17 พ.ย. 2567 -ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับ รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมนักศึกษา จากสถาบันอุดมศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.ขอนแก่น ม.อุบลราชธานี และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้โครงการการเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเร่งการเป็นผู้ประกอบการจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศ นำเสนอ Final Pitching กับผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบการของฝรั่งเศส ที่ประเทศฝรั่งเศส
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า การนำเสนอ Final Pitching ครั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่นักศึกษาได้ร่วมหารือเพื่อพัฒนาและทดลองความเป็นไปได้ร่วมกับผู้ประกอบการ และการทดสอบตลาดในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ ที่สามารถเชื่อมต่อกับความทรงจำบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อิฐประหยัดพลังงานที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนให้กับอาคารและออกแบบให้ง่ายต่อการติดตั้ง แพลตฟอร์มบริการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติแบบไพรเวทและปรับแต่งได้สูง สเปรย์เคลือบเพื่อป้องกันและขจัดคราบบนรองเท้าสนีกเกอร์จากธรรมชาติ แพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยผู้เลี้ยงผึ้งป้องกันความเสี่ยงและปรับปรุงการผลิตน้ำผึ้งด้วยข้อมูลเชิงลึกที่ครบครันและแม่นยำ แผ่นปิดแผลสำหรับแผลกดทับที่มีระบบส่งตัวยาได้ถึง 48 ชั่วโมง และผลิตภัณฑ์ Can Care มูส สระผม ฆ่าเชื้อ เเบบไม่ใช้น้ำ สารสกัดธรรมชาติ ทำความสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อผู้ป่วยและยั่งยืนต่อโลก
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยการนำเสนอในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบการของฝรั่งเศส จาก ECAM (École catholique d’arts et métiers) ซึ่งเป็นสถาบันบ่มเพาะผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส นำโดย Ms.Séverine Delavernhe: ECAM LaSalle Lyon Campus Direct Ms. Eerin Monaghan : SME Pole Manager และ Mrs. Caroline Hanras: International relations department Manager เข้าร่วมให้แนวคิดและข้อเสนอแนะแก่นักศึกษา
“การ Pitching ของนักศึกษาในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก โดยนักศึกษาทั้ง 7 คน จาก 5 สถาบันอุดมศึกษา ได้มีการจับคู่กับผู้ประกอบการของฝรั่งเศส ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดในเชิงธุรกิจ และในส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทางกระทรวง อว. และเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ได้มีการหารือความร่วมมือกับ ECAM เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ในอนาคตต่อไป” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว