มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 มอบให้ครูผู้สร้างเว็บไซต์ต้นแบบเพื่อใช้ในการสอนออนไลน์ โดยในปีนี้คัดเลือกจากครูที่ผ่านการประกวดระดับศูนย์อบรมทั่วประเทศ 11 คน ที่มุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหาคุณภาพในรูปแบบที่เข้าถึงได้สะดวกและปลอดภัย
เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2567 คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ หอประชุมคุณหญิงประยงค์ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โดย ดร.ศรประภา สิริภัทรวิช ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กล่าวต้อนรับ นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล ที่ปรึกษาโครงการเว็บครู.ไทย กล่าวรายงาน
ดร.เพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวแนะนำโครงการ “เว็บครู.ไทย” ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูมีเครื่องมือเก็บบทเรียนต่าง ๆ ให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่าย จากที่เห็นว่าปัจจุบันเว็บไซต์ยังมีความจำเป็น แม้คุณครูจะมีกลุ่มในแพลตฟอร์มโซเชียลออนไลน์ต่าง ๆ แต่อาจจะมีประเด็นเรื่องความยั่งยืน หากแพลตฟอร์มปรับเปลี่ยนนโยบายและหากถูกบล็อกบัญชี นักเรียนจะเข้าถึงบทเรียนไม่ได้ เว็บไซต์ยังเป็นทางเลือกที่คุณครูได้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของเนื้อหาของตนเอง
“ดังนั้นเว็บไซต์จึงมีความจำเป็นต่อการใช้งาน นอกจากนี้การใช้เว็บไซต์ดอททีเอช (.th) และดอทไทย (.ไทย) เป็นการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยเพราะสามารถยืนยันตัวตนความเป็นเจ้าของได้” ดร.เพ็ญศรี กล่าว
ทั้งนี้ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย เป็นองค์กรที่ดูแลบริหารจัดการชื่อโดเมนรหัสประเทศไทย ทั้ง .th และ .ไทย ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 ขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชื่อโดเมนรหัสประเทศ .th และ .ไทย เป็นการพัฒนาทักษะการสร้างเว็บไซต์ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้นำไปใช้งานได้จริง และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่นักเรียนได้ และส่งเสริมให้ครูมีผลงานด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ต่อนักเรียน ชุมชนและสังคมได้อย่างเหมาะสมกับยุคดิจิทัล
สำหรับการประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นการคัดเลือกจากครูที่เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย” จำนวนกว่า 700 คน จาก 11 ศูนย์อบรมทั่วประเทศ โดยมีผู้รับรางวัลชนะเลิศระดับศูนย์อบรม จำนวน 11 รางวัล จากนั้นทำการคัดเลือกรอบระดับประเทศ โดยนางสาวโสภา โคตรสมบัติ เว็บไซต์ “www.ครูโสออนเลิร์น.ไทย” จากศูนย์นครราชสีมาได้รับรางวัลชนะเลิศ, นางสาววรวรรณ พุทธิพัฒน์ เว็บไซต์ “www.ครูออย.ไทย” จากศูนย์อยุธยา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และนางสาวศศิธร เขียวกอ เว็บไซต์ “www.วิทย์ครูนก.ไทย” จากศูนย์กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง
โอกาสนี้ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างปลอดภัย: ลดภัยคุกคามต่อเว็บไซต์โรงเรียนและเว็บครู” ดำเนินรายการ โดย นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาและการผลิตสื่อออนไลน์ โดย ดร.ธีรวัฒน์ โรจนไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ สพร. กล่าวว่าขณะนี้มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ เวอร์ชั่น 3.0 พร้อมให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการป้องกันภัยไซเบอร์นั้นให้เริ่มที่การลงทะเบียนใช้เว็บไซต์รหัสประเทศไทยเท่านั้น การดูแลเว็บไซต์นั้นต้องตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อนเปลี่ยนรหัสบ่อย ๆ ทบทวนบัญชีผู้ดูแลเว็บไซต์ อัปเดตแอนตี้ไวรัสเป็นประจำ ปลั๊กอินที่ติดตั้งต้องปลอดภัยมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และสำรองข้อมูลเป็นประจำ อีกทั้งการรับมือภัยคุกคามนั้นขอให้หมั่นดูแลปกป้องพาสเวิร์ด เฝ้าระวังเนื้อหาไม่ให้ผิดปกติ จ้างผู้ให้บริการเข้ามาดูแล โดย สพร.ยินดีให้คำปรึกษาแก่ครู
ดร.ปาริชาติ เภสัชชา หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. กล่าวว่าครูนั้นแม้จะมุ่งเน้นทำคอนเทนต์เสนอผ่านเว็บไซต์ แต่ต้องคำนึงถึงการป้องกันความปลอดภัย โดยเริ่มจากอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต้องทันสมัยปลอดภัย เนื้อหามีลิขสิทธิ์หรือการสแปมต้องระวังอย่าเข้าไปคลิกชมพร้อมเตือนให้นักเรียนระมัดระวังด้วย และต้องระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิ์ได้
“ขั้นตอนการสร้างคอนเทนต์นั้นต้องเลือกใช้แอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัย อีกทั้งผู้บริหารจะต้องมีส่วนกำหนดนโยบายการใช้เว็บไซต์ร่วมกัน และอบรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงภัยไซเบอร์ พร้อมฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัยใช้งานง่ายเพื่อให้ครูมุ่งทำคอนเทนต์เป็นหลัก”ดร.ปาริชาติกล่าว
นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่ามีประสบการณ์ทำงานวงการสื่อมา 30ปี แนะนำให้ครูทำเว็บไซต์ของตนเองปลอดภัยกว่าการพึ่งสื่อออนไลน์อื่นเท่านั้น จะเห็นว่าในปัจจุบันนักเรียนค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต ทำการบ้านทางคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว การนำคอนเทนต์บรรจุลงเว็บไซต์เปรียบเสมือนเป็นห้องสมุดดิจิทัลที่นักเรียนสามารถสืบค้นได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้นำคอนเทนต์ท้องถิ่นเสนอในเว็บไซต์เพราะเป็นสิ่งที่คนสนใจเข้าไปศึกษา รวมทั้งควรเป็นคอนเทนต์ให้ความรู้ที่ไม่มีวันหมดอายุ มีการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์อื่น ๆ ในลักษณะเครือข่ายส่งผลให้มีผู้เข้าชมเชื่อมโยงกันด้วย ส่วนช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ควรมีไว้เพื่อเป็นช่องทางกระจายข้อมูลเชื่อมโยงกับเว็บไซต์
ขณะที่ ดร.เพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวโดยสรุปว่าอยากใช้จุดแข็งของมูลนิธิคือนโยบายตรวจสอบตัวตนผู้ลงทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศไทย เพื่อให้การใช้งานทางอินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัยมากขึ้น จากสถิติพบว่าหน่วยงานด้านการศึกษาถูกโจมตีทางโลกออนไลน์มากที่สุด มูลนิธิจึงมุ่งเป้าหมายให้ครูเข้าร่วมโครงการเพื่อรับความรู้และเชิญชวนมาใช้เว็บดอทไทย (.ไทย) ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นไทย โดยโครงการเลือกใช้แพลตฟอร์มฟรี Google Sites ที่ใช้งานง่าย ปลอดภัย เหมาะสำหรับครู ประหยัดเวลาในการดูแลบริหารจัดการ เพื่อมุ่งใช้เวลากับการสร้างเนื้อหาเป็นหลัก อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการสร้างเครือข่ายครูที่มีผลงานเว็บไซต์ต้นแบบที่มีคุณภาพโดยการคัดเลือกจากการจัดประกวดขึ้นมาที่เครือข่ายครูนี้จะช่วยเหลือด้านคอนเทนต์และแก้ไขปัญหาในการทำเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ยังคงสานต่อโครงการ “เว็บครู.ไทย” อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการขยายเครือข่ายครูให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ครูทั่วประเทศสร้างเว็บไซต์ของตนเองเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ดิจิทัล ช่วยให้นักเรียนและผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการศึกษาได้ง่ายและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนครูในการเข้าร่วมโครงการนี้ มูลนิธิฯ ได้ออกนโยบายพิเศษลดค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการใช้ชื่อโดเมนเพียง 200 บาทต่อปี สำหรับผู้ประกอบอาชีพครูทั่วประเทศ ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.เว็บครู.ไทย นอกจากนี้ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก มูลนิธิฯ ยังได้จัดทำโครงการมอบทุนเพื่อสร้างเว็บไซต์ www.เว็บศึกษา.ไทย เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ดิจิทัลให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย