วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกในชื่อ “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา”
พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองอยุธยาได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษาพื้นที่ในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในอยุธยา มีโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม เป็นความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมศิลปากร และกองทุนโบราณสถานโลก (WMF) เพื่อให้โบราณสถานสำคัญกลับสู่สภาพเดิม หลังโครงสร้างต่างๆ ภายในวัดได้รับความเสียหายมหาอุทกภัยในปี 2554
โครงการอนุรักษ์นี้เริ่มตั้งแต่ปี 2555 – 2567 เป็นระยะเวลา 12 ปี ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัญ รวม 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมกิจกรรมหลัก ได้แก่ การศึกษาพื้นที่โดยรอบวัดเพื่อจัดทำแผนการจัดการน้ำ การออกแบบกำแพงป้องกันน้ำท่วมด้านทิศใต้ การสำรวจและบูรณะเมรุทิศเมรุราย 4 องค์ รวมถึงระเบียงคตเชื่อมเมรุทิศ จิตรกรรมฝาผนัง และพระพุทธรูปทรงเครื่องประจำเมรุทิศเมรุราย ตลอดจนการปรับปรุงและเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงศาลาหุ่นจำลองแบบสันนิษฐานวัดไชยวัฒนารามและโมเดลสำริด ซึ่งพิธีปิดโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนารามภายใต้กองทุน AFCP จัดขึ้น ณ วัดไชยวัฒนาราม เมื่อค่ำคืนวันลอยกระทงที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐ ร่วมงาน ประกอบด้วยโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นายโจนาธาน เบลล์ รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ กองทุน AFCP และนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา ร่วมงาน
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดี ศก. กล่าวว่า พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีของสยาม ความยิ่งใหญ่และความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ส่งผลให้อยุธยาได้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมครอบคลุมโบราณสถานและวัดนับ 100 แห่ง ซึ่งวัดไชยวัฒนารามเป็นวัดเก่าแก่และเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในส่วนความร่วมมือในการบูรณะวัดไชยวัฒนารามผ่านโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 12 ปี บ่มเพาะมิตรภาพให้แน่นแฟ้นและยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไทยด้านงานอนุรักษ์ การบูรณะวัดไชยวัฒนารามสำเร็จได้ด้วยองค์ความรู้ งบประมาณ และความร่วมมือของสองประเทศ ความสวยงามที่กลับคืนมาดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอยุธยามรดกโลกมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน และหวังจะมีความร่วมมือในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในอนาคต
นอกจากเปิดศาลาจัดแสดงหุ่นจำลองแบบสันนิษฐานวัดไชยวัฒนารามและโมเดลสำริด โอกาสฉลองความสำเร็จโครงการฯ นายอานันท์ วัฒนธรรม นักโบราณคดี และนายนพสินธุ์ ชัยปาริฉัตร์ สถาปนิก เจ้าหน้าที่กองทุนฯ พาชมตั้งแต่เมรุทิศแรกที่ฟื้นฟูจนครบเมรุ 4 องค์ที่ทำการบูรณะ
นายอานันท์ วัฒนธรรม กล่าวว่า การอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามฯ เป้าหมายรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมของโบราณสถานไว้ ไม่ใช่การซ่อมแซมให้กลับไปสมบูรณ์ วัดเก่าแก่สมัยศตวรรษที่ 17 แห่งนี้ มีงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมหลากหลายประเภทจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ งานโครงสร้าง งานปูนปั้น งานลงรักปิดทองประดับกระจก งานไม้ฝ้าเพดาน งานจิตรกรรม ฯลฯ น้ำท่วมใหญ่กระทบตัวโบราณสถาน ผิวเนื้อปูนและอิฐกร่อนด้วยความชื้นจากพื้นดินและน้ำฝน การอนุรักษ์ในโครงการจึงออกแบบป้องกันน้ำและดีดโครงสร้างที่ทรุดขึ้น โครงการอนุรักษ์นี้นำร่องการทดลองงานอนุรักษ์โบราณสถานโดยไม่ใช้ปูนซีเมนต์ ช่วยลดความชื้น ลดสักกร่อน อีกทั้งใช้เทคนิคจับขอบบริเวณรอยแตก และฉีดน้ำปูน เพื่อระบายน้ำตามพื้นผิว
นายนพสินธุ์ ชัยปาริฉัตร์ สถาปนิก กล่าวว่า การบูรณะเมรุทิศ เริ่มต้นที่เมรุทิศด้านใต้ ที่มีภาพจิตรกรรมเก่าลวดลายพรรณพฤกษาอายุ 400 ปี หลงเหลือมากที่สุดบนผนังด้านตรงข้ามของพระพุทธรูปทรงเครื่อง จิตรกรรมเหล่านี้อนุรักษ์ด้วยการทำความสะอาดซ่อมแซมให้กลับมาแข็งแรง ไม่มีการเขียนซ่อมต่อเติม พระพุทธรูปทรงเครื่อง ซึ่งเชื่อมโยงความต้องการเป็นเทวราชาของพระเจ้าปราสาททองก็ทำความสะอาด ใช้สีน้ำเพื่อการอนุรักษ์ ขณะที่ดาวเพดานซึ่งเป็นงานไม้ เติมไม้ใหม่เพื่อปิดช่องป้องกันนกและค้างคาวมาอาศัย รวมถึงเพิ่มประตูกันนกออกแบบตามเส้นรอบรูปของซุ้มโค้งที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิม เป็นงานติดตั้งกึ่งถาวร ในส่วนการบูรณะระเบียงคด ทางเดินยาว ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปกว่า 120 องค์ ก็ทำความสะอาด กรณีพบเศษชิ้นส่วนที่ประกอบได้ นำมาก่อประกอบเข้ากับพระพุทธรูปที่มีอยู่ รักษาวัสดุดั้งเดิม
การคืนความมีชีวิตชีวาสู่โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามเดินหน้าต่อเนื่อง นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โบราณสถานทุกแห่งในพื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน เพียงแต่วัดไชยวัฒนารามมีสถาปัตยกรรมงดงามตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีความโดดเด่น อดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกษัตริย์สมัยอยุธยา หลังครองราชย์ทรงถวายสร้างวัดไชยวัฒนาราม รูปแบบสถาปัตยกรรมมีกลิ่นอายปราสาทขอม เป็นวัดสำคัญใช้เวลาสร้างตลอดรัชสมัย ภายหลังสร้างวัดไชยวัฒนารามเสร็จ ทรงสร้างปราสาทนครหลวงศิลปะขอม ปัจจุบันคือวัดนครหลวงอีกวัดเก่าแก่อยุธยา
“ แม้โครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนารามภายใต้กองทุน AFCP จะจบลง แต่ยังมีโครงการของกองทุนโบราณสถานโลกอีกส่วนหนึ่งที่จะบูรณะเมรุทิศเมรุราย 1องค์ ส่วนที่เมรุทิศมเมรุรายองค์ที่เหลือกรมศิลปากรจะดำเนินการบูรณะเอง คาดว่าจะแล้วเสร็จภาย 3 ปี ในส่วนของพระปรางค์วัดไชยวัฒนารามที่บูรณะครั้งสุดท้าย 30 ปีก่อน จากการสำรวจโครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง แต่อาจมีปูนฉาบ ปูนสอ ปูนปั้นเสื่อมสภาพตามเวลา อาจจะต้องสำรวจและฟื้นฟูในเวลาต่อมา เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมล้ำค่า สำหรับอุทยานปวศ.พระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมมาก แต่ละวันมียอดผู้เข้าชมหมื่นคน วันหยุดไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นคน ที่น่ายินดีเป็นเกินครึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งวัดไชยวัฒนารามแม้อยู่นอกเกาะมีนักท่องเที่ยวคึกคักมาก “ นายภัทรพงษ์ กล่าวการบูรณะช่วยรักษาความงดงามและมีความชีวิตชีวาสู่วัดไชยวัฒนารามอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม
7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา
คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157
นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า
วธ.สั่งวางมาตรการลดเสี่ยงโบราณสถานตลอดฤดูฝน
13 ก.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย รู้สึกห่วงใยชาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมากที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด
มั่นใจวัดไชยวัฒนารามรอดน้ำท่วม
5 ก.ย.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการประชุมเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวานนี้ ซึ่งกรมชลประทานได้แจ้งการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อรองรับปริ