กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม และพระราชวังจันทรเกษม เพื่อให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชื่นชมความงดงามอยุธยามรดกโลกผ่านการประดับตกแต่งไฟให้โบราณสถานสวยงามภายใต้ชื่องาน “4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุง” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 17 พฤศจิกายน 2567 เพียงค่ำคืนแรกของการจัดงานมีประชาชนสนใจร่วมงานมากกว่า 7,000 คน บรรยากาศคึกคักนักท่องเที่ยวแต่งชุดไทยนุ่งโจงห่มสไบเที่ยวงาน ชวนกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
โอกาสนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนางสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 ณ วัดพระราม ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจ กล่าวว่า จากนโยบายวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาผลักดัน Soft Power ของไทย วธ.ขับเคลื่อนผลักดันการท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรี ซึ่งกรมศิลปากรดำเนินงานตั้งแต่ปี 2566 จนประสบความสำเร็จนำไปสู่การต่อยอดกิจกรรม “4 วัด 1วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “ ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานสำคัญ การประดับตกแต่งไฟโบราณสถานอย่างสวยงามสัมผัสบรรยากาศที่มีมนต์เสน่ห์เมื่อครั้งต้นกรุงฯ รวมถึงมีการฉายภาพ Projection Mapping ด้วยแสงสีวิจิตรตระการตา ณ วัดพระราม และวัดไชยวัฒนาราม ยามค่ำคืน ภายในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงโขน การละเล่นย้อนยุค และการสาธิตช่างฝีมือ วันที่ 15 พ.ย. ตรงกับวันลอยกระทงจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ วิหารหลวง วัดมหาธาตุ เวลา 18.00 น. ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
“ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ กระแสตอบรับดี นักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเป็นหมื่นคน คนให้ความสนใจสวมใส่ชุดไทยมาท่องเที่ยวจำนวนมาก อยากเชิญชวนแต่งชุดไทยมายลโบราณสถานยามค่ำคืน ภายในงานมีการออกบูธอาหารจากทุกภูมิภาค การเปิดให้มีการท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรี ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาสัมผัสวัฒนธรรมและทำกิจกรรมในพื้นที่อยุธยายาวนานขึ้น ได้พักค้างคืนมากยิ่งขึ้น จับจ่ายใช้สอย จากเดิมท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ เพราะเป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ การเปิดให้เที่ยวโบราณสถานยามราตรีจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อีกทั้งกรมศิลปากรหลังจากงานนี้ ยังคงจะเปิดให้เข้าชมโบราณสถานทั้ง 5 แห่งในทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ รวมถึงในวันหยุดนักขัตฤกษ์และช่วงเทศกาลสำคัญไปจนถึงต้นปี 2568 เพื่อให้ได้ชื่นชมบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนในช่วงฤดูหนาว รวมถึงจะแผยแพร่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในอยุธยาให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ” น.ส.สุดาวรรณ กล่าว
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดี ศก. กล่าวว่า กรมศิลปากรนำเอานโยบายวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ โครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนที่กรมศิลปากรดำเนินการเป็นปีที่ 2 หลังจากปีที่ผ่านมามีการเปิดให้เข้าชมโบราณสถานยามค่ำคืนในจ.พระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม วัดราชบูรณะ และพระราชวังจันทรเกษม จนประสบความสำเร็จ ได้รับผลตอบรับทั้งด้านการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล
ปีนี้กรมศิลปากรจัดกิจกรรมท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในชื่อโครงการ “4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุง” เพิ่มจำนวนวัดและเพิ่ม 1 วัง เปิดให้ประชาชนเข้าชมโบราณสถาน 5แห่ง ประกอบไปด้วย โบราณสถานวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม และพระราชวังจันทรเกษม นักท่องเที่ยวจะได้ดื่มด่ำความงดงามของโบราณสถานยามราตรียามต้องแสงจันทร์ ช่วงปลายปี High Season จะเป็นช่วงที่มียอดผู้เข้าชมโบราณสถานมากที่สุด แต่จริงๆ แล้วโบราณสถานท่องเที่ยวได้ตลอดปี สวยทุกฤดูกาล
“ เป็นครั้งแรกของโบราณสถานวัดพระรามที่ประดับตกแต่งไฟยามราตรี ได้ชมความงดงามของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น มีการจัดแสดงการละเล่นที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยามาให้ชม จากแนวคิดที่ว่า “เมื่อครั้งต้นกรุงศรีฯ ประชาชน มีการละเล่นอะไร…” สมัยนั้นไม่มีโซเชียล ไม่มีมือถือ แท็บแลต คนแสวงหาความสุขกันอย่างไร ซึ่งจะมีการแสดงโขน การแสดงละครนอก การแสดงโมงครุ่มที่หาชมได้ยากจากสำนักการสังคีต การแสดงมวยคาดเชือก ซึ่งจะหมุนเวียนไปจัดแสดงในพื้นที่ 4 วัด 1 วัง การสาธิตช่างฝีมืออย่างไทยโบราณโดยสำนักช่างสิบหมู่ การประกวดแมวไทยโบราณ “แมวไทยโบราณคืนถิ่นกรุงศรี ” เพราะตำราดูแมวกำเนิดขึ้นสมัยอยุธยา การประกวดนางนพมาศ การเสวนาเรื่อง มหรสพและการละเล่นครั้งอยุธยา การจำหน่ายสินค้า อาหาร ผ้าไทยของภาคีเครือข่ายทางวันฒธรรม มีบริการเช่าชุดไทยของผู้ประกอบการท้องถิ่น อยากชวนมาเที่ยวชมมรดกวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษฝากไว้กับแผ่นดิน สะท้อนพลังทางวัฒนธรรม Soft Power “ นายพนมบุตรกล่าว
งาน 4 วัด 1 วัง ฉายภาพพระนครศรีอยุธยาที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม และความโดนเด่นของอารยธรรม ตลอดจนโบราณสถานที่ทรงคุณค่า มาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควรค่ากับนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ขอเชิญชวนมารับประสบการณ์ที่ดีกับการชมโบราณสถานในเวลาค่ำคืน ซึ่งไม่ได้เปิดให้เข้าชมบ่อยนัก
สนใจร่วมเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืน ได้ที่งาน “4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ตั้งแต่วันนี้ -17 พ.ย. ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา Ayutthaya Historical Park และ Ayutthaya Sundown
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม
7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา
คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157
นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า
วธ.สั่งวางมาตรการลดเสี่ยงโบราณสถานตลอดฤดูฝน
13 ก.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย รู้สึกห่วงใยชาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมากที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด
มั่นใจวัดไชยวัฒนารามรอดน้ำท่วม
5 ก.ย.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการประชุมเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวานนี้ ซึ่งกรมชลประทานได้แจ้งการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อรองรับปริ
กำชับดูแลโบราณสถานลุ่มเจ้าพระยา หวั่นน้ำท่วม
28 ส.ค.2567 -น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รับน้ำภาคเหนือที่ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากหน่วยงานในสังกัด โดยกำชับดูแลพื้นที่โบราณสถานกับศาสนสถาน และพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม