครื่องมือการขับเคลื่อนงานในรูปแบบ นโยบาย กฎหมาย และเครือข่ายทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมได้เห็นถึงความสามารถของคนพิการ สร้างความรู้ความเข้าใจ และการปรับภาพลักษณ์ด้านความคิดของสังคมที่มีต่อคนพิการ โดยตั้งเป้าให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการถูกต้องและครบถ้วนทุกแห่ง”รองอธิบดี พก.กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กกร.เชียงใหม่' จ่อชง 'ครม.สัญจร' เยียวยาผู้ประกอบการน้ำท่วม

นายอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มาหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ปีนี้

‘พิพัฒน์’ ปั้นผู้ประกอบการช่างตัดผม ช่างเสริมสวย อัพสกิลแรงงาน สร้างรายได้สูง มั่นคง ยกระดับฝึมือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการแข่งขันตัดผมและมอบถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันในงานครบรอบ 10 ปี กลุ่มช่างตัดผมชาย ในงาน 10 th Anniversary Barber Society of Thailand 2024