'เบาหวาน' ไม่ขาดหวาน เมื่อ น้ำตาล อยู่รอบตัวเรา

เนื่องในวันเบาหวานโลกที่จะตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ทำให้เราต้องมาทำความเข้าใจข้อเท็จจริงอีกด้านของน้ำตาล และความหวาน ที่แม้จะพยายามลดปริมาณการบริโภคลงมากเท่าไหร่ หรือหาสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อให้ดีต่อสุขภาพแค่ไหน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ร่างกายคนเราทุกวันนี้ ก็ยังคงรับน้ำตาล และความหวานในปริมาณที่ เกินพอดี อยู่ดี โดยเฉพาะ ผู้ป่วยเบาหวาน

น้ำตาล และ ความหวาน เป็นส่วนหนึ่งของรสชาติในชีวิตประจำวันของคนเรา โดยเฉพาะเมื่อการศึกษาพบว่า รสหวาน ช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้จริงจากการกระตุ้นให้สมองหลั่ง โดปามีน (Dopamine) หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข ออกมา ซึ่งแต่ไหนแต่ไร น้ำตาล ถือเป็นแหล่งพลังที่สำคัญที่สุด และถูกละลายผสมในวิถีชีวิตผู้คนอยู่เสมอ ทั้ง ปรุงรสชาติ ขับเน้นลักษณะอาหาร เช่น ความหนืด สี เก็บถนอมอาหาร รวมทั้งเป็นส่วนประกอบอาหารทางการแพทย์

ขณะที่ เหรียญอีกด้านของความหวานนั้น การศึกษาพบว่า น้ำตาล มีผลกระตุ้นที่ตัวรับตัวเดียวกับ มอร์ฟีน แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า และทำให้เกิดความพึงพอใจได้ การขาดอาจมีผลให้เกิดความอยาก และหงุดหงิดได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม ทางการแพทย์จัดน้ำตาลอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับสารเสพติด

ที่สำคัญ น้ำตาลยังมีผลโดยตรงต่อน้ำหนัก หรือดัชนีมวลกาย (BMI) กระบวนการเมตาบอลิสซึม โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน ยังไม่นับเรื่องหัวใจ หลอดเลือด สมอง การชอบรสหวาน (Sweet preference) และการเลือกอาหารอีกด้วย

ทพญ. ปิยะดา ประเสริฐสม อดีตทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ชี้ประเด็น น้ำตาล ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ป่วยเบาหวาน โดยตรงก็คือ แม้ว่า น้ำตาล คือสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องเลี่ยง แต่พวกเขากลับรับรู้รสหวานได้น้อยกว่าคนปกติ

“คนปกติจะรับรู้รสหวาน เมื่อละลายน้ำตาล 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 แก้ว ผู้ป่วยเบาหวานจะรับรู้รสหวานเมื่อละลายน้ำตาล 1-2 ช้อนโต๊ะ”


นี่เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยฯ บริโภคน้ำตาลมากขึ้น และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัวเมื่อรสหวาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และน้ำตาลอยู่รอบตัวเรา ตั้งแต่เด็กตัวน้อย ไปจนถึงผู้ใหญ่ตัวโต ล้วนตกอยู่ในวงล้อมของความหวานแทบทั้งสิ้น เมื่อสัดส่วนพลังงานจากขนม และอาหารว่าง จากปริมาณที่แนะนำต่อวัน หรือ RDA คือ 10-15 % แต่ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคขนมของเด็กไทยเมื่อปี 2547 กลับพบว่า เด็กไทย 3-5 ปี ได้รับพลังงานจากขนมสูงถึง 23 % RDA เลยทีเดียว และไม่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยมา

“ขณะที่ ปริมาณน้ำตาลที่เด็กควรได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา แต่ในน้ำอัดลมที่อยู่รอบตัวนั้นมีปริมาณน้ำตาลละลายอยู่ถึง 8-12 ช้อนชา ส่วนบรรดาเครื่องดื่มคู่ใจของบรรดามนุษย์ออฟฟิศ ก็มีส่วนผสมของความหวาน และให้พลังงานอยู่ราว 100 – 425 kcal”

เมื่อเทียบเคียงกับผลสำรวจปริมาณการบริโภคน้ำตาลของประชากรไทย ตั้งแต่ปี 2554 – 2565 พบว่า คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ช้อนชาต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ความหวานอยู่รอบตัวเรานั้น ไม่ได้เกินจริงเลย ยิ่งไปกว่านั้น การบริโภคเครื่องดื่มรสหวานที่ใช้น้ำตาล ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานอีกด้วย การพยายาม “ลดหวาน” แต่มองหาสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ดูน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากเอาใจใส่สุขภาพ แต่ยังไม่อยากขาดหวาน

“ถ้าคุณลดน้ำตาล แต่คุณยังใช้สารทดแทนความหวาน นั่นก็เท่ากับว่าคุณก็ยังติดหวาน” ทพญ. ปิยะดา ตั้งข้อสังเกต อีกทั้งยังยืนยันด้วยว่า พฤติกรรมดังกล่าว อาจทำให้แนวโน้มที่จะบริโภคน้ำตาลมีระดับที่มากขึ้น

นั่นก็เพราะ เครื่องดื่มที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล และน้ำผลไม้นั้น ไปเพิ่มความเสี่ยงประมาณ 25% และ 8% ตามลำดับ ขณะที่เครื่องดื่มรสหวานที่ใช้น้ำตาล เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 18% ต่อหน่วยบริโภคต่อวัน ที่สำคัญ ถึงแม้ สารให้ความหวานจะมีหลายชนิด แต่บางชนิดก็จะให้ความหวานจัด และบางชนิดแทบไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการเลย มิหนำซ้ำยังซ้ำเติมความเสี่ยงต่อสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

“การเสพติดความหวาน จะไม่ลดการกินน้ำตาล ก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน จากเครื่องดื่ม จากการบริโภคที่ทุกคนคิดว่าปลอดภัย จริงๆ แล้วมันไม่ปลอดภัย เพราะยังใช้สารทดแทนความหวาน ขณะท่ี คุณเคยเติมน้ำตาลลงอาหารคาวเท่าไหร่ คุณก็ยังเติมเท่าเดิม” ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานอธิบาย

“ถ้าอย่างนั้น ทางเลือก หรือ ทางแก้ ของสมการ “หวานเสพติด” ควรจัดการด้วยวิธีไหน “ควรกินน้ำเปล่า หรือถ้าคำนวณเป็น ก็กินต่อ 1 ครั้ง ไม่เกิน 4 กรัม” ทพญ. ปิยะดา กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ผ่าตัดกระเพาะอาหาร’ ทางเลือกสำหรับผู้ป่วย โรคอ้วน และ ‘เบาหวาน’

หลายท่านเข้าใจว่า ‘การผ่าตัดกระเพาะ’ เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคอ้วนเพื่อการลดน้ำหนักเท่านั้น แท้จริงแล้วการผ่าตัดกระเพาะยังสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ ซึ่งเป็นโรคร่วมอันดับต้น ๆ

ห้ามพลาด รัฐบาลเชิญชวนประชาชนตรวจเบาหวานฟรีตั้งแต่ 1 มิ.ย. 66 - 31 ธ.ค.67 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาสุขภาพของประชาชน ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ห่างไกลจากโรค ป้องกันการเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข

'หมอธีระ' เปิดผลวิจัยจีน ชี้ชัดติดโควิดเสี่ยงเบาหวาน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 203,628 คน ตายเพิ่ม 373 คน รวมแล้วติดไป 643,034,979 คน เสียชีวิตรวม 6,625,861 คน

“ปานเทพ” งัดงานวิจัย ม.ขอนแก่น เรื่องกัญชา ตอบ แพทย์จุฬาฯ พบช่วยบรรเทา เบาหวาน มะเร็ง อย่างมีนัยยะสำคัญ

นายปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ส่วนหนึ่งที่โพสต์ระบุว่า เรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบการเปิดกัญชาเสรีกับประชาชน