บทบาทของสตรีในฐานะนักวิจัยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยในหลากหลายสาขา สตรีนำเสนอแนวคิดและมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในบริบทของสังคมบางประเทศ ข้อมูลจาก UNESCO ในปี 2019 ระบุว่า นักวิจัยทั่วโลกที่เป็นผู้หญิง ต่ำกว่า 30% แม้ว่าในปัจจุบันจะมีนักวิจัย 1 ใน 3 คน ที่เป็นผู้หญิง แต่การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในสายงานวิจัยยังคงไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย
ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนสตรีในวงการวิทยาศาสตร์จึงเป็นเป้าหมายของโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ หรือ For Women In Science จากความร่วมมือระหว่าง ลอรีอัล กับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ L’Oréal Fondation โดยให้การสนับสนุนและเชิดชูผลงานของนักวิจัยสตรีทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีในวงการวิทยาศาสตร์
ในประเทศไทย โครงการทุนสนับสนุนของลอรีอัลดำเนินการมาเป็นปีที่ 22 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนรวม 87 คนจากมากกว่า 20 สถาบัน สำหรับนักวิจัยที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี และอยู่ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยงานวิจัยจะต้องมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ต่อสังคม มีกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม ผ่านเกณฑ์การชี้วัด มีจริยธรรมในการทำงาน และได้รับการยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ โครงการนี้มุ่งสนับสนุนงานวิจัยและยกย่องบทบาทสตรีในวิทยาศาสตร์ พร้อมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ล่าสุดในปี 2567 ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย ได้ประกาศรายชื่อ 3 นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัยฯ ประกอบด้วย 1.สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ รศ.ดร.อัญญานี คำแก้ว จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาสารไวแสงและระบบนาโนนำส่ง เพื่อเป็นทางเลือกแบบแม่นยำสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง” และ 2.สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ ดร.ปองกานต์ จักรธรานนท์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กับงานวิจัยหัวข้อ “การเร่งปฏิกิริยาเชิงเคมีไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม” และผศ.ดร.วลีพร ดอนไพร จาก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การใช้ประโยชน์ก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการเร่งปฏิกิริยาเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนมุ่งสู่ Net Zero Emission”
แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา กล่าวว่า นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลก อย่างไรก็ตาม บทบาทของสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์ไทยยังคงต้องการการผลักดันอย่างมาก จากสถิติพบว่านับตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมีเพียงร้อยละ 16 แม้ว่าผู้หญิงจะมีจำนวนเทียบเท่ากับผู้ชายในวงการนี้ก็ตาม จึงทำให้ ลอรีอัลจึงมุ่งมั่นที่จะเชิดชูผลงานวิจัยอันโดดเด่นของสตรีผ่านโครงการนี้ พื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ต้องการเติบโตในสายงานวิทยาศาสตร์และแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงทุกคนสามารถเปล่งประกายได้ในแบบของตนเอง และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความหลากหลายและความเท่าเทียมในแวดวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในปัจจุบันและอนาคต
ด้าน นักวิจัยที่ได้รับทุน รศ.ดร.อัญญานี คำแก้ว กล่าวว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนายาและอุปกรณ์การรักษาด้วยแสงเพื่อรักษามะเร็งมีความก้าวหน้า แต่ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถใช้งานทางคลินิกได้อย่างแพร่หลาย ทีมวิจัยเห็นว่าการปรับปรุงโครงสร้างสารไวแสงและระบบนำส่งไปยังเซลล์มะเร็งเป็นสิ่งจำเป็น โดยพัฒนาตัวนำส่งที่มุ่งเป้ามะเร็งร่วมกับการกระตุ้นด้วยแสงเฉพาะที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ ในการใช้เทคนิคการบำบัดด้วยโฟโตไดนามิก (PDT) และการบำบัดด้วยความร้อนจากแสง(PTT) ร่วมกับวัสดุนาโนที่ไม่เป็นพิษ เพื่อพัฒนาและสังเคราะห์สารไวแสงที่ตอบสนองต่อแสงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำลายเซลล์มะเร็งเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงเท่านั้น โดยไม่มีพิษต่อเซลล์เมื่อไม่ได้รับการกระตุ้น
“การพัฒนาระบบนำส่งสารไวแสงเหล่านี้ให้ไปสะสมที่ก้อนมะเร็งได้อย่างจำเพาะได้สำเร็จ และได้พิสูจน์ประสิทธิภาพการรักษามะเร็งในระดับสัตว์ทดลอง พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดให้สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ในอนาคต งานวิจัยชิ้นนี้จึงไม่เพียงสร้างองค์ความรู้ด้านกลยุทธ์การออกแบบโมเลกุลอินทรีย์ที่ไวแสงและการพัฒนาระบบนำส่งระดับนาโน แต่ยังเปิดโอกาสสู่ความร่วมมือและการต่อยอดการนำไปใช้ประโยชน์อีกมากมายเพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษามะเร็ง” รศ.ดร.อัญญานี กล่าว
ดร.ปองกานต์ จักรธรานนท์ กล่าวว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล จึงได้เกิดแนวคิดในการวิจัยปฏิกิริยารีดักชันเชิงเคมีไฟฟ้าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2RR) คือปฏิกิริยาที่สามารถผลิตสารเคมีมูลค่าสูงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายหลายชนิด แต่การผลิตสารเคมีเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด คือมีกลไกซับซ้อน ใช้พลังงานสูง และมักประสบปัญหาการเลือกเกิดปฏิกิริยาที่ต่ำ ทั้งนี้ในระบบปฏิกิริยาการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารเคมีเชิงไฟฟ้า เซลล์ไฟฟ้าที่ใช้ทำปฏิกิริยาประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือขั้วแอโนด (Anode) และขั้วแคโทด (Cathode) ปฏิกิริยารีดักชันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเกิดขึ้นที่ขั้วแคโทด โดยระหว่างเกิดปฏิกิริยา ขั้วแอโนดจะทำปฏิกิริยาออกซิเดชันของน้ำและเกิดเป็นก๊าซออกซิเจน (OER) เป็นปฏิกิริยาร่วม
ดร.ปองกานต์ กล่าวต่อว่า กระบวนการนี้ต้องใช้พลังงานสูง จึงมุ่งเป้าพัฒนาเซลล์ไฟฟ้าที่สามารถทำปฏิกิริยาทั้งสองได้อย่างควบคู่กัน เพื่อเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการออกซิไดซ์ชีวมวลจากอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมกระดาษ ให้กลายเป็นวัสดุและสารเคมีที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ด้วย เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการเร่งปฏิกิริยาเชิงเคมีไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ และสามารถขยายขนาดการผลิตสู่ระดับโรงประลอง (pilot scale) เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมได้
ผศ.ดร.วลีพร ดอนไพร กล่าวว่า ปัจจุบันหลายภาคส่วนพยายามใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน โดยการเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกทั้งสองชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงผ่านกลไกการเกิดปฏิกิริยาต่างๆ จึงเป็นเหตุผลให้ทำงานวิจัยเกี่ยวกั ปฏิกิริยาการแตกตัวของมีเทนและปฏิกิริยาดรายรีฟอร์มมิ่ง เพราะผลิตทั้งพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดได้พร้อมกับใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก โดยแบ่งการงศึกษา 3 ส่วน คือ 1.การใช้ประโยชน์จากของเสียเหลือทิ้งจากการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบรอบสอง จากเถ้าชานอ้อยซึ่งเหลือทิ้งมาสังเคราะห์เป็นโซเดียมซิลิเกต 2.การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนก๊าซมีเทนเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจำพวกไฮโดรเจนและผลิตภัณฑ์คาร์บอน
และ3.การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจำพวกไฮโดรเจนและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ผ่านปฏิกิริยาดรายรีฟอร์มมิ่ง ซึ่งมีประโยชน์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือต้องการนำก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์เร่งด่วนของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทางรอด ทางลอด “ยิ่งลักษณ์” | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
เงินหมื่นตกเขียว ส่อพังทั้งครม. | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
ผลงาน'ตรี อภิรุม' ราชานิยายลึกลับสยองขวัญ
21 พ.ย.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช 2562 นามปากกา “ตรี อภิรุม” หรือ “นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา” เจ้าของผลงาน “นาคี”
อย่า กลับ บ้าน | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567