เส้นทางของเทคโนโลยีและธุรกิจด้านอวกาศของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนกำลังขยายตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งการยกระดับอุตสาหกรรมด้านอวกาศในประเทศไทยมีการลงทุนในโครงการดาวเทียมเพื่อติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการภัยพิบัติ การพัฒนานี้กำลังขยายไปยังเทคโนโลยีสื่อสารผ่านดาวเทียม การสำรวจอวกาศ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อรองรับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในหลายภาคส่วน รวมถึงการพัฒนานักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวในการพัฒนาด้านอวกาศ
เพื่อขยายความร่วมมือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจด้านอวกาศในภูมิอาเซียน ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดงาน Thailand Space Week 2024 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านอวกาศให้ก้าวหน้า พร้อมบูธนิทรรศการมากกว่า 100 บูธ
อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักลงทุนและผู้ประกอบการด้านอวกาศ ส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ โดยมีผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรด้านอวกาศจากหลายประเทศทั้งในเอเซียและภูมิภาคอื่นๆ อาทิ CNSA ประเทศจีน, KARI สาธารณรัฐเกาหลีใต้, OSTIN ประเทศสิงคโปร์, EU , MYSA จากประเทศมาเลเซีย, QZSS ประเทศญี่ปุ่น และ PHILSA ประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองต่างๆ ซึ่งครอบคลุมทั้งการให้บริการข้อมูลอวกาศ การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม การวางแผนภูมิสารสนเทศ และการจัดการข้อมูลเชิงกลยุทธ์สำหรับภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค สามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่วันนี้ – 9 พ.ย. 2567 ณ ฮอลล์ 9 – 10 อิมแพค เมืองทองธานี
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการเปิดบ้านต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลก ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจด้านอวกาศของทั้งประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในอนาคต เทคโนโลยีอวกาศจะเข้ามามีบทบาทในแทบทุกด้านของชีวิตประจำวันและส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสู่การเป็น New S-Curve การจัดงานนี้ยังเป็นโอกาสในการยกระดับการใช้เทคโนโลยีอวกาศในภาคเอกชน และขยายขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย
รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมุ่งมั่นสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเร่งพัฒนาดาวเทียมเพื่อรองรับการใช้งานในประเด็นสำคัญของประเทศ พร้อมส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอวกาศทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างนำเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรภายในปีหน้า ทั้งนี้ยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เช่น Spaceport รวมถึงสร้างความร่วมมือกับธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศ ผ่านการศึกษาและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งการเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านอวกาศนี้เป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต
ด้านดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า แนวทางการจัดงานของปีนี้เน้นเรื่อง Converging Technologies, Connecting People ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องนำมาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆ (Technology Convergence) ที่จะนำมาสู่เครื่องมือ ข้อมูล และการจัดการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับมนุษย์และการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดงานครั้งนี้ผู้ร่วมงานนอกจากจะมีโอกาสอัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกิจการอวกาศจากนานาประเทศแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้รู้จักและสร้างเครือข่ายทางความรู้และธุรกิจกับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
“ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสและขยายความร่วมมือ ทั้งด้านองค์ความรู้ ธุรกิจ และการลงทุนในระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงของภูมิภาค ซึ่งมุ่งหวังจะให้เกิดการยกระดับและเปิดโอกาสให้กับ Space related Industry ของไทยกับพันธมิตรจากนานาประเทศ นำมาสู่การเพิ่มรายได้ใหม่ๆให้กับภาคเศรษฐกิจของไทย เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
