โอเปร่าศิลปะการแสดงบนเวทีที่หลอมรวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ทั้งดนตรี วรรณกรรม ศิลปะการเต้น ศิลปกรรมประกอบฉาก ในวาระฉลองครบรอบ 120 ปี แห่งการก่อตั้งสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมการแสดงดนตรีพิเศษในชื่อชุด “1907 : Rama V European Operatic Journey” โดยคณะศิลปินและนักดนตรีมากความสามารถกว่า 50 ชีวิต ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.– 1 ธ.ค.2567 ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ
เบื้องหลังการแสดงสุดพิเศษคณะทำงานได้ศึกษาความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับโอเปร่าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และค้นพบเรื่องราวการทอดพระเนตรโอเปร่า 7 เรื่องขณะเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 ยิ่งอ่านยิ่งเจอรายละเอียดที่น่าสนใจนำมารังสรรค์การแสดงสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย
เปิด 5 เหตุผลที่ควรค่าแก่การมาชม 1.“ 1907: Rama V European Operatic Journey” ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อหาในหนังสือที่ชาวไทยรู้จักกันดีอย่าง “พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน” หนังสือรวมพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงส่งมาพระราชทานแก่พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ขณะเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2450 นอกจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเผยให้เห็นวัฒนธรรมยุโรปเวลานั้น ยังปรากฏรายละเอียดการเสด็จเยือนโรงละครหลายแห่งเพื่อทอดพระเนตรโอเปร่าถึง 7 เรื่อง ที่มาของการแสดงชุดพิเศษ
2. ผู้ชมจะได้ตามรอยเสด็จรัชกาลที่ 5 กลับสู่โลกแห่งมหรสพยุโรปสมัยต้นคริสศตวรรษที่ 20 ผ่านการแสดงและฉากที่น่าสนใจจากโอเปร่า 7 เรื่อง ซึ่งท้าทายทักษะศิลปินและนักดนตรี ทั้งการขับร้อง การแสดงบัลเล่ต์ และการบรรเลงดนตรี ร้อยเรียงเป็นการแสดง 2 องก์ ความยาว 2 ชั่วโมง พร้อมการตีความทุกมิติให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
3. การออกแบบฉากการแสดงส่งเสริมให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ โดยผู้ออกแบบดัดแปลงการวางผังภายในหอประชุมสยามสมาคมฯ ให้ต่างจากกิจกรรมที่เคยจัด เพิ่มพื้นที่การแสดงบนรันเวย์ที่สร้างขึ้นใหม่กลางหอประชุม เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดกับศิลปิน เพิ่มอรรถรสในการดื่มด่ำโอเปร่า ผู้คุ้นเคยกับโอเปร่าจะได้พบกับความแปลกใหม่ในการนำเสนอโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง ส่วนผู้ชมโอเปร่าครั้งแรกเปิดประสบการณ์การชมศิลปะการแสดงที่หาไม่ได้ในโรงละครทั่วไป
4. การแสดงครั้งนี้รวบรวมศิลปินมากความสามารถจากหลายแขนงทั้งชาวไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น Martin Ng นักร้องเสียงบาริโทนชาวสิงคโปร์ ผู้โด่งดังในวงการดนตรีคลาสสิกทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มู่ หยูนักร้องเสียงโซปราโนชาวจีน ผู้กำลังศึกษาปริญญาเอกด้าน voice performance ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วรปรัชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ วาทยากรชาวไทยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสาขาดนตรี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเจ้าของรางวัล Grand Prize จากรายการประกวด SCG Young Thai Artist Award in Composition 2020 ธาริน ปริญญาคณิต ผู้กำกับโอเปร่าชาวไทยจากสถาบัน Verona Accademia per l’Opera Italiana ประเทศอิตาลี และแดเรน รอยส์ตัน นักออกแบบท่าเต้นชาวอังกฤษ
5. การแสดงชุบชีวิตฉากของโอเปร่าบางเรื่องที่ ร. 5 ทอดพระเนตร แต่ห่างหายจากความนิยมในปัจจุบันแล้วกลับมาใหม่ผ่านกระบวนการสืบค้นและระบุชื่อเรื่องด้วยการเปรียบเทียบเนื้อหาของพระราชนิพนธ์ไกลบ้านกับข้อเท็จจริงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารบันเทิงภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียนและอังกฤษสมัยปี ค.ศ. 1907 โดย ดร.พีรพัฒน์ อ่วยสุข ผู้เก็บข้อมูลอาศัยฐานข้อมูลห้องสมุดและจดหมายเหตุในยุโรปจนพบหลักฐานกำหนดการแสดงมหรสพในวันและสถานที่ซึ่งตรงกับข้อมูลในพระราชหัตถเลขา ทั้งยังเผยให้เห็นข้อเท็จจริงอื่นๆ ทั้งรายนามนักแสดง คำวิจารณ์การแสดงของสื่อมวลชน บันทึกเสียงของนักแสดง ตลอดจนภาพร่างฉากการแสดงและเสื้อผ้า ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสร้างการแสดงชุดนี้ทั้งสิ้น
ดร.พีรพัฒน์ อ่วยสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง กล่าวว่า สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ รวมถึงการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติ ในวาระ 120 ปี สยามสมาคมฯ เปิดโอกาสให้ศิลปินนักแสดงหน้าใหม่มากความสามารถดาวรุ่งของวงการมีพื้นที่แสดงฝีมือในโอเปร่าวาไรตี้ครั้งนี้ที่มีสีสันครบรส ทั้ง ดราม่า สนุกสนาน ผู้ชมจะได้รู้สึกอิ่มเอม
ธาริน ปริญญาคณิต ผู้กำกับโอเปร่า กล่าวว่า เรื่องราวของในปี ค.ศ.1907 ได้ถูกนำมาร้อยเรียงแล้วตีความใหม่ เพื่อนำผู้ชมไปหาประสบการณ์ในห้วงเวลานั้นๆ ไปพร้อมกับนักแสดง โดยได้ขมวดซีนต่างๆ ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลาย เชื่อว่า การแสดงกว่า 2 ชั่วโมงนี้จะพาไปสู่ความแปลกใหม่ที่ให้คนดูใกล้ชิดกับนักแสดงเสมือนเราเป็นหนึ่งในเรื่องราวนั้น
แดเรน รอยส์ตัน ผู้ออกแบบท่าเต้นและผู้เล่าเรื่องในการแสดง เปิดเผยว่า ความท้าทายในโชว์ครั้งนี้ที่เกี่ยวข้องกับตนเองมี 2 ส่วน ได้แก่ การเล่าเรื่องด้วยภาษา และการเรื่องด้วยท่าเต้น โดยทั้งหมดถูกหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน บวกกับคัดสรรเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากพระราชนิพนธ์มาเล่าให้เกิดความสนุก กลายมาเป็นโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง ให้ผู้ชมได้รู้สึกเชื่อมโยงไปพร้อมๆ กัน
ด้าน มู่ หยู นักร้องเสียงโซปราโนชาวจีน เล่าว่า รู้สึกโชคดีมากๆ ที่เวทีแห่งนี้ได้เปิดโอกาสได้ตนมาสวมบทบาทเป็น “โจโจ้ซัง” เกอิชาสาวงามชาวญี่ปุ่น เด็กสาวแสนซื่อ ผู้ได้รับสมญาว่ามาดามบัตเตอร์ฟลาย ยึดมั่นในการสมรสเป็นข้อผูกพันชั่วชีวิต เป็นตัวละครที่เชื่อในความรัก และตัวเองก็เป็นคนที่ศรัทธาในเรื่องความรักเช่นกัน สำหรับโชว์ครั้งพิเศษนี้ ตนจะต้องแสดงอารมณ์ของตัวละครที่ปรับเปลี่ยนขึ้นลงในฉากดราม่าหลายฉาก นับว่าเป็นความท้าทายมากๆ และรู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้มาแสดงในสถานที่ที่มีเรื่องราวมาอย่างยาวนานถึง 120 ปี
สนใจชมการแสดงดนตรีพิเศษชุด “ 1907 : Rama V European Operatic Journey ” จะจัดขึ้น ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ ถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21) รอบแรก-รอบสาม วันที่ 26 พ.ย. , วันที่ 28 พ.ย.,วันที่ 30 พ.ย. เวลา 19.00 น., รอบสุดท้ายวันที่ 1 ธ.ค. เวลา 16.00 น. ราคาบัตร 2,000 บาท (ทุกที่นั่ง ไม่ระบุที่นั่ง) และรอบพิเศษเฉพาะนักเรียน นักศึกษา วันที่ 24 พ.ย. เวลา 16.00 น. ราคาบัตร 600 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชมโอเปร่า 7 เรื่องจากพระราชหัตถเลขา ร.5
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ แหล่งศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรม และโบราณคดีชาวสยามและต่างชาติที่ตั้งอยู่บนถนนอโศกมนตรี สุขุมวิท 21