Starbucks Reserve One Bangkok ร้านกาแฟสีเขียวมุ่งสู่ความยั่งยืน

พื้นที่ทิ้งแก้วของสตาร์บัคส์ นำไปรีไซเคิล 

ปัจจุบันการประกอบธุรกิจไม่เพียงแค่คำนึงถึงผลประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยที่ทำให้ภาพลักษณ์ทั้งในแง่ของการลงทุนและการใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย อย่าง ร้านกาแฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงแค่ไปซื้อเครื่องดื่ม แต่ยังเป็นสถานที่พบปะผู้คน ทำงาน หรือนั่งพักผ่อน ในขณะเดียวกันร้านกาแฟก็ถือเป็นห่วงโซ่หนึ่งในการสร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์พลาสติก น้ำ การขนส่ง เป็นต้น แม้จะไม่สูงเท่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างพลังงาน ไฟฟ้า ฯลฯ  

ร้านกาแฟหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กๆหรือแบรนด์ดังระดับโลกล้วนให้ความตระหนักกับการมีส่วนร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อน ล่าสุด สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้เปิดตัว “Starbucks Reserve One Bangkok” ร้านกาแฟสีเขียว หรือ Greener Store ที่ใหญ่ที่สุด และร้าน Flagshipแห่งที่ 4 ในประเทศไทย ณ วัน แบงค็อก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายตลาดและความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน โดยร้านแห่งนี้เป็น Greener Store ที่ได้รับการออกแบบตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดในด้านการอนุรักษ์น้ำ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดขยะ และการใช้วัสดุอย่างรับผิดชอบ เป็นต้น

เนตรนภา ศรีสมัย

เนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในโครงการวัน แบงค็อก สตาร์บัคส์ได้เปิดให้บริการถึง 2 สาขา โดยหนึ่งในสาขาที่เปิดให้บริการบริเวณอาคาร The Storeys ชั้น G เป็นร้านสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ วัน แบงค็อก แห่งที่ 517 ในไทย และเป็นร้าน Flagship แห่งที่ 4 พื้นที่กว่า 860 ตารางเมตร อีกทั้งยังเป็นร้าน Greener Store ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ที่ใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนมาผสมผสานในการการออกแบบ ได้แก่ จุดรีไซเคิลขยะครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัต่างกันมีการที่ดีของบาเรสต้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่มุ่งมั่นในการลดปริมาณขยะและปริมาณของคาร์บอน

“ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของเราที่มีต่อประเทศไทยและลูกค้า รวมถึงความทุ่มเทของสตาร์บัคส์ต่อสิ่งแวดล้อม ชาวไร่กาแฟ และชุมชน การสร้างพื้นที่ที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟด้วยการผสานค่านิยมของเรากับศิลปะท้องถิ่น พื้นที่นี้คือส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาของเราในการเสิร์ฟกาแฟคุณภาพเยี่ยม พร้อมกับการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่นี่คือจุดบรรจบของประเพณีและนวัตกรรม โดยที่ทุกแก้วจากสตาร์บัคส์บอกเล่าเรื่องราวของความยั่งยืนและวัฒนธรรมท้องถิ่นในประเทศ” เนตรนภา กล่าว

จุฑาทิพย์ เก่งมานะ

ด้านจุฑาทิพย์ เก่งมานะ ผู้จัดการด้านผลกระทบทางสังคมและความยั่งยืน สตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นและเป้าหมายระดับโลกของสตาร์บัคส์ในการรับรอง Greener Stores 10,000 แห่งทั่วโลก ภายในปีพ.ศ. 2568 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้น้ำ และขยะฝังกลบลง ให้ได้  50% ภายในปีพ.ศ. 2573 โดยมีแนวทางการทำงานร้านสตาร์บัคส์สีเขียว 8 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ความร่วมมือ สร้างแรงบันดาลใจเรื่องความยั่งยืน ผ่านกิจวัตรประจำวันและการให้บริการชุมชน 2.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงานเพื่อลดการใช้พลังงาน 3.การจัดการน้ำ การรักษา อนุรักษ์ และลดการใช้น้ำ

 4.การใช้วัสดุอย่างรับผิดชอบ จัดหาวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืนสำหรับร้านสตาร์บัคส์ 5.การบริหารจัดการขยะ ลดการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ พร้อมบริจาคอาหารให้ชุมชนใกล้เคียง 6.พลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการเติบโตของพลังงานสีเขียวสู่กริด รวมถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในร้านและชุมชนโดยรอบ 7. เกณฑ์การเลือกสถานที่ ที่จะสนับสนุนการออกแบบและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับความยั้งยืนได้ดีที่สุด และ 8.สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยมีแนวทางปฏิบัติที่ออกแบบมาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อม

