ทิศทางงบฯวิจัยประเทศไทยจะไปทางไหน ในมุมมองศ.ดร.สมปอง  คล้ายหนองสรวง  ผอ.สกสว.

“ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยวิทยาศาสาตร์และนวัตกรรม  เพราะเชื่อว่านวัตกรรมทุกเซ็กเตอร์ จะเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ประเทศไทย ยกตัวก้าวไปสู่คลื่นลูกใหม่ หรือยุคใหม่ของการพัฒนา  กลายเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งนวัตกรรมจะเป็นหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่จุดนี้ได้….”  

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)   เกิดขึ้นจาก วัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ  เพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศให้เข้มแข็งทั้งระบบเศรษฐกิจ และสังคม เพิ่มทักษะและความสามารถให้ทรัพยากรบุคคล ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ทิศทางการพัฒนาดังกล่าว   ต้องอาศัยการพัฒนาบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นสำคัญ และเพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องบูรณาการระหว่างระบบอุดมศึกษา กับ ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)ให้ตรงตามความต้องการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และสามารถผลักดันให้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

นับตั้งแต่ปี2564 สกสว.ได้ดูแลงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งแต่ละปีมีงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท โดยในปี 2564 :มียอด 19,916.63 ล้านบาท  (จัดสรรให้ 153 หน่วยงาน) ,ปี 2565 วงเงิน 14,176.05 ล้านบาท  (จัดสรรให้ 164 หน่วยงาน) ปี 2566 วงเงิน 16,354.28 ล้านบาท  (จัดสรรให้ 165 หน่วยงาน) ปี 2567 วงเงิน 19,033.67 ล้านบาท  (จัดสรรให้ 186 หน่วยงาน) ปี 2568 วงเงิน  19,350.77 ล้านบาท  (จัดสรรให้ 195 หน่วยงาน)

ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง  รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)คนใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ทิศทางการทำงาน และบริหารจัดการ งบฯของววน.ว่า จุดยืนการใช้งบฯววน.ล่าสุดจำนวนประมาณ 20,000  ล้านบาท โจทย์คือ ต้องทำให้งานวิจัยเกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใข่ทำวิจัยแล้วเก็บไว้ในตู้ นอกจากนี้ งานวิจัยจะต้องเชื่อมโยงรองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะงบฯที่ได้มานี้ เป็นภาษีของประชาชน จึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ตามแผนส่งเสริมงานวิจัยของสกสว. พุ่งเป้าไปที่งานที่ต้องตอบโจทย์ปัญหาของประเทศไทย เป็นงานวิจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิสัยทัศน์การทำวิจัยเพื่อคนไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้จริงและใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เงินลงทุนววน.ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จึงแบ่งเป็นส่วนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา  ที่มุ่งเป้า 60% ม ส่วนอีก 30% เป็นงบฯให้หน่วยงานต่างๆมาทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย ส่วนอีก 10 % เป็นการนำผลงานวิจัย มาทำงานร่วมกับคลัสเตอร์ อุตสาหกรรมภาคเอกชน เพื่อต่อยอดงานวิจัย

การปรับเปลี่ยนโจทย์งานวิจัย เป็นความท้าทายที่สำคัญมาก ของสกสว.ที่มีหน้าที่สนับสนุนให้ทุนวิจัยต่างๆ ศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า แต่เดิมงานวิจัยถูกมองว่าอยู่ในหิ้งมากกว่า  ต่อไปนี้ เราจะเข้มข้น การทำวิจัยนวัตกรรม มุ่งเป้าเซ็กเตอร์อุตสาหกรรมS -Curve   หรือNew S -Curve  ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ โดยจะใส่ทั้งแผนงาน คนและกำลังเงิน ลงไป เช่น ในเทคโนโลยี EV เอไอ เซมิคอนดักเตอร์ และสำคัญเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เราเป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าทำในแง่เป็น New S -Curve การแพทย์ผสมกับเอไอ ซึ่งจะทำให้เกิดการบริการทางการแพทย์ ในเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่เรียกว่า “การแพทย์ส่วนบุคคลที่ชาญฉลาด “หรือ Personal Health AI


“Personal Health AI จะเป็นความฉลาด ในแง่สร้างสุขภาวะให้กับคน เช่น ถ้ามีแอปพลิเคชั่น ในนาฬิกา ก็จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร ที่เรากินว่าเป็นแป้ง น้ำตาล และให้พลังงานเท่าไหร่  หรือเราควรระวังเรื่องความดัน เพราะเรากินอาหารเค็ม 3-4 วันติดต่อกัน  ทุกอย่างนี้จะเป็นเทคโนโลยีเป็นนวัตกรรมที่จะมาช่วยสนับสนุน “

กำลังคนที่ต้องพัฒนาเพื่อให้สามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้  ศ.ดร.สมปองกล่าวว่า มีข้อมูลต่างประเทศและในไทย ระบุว่าในอีกปีหรือสองปีข้างหน้า ต้องนำคนไปทำงานร่วมกับเอไอ หรือโรโบติกส์ อย่างน้อย 4 หมื่นตำแหน่ง และอีกส่วนเราต้องการคนที่มีทักษะระดับสูงด้านเอไอ หรือเทคโนโลยีที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ประโยชน์การใช้งานอีก 5หมื่นคน  ในอีก 3 ปีข้างหน้า

“ขณะนี้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของหลายๆประเทศ ที่เขามองว่าประเทศจีน กำลังเป็นปัญหากับสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การลงทุนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ หรือเอไอ ไทยจึงมีโอกาสมาก ที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่  ซึ่งการพัฒนากำลังคน  เป็นการเตรียมประเทศเราให้เดินไปข้างหน้า และกลไกการพัฒนากำลังคน ยังต้องเชื่อมโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย”ผอ.สกสว.กล่าว

คำถามว่าทำอย่างไร ถึงจะดึงคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมการวิจัย ผอ.สกสว.กล่าวว่า การหานักวิจัยรุ่นใหม่มาร่วมสร้างนวัตกรรม นับว่าเป็นความท้าทาย   แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเข้าใจความสำคัญของวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม  เพราะเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา ขณะที่ อว.เองเชื่อมโยงการเรียนเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัย  มีหลักสูตร ออนไลน์ ออนไซต์ ได้ปริญญาและLife long learning ทั้งที่ได้ประกาศนียบัตร หรือใช้สมัครงานได้ เป็นการสร้างการศึกษาด้านนี้ให้เข้าถึงทุกคน   โดยเชื่อว่าทุกวันนี้ เราเรียนรู้ผ่านไอโฟน หรือสมาร์ทโฟน แต่ต่อไปเราจะต้องเรียนรู้ผ่าน เอไอ  ผู้เรียนต้องฝึกทักษะหน้างาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง

“ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยวิทยาศาสาตร์และนวัตกรรม  เพราะเชื่อว่านวัตกรรมทุกเซ็กเตอร์ จะเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ประเทศไทย ยกตัวก้าวไปสู่คลื่นลูกใหม่ หรือยุคใหม่ของการพัฒนา  กลายเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งนวัตกรรมจะเป็นหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่จุดนี้ได้  และในปีนี้รัฐลงทุนวิจัย 2 หมื่นล้าน หรือเท่ากับ 1.1ของ จีดีพี และเราก็หวังให้งบฯอุดหนุนนี้ ไปถึง 2% ให้ได้ในปี 2570” ผอ.สกสว.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จัก 'Arm Booster' นวัตกรรมธรรมศาสตร์ 'ลดความพิการ' อุปกรณ์ 'ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ'

นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิชาการชาวไทย ภายใต้สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย เพื่อดูแลผู้สูงวัยในสถานการณ์ที่ประเทศไทย