โลกต้องการการเปลี่ยนแปลงด้านโปรตีนเช่นเดียวกับการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน การลดการพึ่งพาสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนและหันมาสู่พืชจะช่วยลดจำนวนสัตว์ในระบบปศุสัตว์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอาหาร งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 2024 ชี้ว่า ประเทศรายได้สูงควรถึงจุดอิ่มตัวของการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในปี 2025
สำหรับประเทศไทย นับเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ โดยเศรษฐกิจและแรงงานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคการผลิตพืชผลและปศุสัตว์ ในปี 2022 ภาคการเกษตรมีแรงงานคิดเป็นร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ สร้างมูลค่าร้อยละ 8.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมีมูลค่าการส่งออกร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยเนื้อไก่ กุ้ง และปลาทูน่าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ และยังมีส่วนสำคัญในอาหารของคนไทย โดยการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อประชากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 จาก 16.6 กก. ในปี 1990 เป็น 28.1 กก. และในปี 2022 ส่วนการบริโภคอาหารทะเลยังคงสูงที่ 32.4 กก. ต่อคน
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการผลิตสินค้าเหล่านี้กำลังเผชิญความท้าทาย เพราะการผลิตปศุสัตว์ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองในปริมาณมากเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งราคาของพืชผลเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนอุตสาหกรรมกุ้งได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปมีกำไรลดลงเนื่องจากการประมงท้องถิ่นจับปลาได้น้อยลงและต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งอุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหารทะเลจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การขยายพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า การเสื่อมสภาพของดิน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ขัดขวางเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
โดยรัฐบาลไทยได้แสดงเจตนาในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้สู่ระบบที่ยั่งยืน โดยในปี 2021 ได้ประกาศใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเพิ่มมูลค่าสูง ภาคอาหารและการเกษตรในแนวคิด “อาหารแห่งอนาคต” จึงมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบอาหารไทยสู่ศูนย์กลางอาหารที่ยั่งยืน
ดังนั้น Madre Brava ซึ่งเป็นองค์กรสากลด้านการขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อม มีภารกิจในการทำให้อาหารมีความยั่งยืน ดีต่อสุขภาพ และราคาเข้าถึงได้สำหรับทุกคน จึงได้ร่วมทำงานกับกลุ่มภาคประชาสังคม ภาครัฐ และ อุตสาหกรรมอาหารหลากหลายกลุ่มเพื่อสร้างระบบอาหารที่เอื้อประโยชน์สำหรับทุกคน โดยงานวิจัยล่าสุดจาก Madre Brava เรื่อง “ครัวแห่งอนาคต: ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน” ที่จัดทำร่วมกับ Asia Research and Engagement สะท้อนบทบาทของประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการผลิตโปรตีนจากสัตว์ไปสู่โปรตีนจากพืช
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย เผยว่า ประเทศไทยมีที่ดินเพาะปลูก 172,000 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 33.6 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยข้าวเป็นพืชหลัก ใช้พื้นที่เพาะปลูกเกือบครึ่ง รองลงมาคืออ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด สำหรับการผลิตโปรตีนจากสัตว์และอาหารทะเล ในปี 2020 มีการใช้ที่ดินปลูกข้าวโพด 11,500 ตารางกิโลเมตร และข้าว 10,300 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ วัตถุดิบอาหารสัตว์ผลิตในประเทศน้อยกว่า 40% และนำเข้าเกิน 60% รวมถึงข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ที่มีน้ำหนักรวมกว่า 16.8 ล้านตัน ซึ่งผลิตในประเทศได้เพียง 6.7 ล้านตัน
ผอ. Madre Brava ประเทศไทย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตโปรตีนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นผู้ส่งออกโปรตีนสุทธิเพียงรายเดียวในทวีปเอเชีย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร และชื่อเสียงในฐานะครัวของโลกทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนของโลกในอนาคต แต่ในขณะนี้ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าสัตว์และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในด้านราคาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชอาจลดการพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้า ลดการตัดไม้ทำลายป่า และบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ร้อยละ 30 และร้อยละ 50 ภายในปี 2050 แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นในด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการสร้างงาน
“การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ในประเทศไทย 50% ภายในปี 2050 สามารถนำมาซึ่งประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 ล้านล้านบาทและเพิ่มความพึ่งพาตนเอง การสร้างงานสูงสุด 1.15 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช และการประหยัดพื้นที่การผลิตถึง 21,700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้นการสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนนี้มีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทยได้” ผอ. Madre Brava ประเทศไทย กล่าว
หากประเทศไทยจะก้าวสู่ฐานะศูนย์กลางอาหารจากพืชแห่งทวีปเอเชีย ผอ. Madre Brava ประเทศไทย แสดงความเห็นว่า จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนสำหรับภาครัฐ 3 ด้าน 1. ทำให้โปรตีนจากพืชและโปรตีนจากสัตว์มีโอกาสในตลาดเท่าเทียมกัน 2.ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของโปรตีนจากพืช โดยการเสิร์ฟอาหารจาก พืชในงานประชุม และ3. สนับสนุนทางเกษตรกรไทยเพื่อให้สามารถเปลี่ยนมาผลิตพืชผลสำหรับโปรตีนจากพืชได้ รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมในตลาด รัฐบาลควรพิจารณานโยบายภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจำหน่ายโปรตีนจากพืช และทำให้อาหารจากพืชเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสนับสนุนการเลือกอาหารที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน ส่งเสริมการจัดเมนูอาหารที่เน้นพืชในกิจกรรมของหน่วยงานรัฐบาล และเพิ่มตัวเลือกเมนูอาหารจากพืชในโรงอาหารของรัฐ โรงเรียน และโรงพยาบาล
ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงโปรตีนที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ควรตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายโปรตีนที่ยั่งยืน โดยลดราคาผลิตภัณฑ์จากพืชให้เทียบเท่ากับโปรตีนจากสัตว์, ผู้ผลิตอาหาร ควรปรับใช้กลยุทธ์ความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน และ บริษัทให้บริการอาหาร ควรเพิ่มเมนูที่ทำจากพืชและแสดงให้เห็นควบคู่กับเมนูปกติ โดยควรตั้งราคาเมนูจากพืชให้เทียบเท่ากับเมนูปกติเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเลือกซื้อ
ในส่วนของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผอ. Madre Brava ประเทศไทย กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 15% จองการปลดปล่อยรวมทั้งโลก ตัวอย่าง การผลิตโปรตีน 100 กรัม เนื้อวัวปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 49.89 กก. รองลงมาคือกุ้งเลี้ยงปลดปล่อยอยู่ที่ 18.19 กก. ขณะที่ธัญพืชปลดปล่อยอยู่ที่ 2.70 กก. ดังนั้นการเปลี่ยนไปสู่การผลิตโปรตีนจากพืชร้อยละ 50 ภายในปี 2050 สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35.5 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์ 8.45 ล้านคันบนท้องถนนในประเทศสหรัฐอเมริกา
“ สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างความหลากหลายในอาหารการกิน เพราะพอพูดถึงโปรตีนก็จะนึกถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา แต่จริงๆ แล้ว โปรตีนมาจากหลายแหล่งได้ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกันได้ ในอนาคตที่มีพืชมาเป็นทางเลือกให้คนรับประทาน เป็นอนาคตสำหรับคนไทยที่มีโปรตีนจากพืชที่ดีต่อสุขภาพ ได้ดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้อาหารโปรตีนจากพืชแม้จะมีจำหน่ายในไทย แต่ยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยและราคาค่อยข้างสูง อย่างไรก็ตามขณะนี้การดำเนินงานที่สำคัญคือ ภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมที่จะผลักดันอาหารจากพืชให้เข้าถึงได้ง่ายในราคาที่เป็นธรรม เพื่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางอาหารยั่งยืน” ผอ. Madre Brava ประเทศไทย กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทองคำร่วงหนัก ยังน่าลงทุนไหม? I เศรษฐกิจ in focus
เศรษฐกิจ in focus : วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567
จบที่..จันทร์ส่องหล้า | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2567
ทศวรรษแห่งสายสัมพันธ์ ‘อะกิตะ’-‘ไทยแลนด์’ | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์ : วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2567