ลูกค้าร่วมคัดแยกแก้วเพื่อนำไปรีไซเคิล

จุฑาทิพย์ กล่าวต่อว่า ความพิเศษของร้านสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ วัน แบงค็อก มีการสร้าง Condiment Bar คือ จุดที่มีการออกแบบที่ยั่งยืน เพื่อเป็นพื้นที่ทิ้งแก้วของสตาร์บัคส์ ซึ่งเป็นแก้วที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้  และเก็บรวบรวมส่งต่อไปรีไซเคิลขยะแบบครบวงจร ที่ใหญ่กว่าสาขาอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หากลูกค้ารับประทานที่ร้านก็สามารถที่เลือกรับเป็นแก้วแบบ For Here ที่มีสัดส่วนการใช้เฉลี่ยทุกสาขาประมาณ  20%  แต่หากไม่สะดวกก็สามารถใช้แก้วแบบ Take Away ได้เช่นกัน โดยเมื่อลูกค้าดื่มเรียบร้อยก็สามารถที่จะนำแก้ว Take Away มายัง Condiment Bar เพื่อคัดแยก ซึ่งจะมีการจุดสำหรับเทน้ำหรือน้ำแข็งที่เหลือ จากนั้นจะมีก๊อกสำหรับล้างทำความสะอาดแก้ว ให้ง่ายต่อการจัดส่งไปรีไซเคิล

“ส่วนหลอดที่ใช้ในสตาร์บัคส์เป็นหลอดที่สามารถย่อยสลายได้ หรือหากลูกค้านำแก้วของตนเองมาใช้บริการที่ร้านการจะได้รับส่วนลด 10 บาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2567- กันยายนที่ผ่าน มีลูกค้านำแก้วของตนเองมาใช้ที่ร้านกว่า 1.6 ล้านใบ ซึ่งคาดว่าลูกค้าจะมีการนำแก้วของตนเองเพิ่มมากขึ้นหรือใช้แก้ว For Here เพื่อลดการใช้แก้วพลาสติก ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายในร้านยังทำมาจากกากกาแฟ เช่น ที่รองแก้ว นอกจากนี้ ขยะไม่ว่าจะเป็น กล่องกระดาษ เหยือกนม ขวดน้ำเชื่อม ก็ถูกนำเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลเช่นกัน” จุฑาทิพย์ กล่าว

ธนาศักดิ์ กุลรัตนรักษ์

ธนาศักดิ์ กุลรัตนรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าวถึงเบื้องหลังการออกแบบร้านนี้ว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมกาแฟอันหลากหลายของภาคเหนือของไทย ได้แก่ผลงานสิ่งทอบนเพดานโดย Ease Studio และภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสวยงามในห้อง Community room และผนังอิฐ ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจากภูมิทัศน์ที่ปลูกกาแฟของภาคเหนือ และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของทำเลใจกลางเมืองนี้ จึงได้สร้างพื้นที่ที่สะท้อนถึงความงดงามและประเพณี อีกทั้ง ร้านนี้ยังเป็นสถานที่ต้อนรับใจกลางกรุงเทพฯ ที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของสตาร์บัคส์ในการเชื่อมต่อผู้คนผ่านกาแฟที่มีคุณภาพท่ามกลางพื้นที่ที่มีความสวยงาม ทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ไปจนถึงงานศิลปะ ล้วนบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมท้องถิ่นและความยั่งยืน

จุดคัดแยกขยะรีไซเคิล
บรรยากาศภายในร้าน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

One Bangkok ปักหมุดแลนด์มาร์คระดับโลก โชว์สุดยอดผลงานศิลปะ BAB2024

วัน แบงค็อก (One Bangkok) ร่วมสร้างปรากฏการณ์ด้านศิลปะร่วมสมัยครั้งสำคัญของกรุงเทพมหานครด้วยการเปิดตัวผลงานศิลปะสุดอย่างยิ่งใหญ่และอลังการ โดยเป็นหนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานแห่งใหม่ในเทศกาลศิลปะ

อินทนิลฉลองครบ 1,000 สาขา ตั้งเป้าขยายร้านกาแฟสีเขียวอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งมอบประสบการณ์ความสุข ผ่าน Inthanin Experience

อินทนิล ประกาศครบ 1,000 สาขาแล้วในเดือนธันวาคม 2565 พร้อมตั้งเป้าขยายสาขาต่อเนื่อง ผ่านเครือข่ายแฟรนไชส์ทั่วประเทศ ด้วยแนวคิด “ผูกพัน ผลิบาน ยั่งยืน”