สำหรับ งาน Thailand Space Week 2024 ซึ่งมีนิทรรศการเกี่ยวกับอวกาศหลายด้านมาจัดแสดง แต่ที่น่าสนใจและถือว่าเป็นไฮไลท์ก็คือ ยาน Chandrayaan 3 จำลอง ที่ทำให้อินเดียเป็นชาติที่ 4 ต่อจากสหรัฐอเมริกา อดีตสหภาพโซเวียต และจีน ที่ได้ส่งยานอวกาศสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ และ กลายเป็นชาติแรกที่ส่งยานลงจอดและสำรวจบริเวณขั้วใต้ของดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลก สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างไทย-อินเดีย ที่จะมีโครงการส่งดาวเทียมTHEOS-2A และบูธที่น่าสนใจมากมาย อย่างบูธของ Gistda มีการจัดแสดงผลงานการพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลก อาทิ โครงการ School Satelite Competition 2024 ปีที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ลงมือออกแบบและสร้างดาวเทียมด้วยตนเองและให้ผู้ที่มีความสนใจได้ศึกษาเรียนรู้สร้างประสบการณ์เข้าใจกระบวนการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก อย่าง ดาวเทียม Cubesat ขนาด 1 Unit = 10X10x10 เซนติเมตร ตั้งแต่เริ่มต้นการวางแผน ออกแบบ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ จนกระทั่งการสร้างและทดสอบดาวเทียม
มาดู THEOS-3 ดาวเทียมสำรวจโลกของไทยโดยวิศวกรชาวไทย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งขณะนี้ได้มีแบบพิมพ์เขียวของดาวเดียวแล้ว โดยมีดาวเทียม THEOS-2A เป็นดาวเทียมต้นแบบในการพัฒนามุ่งเน้นการออกแบบ พัฒนาและทดสอบดาวเทียมเองภายในประเทศไทยโดยวิศวกรไทย ซึ่งTHEOS-2A จะถูกนำส่งขึ้นไปสำรวจโลกโดยความร่วมมือกับอินเดียภายใน 2 เดือนนี้ จะได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้ จะช่วยสนับสนุนด้านการเกษตร เช่น ความชื้นในดิน คาร์บอนเครดิตทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น จาก THEOS-3 ก็จะมีการพัฒนาไปจนถึง THEOS-8 ในอนาคต
บูธจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ยักษ์ใหญ่ที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ ก็มีบูธการจัดแสดงจากบริษัท Minospace ที่ได้นำดาวเทียม Taijing จำลอง ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่พัฒนาดาวเทียมออปติคัลที่มีความละเอียด 0.5 เมตรในจีน และบูธการจัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบดาวเทียว จากญี่ปุ่น การใช้ดาวเทียมสำรวจแผนที่หรือพยากรณ์อากาศอย่างแม่นยำ และส่วนของ Plenary Stage มีการเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ Space Leaders Forum, Unveiling Asean Space Ecosystems, การใช้เทคโนโลยีอวกาศรับมือกับความท้าทายที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยที่พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างโอกาสและประโยชน์ให้กับภูมิภาคนี้
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงาน Thailand Space Week 2024 ได้ตั้งแต่วันนี้ – 9 พ.ย. 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น. ณ ฮอลล์ 9 – 10 อิมแพค เมืองทองธานี หรือติดตามรายละเอียดงานได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/gistda
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถึงบางอ้อ ดร.เสรี เผยเหตุ 'กัมพูชา' ยอมตกลง MOU44
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนาม MOU44 มีหรือจะพูดว่า MOU44 ไม่ดีสำหรับประเทศไทย เขาย่อมพูดว่าเป็นผลดี
ดีอี ตัดตอน 'โจรออนไลน์' ลุยปิดเพจ/URL ผิดกฎหมาย 13,000 รายการ
ดีอี รุกตัดต้นตอ “โจรออนไลน์” เผยสถิติเดือน ต.ค. ลุยปิดเพจ/URL ผิดกฎหมาย กว่า 13,000 รายการ
'แพทองธาร' หารือทวิภาคี 'สี จิ้นผิง' จีนยันสนับสนุนไทยในเวทีระดับโลกทุกมิติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 15 พ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) โรงแรม Delfines Hotel
'หมอวรงค์' อัด 'ภูมิธรรม' ยังสับสนเรื่องเกาะกูด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานทราปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า นายภูมิธรรมยังสับสนเรื่องเกาะกูด
'ประเสริฐ' เผยสอบ 'เทวดา สคบ.' รับส่วยดิไอคอน ต้องใช้เวลานาน ใกล้เส้นตายยังไร้ข้อสรุป
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนัก