8 ฉากยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพ'พระจักราวตาร'

เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” ซึ่งถ่ายทอดการแสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักราหรือพระนารายณ์ที่อวตารลงมาเป็นพระราม โอรสของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา เพื่อปราบฝ่ายอธรรม เปรียบประดุจพระราชวงศ์จักรีที่ผดุงความสุขความสงบให้กับพสกนิกรชาวไทยตลอดมา  

 “พระจักราวตาร” จับตอนตั้งแต่พระอินทร์และเหล่าเทพนิกรพากันไปอัญเชิญพระนารายณ์ ขณะที่ประทับอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราชพร้อมพระลักษมีพระชายา ให้เสด็จลงมาปราบยุคเข็ญ พระนารายณ์จุติลงมาเป็นพระรามและพระลักษมีลงมาเป็นนางสีดา ปฐมเหตุแห่งการต่อสู้ปราบอธรรม คือ ทศกัณฐ์และพระญาติวงศ์ จากนั้นดำเนินเรื่องเป็นลำดับตั้งแต่ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองเข้าไปล่อลวงพระรามให้ตามกวาง แล้วลักพาตัวนางสีดาขึ้นราชรถเหาะไปยังกรุงลงกา เป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างกองทัพพระรามและทศกัณฐ์ เรื่องราวสนุกสนาน สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ  

เปิดม่าน องค์ที่ 1 ฉากที่ 1 นารายณ์บรรทมสินธุ์ พระจักราหรือพระนารายณ์บรรทมเหนือบัลลังก์พญาอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร โดยมีพระลักษมีประทับเคียงคู่ เมื่อมนุษยโลกเกิดทุกข์เข็ญ ด้วยเหตุที่นนทุกผูกพยาบาทลงมาเกิดเป็นพญายักษ์ทศกัณฐ์สร้างความเดือดร้อน พระอินทร์และทวยเทพเสด็จมาอัญเชิญพระนารายณ์ให้อวตารเป็นพระราม

ฉากที่ 2 กฤษฎาภินิหารพระรามา พระรามสำแดงกฤษฎาภินิหารตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย สังหารกากนาสูรอสูรญาติของทศกัณฐ์ ซึ่งแปลงเป็นกามารบกวนเหล่าฤษีที่บำเพ็ญตบะ เมื่อเจริญวัยขึ้นไปสำแดงฤทธิ์ยกมหาธนูโมลีที่เมืองมิถิลา ได้อภิเษกกับนางสีดา ครั้งนั้นพระรามได้เห็นพักตร์นางสีดาเป็นครั้งแรก

ฉากที่ 3 สำมนักขาก่อศึก หลังจากพระรามและนางสีดากลับมายังนครอโยธยา นางไกยเกษีทวงสัญญาที่ให้พระพรตพระอนุชาของพระรามขึ้นครองกรุงอโยธยา ท้าวทศรถต้องจำยอม พระรามพระลักษมณ์พร้อมทั้งนางสีดารับสัตย์จากพระบิดาออกเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี ทั้ง 3 พระองค์ผนวชเป็นฤษี ขณะอยู่ในป่า สำมนักขาขนิษฐาของทศกัณฐ์ได้พบพระรามเข้าไปเกี้ยว ในที่สุดถูกพระลักษมณ์ “ตัดตีนสินมือ” จึงไปฟ้องและยุยงทศกัณฐ์ซึ่งมีราคะจริตแรงกล้าจนหลงเชื่อ ฉากที่ 4 พลัดพราก  ทศกัณฐ์อุบายให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทอง ล่อลวงให้พระรามออกติดตามกวาง เมื่อได้โอกาสทศกัณฐ์แปลงกายเป็นสุธรรมฤาษีเข้ามาฉุดคร่านางสีดา พาขึ้นราชรถเหาะไปยังกรุงลงกา

จากนั้นเข้าสู่ องค์ที่ 2 ฉากที่ 5 ทศกัณฐ์รบสดายุ ทศกัณฐ์พานางสีดาขึ้นราชรถพบกับนกสดายุที่ขวางหน้าไว้ ในที่สุดทศกัณฐ์ถอดธำมรงค์ของนางสีดาขว้างไปถูกนกสดายุ จนปีกหักตกจากท้องฟ้า สีดาเปลื้องผ้าสไบทิ้งลงเป็นสัญญาณให้พระรามตามได้ถูกทาง

ฉากที่ 6 พระรามได้พล  พระรามติดตามนางสีดามาถึงป่าใหญ่ พระรามเศร้าโศกคร่ำครวญถึงนางสีดา ได้ประทับพักผ่อนใต้ต้นหว้าใหญ่ซึ่งหนุมานแอบอยู่ พระลักษมณ์เฝ้าปรนนิบัติเข้าขับไล่ เมื่อพระรามทอดพระเนตรเห็นหนุมานเรียกให้เข้ามาเฝ้า แล้วใช้หัตถ์ลูบหนุมานทำให้พ้นคำสาปของพระอุมากลับมีฤทธิ์ดังเดิม หนุมานรู้ว่าพระราม คือ พระนารายณ์อวตาร ได้เข้าเฝ้าและไปนำพลวานรมาสวามิภักดิ์ รับอาสาออกทำศึกติดตามนางสีดา

ฉากที่ 7 สงคราม พระราม พระลักษมณ์ พลวานรเมืองขีดขินและเมืองชมพูยกกองทัพข้ามสมุทรมาทำสงครามกับฝ่ายทศกัณฐ์และญาติวงศ์ ทศกัณฐ์ออกรบด้วยตนเองจนถูกศรพระราม ทำให้กาย กร เศียร บาท ขาดกระเด็น แต่เหตุที่ทศกัณฐ์ถอดดวงจิตออกจากร่าง ได้ร่ายเวทมนตร์ให้อวัยวะกลับคืนมาต่อติดดังเดิม ทั้งสองฝ่ายต่างหย่าทัพกลับเข้าเมืองฉากที่ 8 เฉลิมพระเกียรติพระจักราวตาร  หลังจากสิ้นสงครามปราบฝ่ายอธรรม    พระรามรับนางสีดากลับคืนกรุงอโยธยา พระญาติวงศ์ออกมาเชิญเสด็จกลับนคร มีการสมโภชชัยชนะ ทั้งข้าราชบริพารและทวยเทพแซ่ซ้องสาธุการ

แต่ละฉากยิ่งใหญ่งดงามตระการตาด้วยกระบวนท่ารำถูกต้องตามจารีตนาฏกรรมชั้นสูง แสดงเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นไทยได้อย่างแท้จริง พร้อมเทคนิคพิเศษ แสง สี เสียง สะกดสายตา ปีนี้พิเศษนักแสดงจำนวนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่บากบั่นฝึกซ้อมต่อเนื่อง เคี่ยวกรำโดยผู้เชี่ยวชาญครูโขนละครนาฏศิลป์ที่มุ่งมั่นพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่ สืบสานศิลปะการแสดงโขนของไทยที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ

ทั้งนี้ สำหรับบัตรการแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ  ตอน “พระจักราวตาร” ยังเปิดจำหน่ายทางไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา โดยราคาบัตรจะอยู่ที่ 2,000 บาท, 1,800 บาท, 1,000 บาท, 800 บาทและ 600 บาท ส่วนรอบนักเรียนบัตรจำหน่ายหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความพิเศษโขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'

ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ก่อนเริ่มแสดงโขน ตอน “พระจักราวตาร” มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดพิธีคำนับครูขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา  ณ วิทยาลัยนาฏศิลป

เบื้องหลังโขนศิลปาชีพ ตอน'พระจักราวตาร'

การแสดงโขนสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ตอน” พระจักราวตาร” โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง    ใกล้จะเปิดม่านถ่ายทอดความวิจิตรงดงามของนาฎกรรมชั้นสูงสานต่อศิลปะการแสดงโขนมรดกชาติและมรดกโลก

สุดยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'

จากพระราชหฤทัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ที่ทรงตั้งมั่นฟื้นฟูศิลปะการแสดงโขน ที่ครั้งหนึ่งผู้ชมเบาบาง ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก กลายเป็นการแสดงโขนยอดนิยม ดึงดูดให้คนออกจากบ้านมาดูโขนและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้

เปิดตัวโขนพระราชทาน'จักราวตาร'

วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แถลงข่าวเปิดตัวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พระจักราวตาร โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้

วธ.จัดการแสดงเทิดพระเกียรติสถาบันกษัตริย์

5 มิ.ย. 2567 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดแถลงข่าวกิจกรรมเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ประจำปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567