6 พ.ย. 2567 – นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการ สปสช. และ นายประเทือง เผ่าดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ตลอดจนผู้บริหาร สปสช. ในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบริการงานทะเบียน เป็นต้น ลงตรวจเยี่ยมฝ่ายบริหารงาน Contact Center เพื่อติดตามความคืบหน้า “การแก้ไขปัญหาการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ของประชาชนในพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร ในกรณีใบส่งตัว”
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการมารับฟังปัญหาของน้องๆ ที่ทำงานหน้างาน “สายด่วน สปสช. 1330” ในการรับเรื่องร้องเรียนและประสานโรงพยาบาลในกรณีที่ต้องส่งต่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งปัญหาที่พบนั้น มีทั้งกรณีการอออกใบส่งตัวของคลินิกที่มีการออกหลักเกณฑ์ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขอใบส่งตัว อาทิ ต้องขอใบส่งตัวล่วงหน้า 1 เดือน หรือต้องขอก่อน 7 วัน การจำกัดระยะเวลาของการส่งตัว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายเดินทางเพิ่ม และมีผู้ป่วยหลายรายที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามนัดโดยจ่ายเงินเอง ทั้งที่เป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการส่งต่อและใช้สิทธิบัตรทองได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คลินิกฯ ยืนยันจะให้การรักษาผู้ป่วยเองทั้งที่เกินศักยภาพบริการ ทั้งเป็นโรคที่ต้องส่งตัวผู้ป่วย และการจำกัดการจ่ายยารักษาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพียง 7 วัน เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลรับส่งต่อนั้น พบว่าตามแนวทางการให้บริการผู้ป่วยบัตรทองใน กทม. ของ สปสช. ที่กำหนดให้สายด่วน สปสช. 1330 เป็นหน่วยที่ออกใบส่งตัวให้กับผู้ป่วยนั้น ปรากฏว่าเมื่อผู้ป่วยไปรับบริการยังมีโรงพยาบาลทั้งระดับโรงพยาบาลศูนย์และโรงเรียนแพทย์ปฏิเสธการส่งตัวผู้ป่วยอยู่ แม้ว่าทางสายด่วน สปสช. 1330 จะได้มีการติดต่อประสานเพิ่มเติมไปแล้วหลายครั้งก็ตาม
ทั้งจากปัญหาที่รับฟังในวันนี้ มองว่ายังเป็นปัญหาที่ สปสช. สามารถจัดการได้ และตนเองก็มั่นใจ โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2568 นี้ที่งบประมาณเพียงพอแน่นอน ซึ่ง สปสช. ได้จัดสรรงบไปที่คลินิกฯ ในอัตรา 79 บาท/ประชากร/เดือน เมื่อคำนวณกับจำนวนประชากรอย่างน้อยหมื่นคน คลินิกฯ ก็ได้รับงบดำเนินการอย่างน้อย 8 แสนบาท/เดือน หลังหักค่าใช้จ่ายค่าแพทย์ พยาบาล ค่ายาและอื่นๆ โดยร่วมถึงค่าส่งต่อผู้ป่วยที่ 800 บาท/คน/ครั้ง ซึ่งใช้ข้อมูลการจ่ายค่าส่งต่อผู้ป่วยที่สูงสูดอยู่ที่ 400,000 บาท/เดือน ก็ยังมีกำไร และเมื่อร่วมกับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คลินิกฯ ก็จะมีรายได้เพิ่มเติมอีก นอกจากขณะนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมจะขอขยายรับประชากรสิทธิบัตรเพิ่มเติม เพราะมองแล้วว่าไม่ขาดทุน
“วันนี้เป็นการลงมาพบน้องๆ 1330 เพื่อรับฟังข้อมูล ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนที่ให้การดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ ด้วยดีและพยามช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีของพื้นที่ กทม. ที่ระบบสุขภาพมีความซับซ้อน และมีสายร้องทุกข์ร้องเรียนปัญหาการบริการสูงร้อยละ 80 ของสายที่เข้ามาทั้งหมด และเพื่อให้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ได้มอบให้ นพ.วีระพันธ์ เข้ามาดูแลและแก้ปัญหานี้ ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นจะมีการพูดคุยกับคลินิกฯ หากคลินิกฯ ไหนที่ยังเป็นปัญหาในการดูแลผู้ป่วย อาจต้องมีทีมเข้าไปแก้เป็นรายเครส และทาง สปสช. เองก็คงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปจัดการด้วย เพราะการที่ไม่ให้บริการหรือไม่อำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมายเช่น รวมถึงคลินิกที่ติดป้ายดำทวงเงินก็จะจัดการด้วยเช่นกัน เพราะว่า สปสช. ไม่ได้ติดเงินคลินิก
ขณะที่ในส่วนของโรงพยาบาลหากแห่งไหนที่ติดขัดไม่รับส่งต่อผู้ป่วยก็จะให้ทางผู้บริหาร สปสช. พร้อมทีมไปเจราจา ซึ่งขอย้ำว่า ผู้ป่วยที่สายด่วน สปสช. 1330 ส่งต่อไปนั้น ไม่ได้เป็นการส่งผู้ป่วยไปเพื่อขอรับบริการฟรี แต่ สปสช. มีเงินที่จะตามจ่ายค่ารักษาให้ โดยเป็นการเบิกจ่ายจากคลินิกฯ ต้นสังกัดจำนวน 800 บาท ส่วนที่เกินจากนั้นให้เป็นการเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ ส่วนปัญหาผู้ป่วยศรัทธาหมอและไม่ยอมกลับไปรับบริการที่คลินิกฯ ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถรักษาที่คลินิกได้ กรณีแบบนี้จะให้มีเจ้าหน้าที่ลงไปหน้างานที่โรงพยาบาล เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล เชื่อว่ามีจำนวนไม่มาก
“วันนี้เป็นการลงมาพบน้องๆ 1330 เพื่อรับฟังข้อมูล ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนที่ให้การดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ ด้วยดีและพยามช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีของพื้นที่ กทม. ที่ระบบสุขภาพมีความซับซ้อน และมีสายร้องทุกข์ร้องเรียนปัญหาการบริการสูงร้อยละ 80 ของสายที่เข้ามาทั้งหมด และเพื่อให้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดได้มอบให้ นพ.วีระพันธ์ เข้ามาดูแลและแก้ปัญหานี้ และหลังจากนี้อีก 1 เดือน ก็จะมีการลงมาฟังเสียงสะท้อนจากทีมสายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว.