ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก หรือ “Global Plastic Treaty” ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในระหว่างวันที่ 25 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2567 องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการที่ติดตามปัญหามลพิษพลาสติกที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตเน้นย้ำถึงความสําคัญของการกําหนดข้อบัญญัติในสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับนี้ โดยเฉพาะประเด็นในข้อบัญญัติของสนธิสัญญาฯ ที่จะนําไปสู่การกําหนดเป้าหมายการลดการผลิตพลาสติกเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งรวมถึงการลดการใช้วัสดุที่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการผลิตพลาสติก ,การลดและยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายบางชนิดในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกนานาชนิด , มาตรการด้านความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ เช่น ควรมีข้อมูลอะไรบ้างที่จะแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ,การกําหนดเป้าหมาย เพื่อลดหรือยกเลิกการผลิตบรรจุภัณฑ์บางประเภทที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และการกําหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบรองรับการใช้ซ้ำและการเติม ช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
เหตุนี้ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กรีนพีซ ประเทศไทย, สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดสัมมนาวิชาการ “โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก : การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค เมื่อวันก่อน
ปัญหามลพิษพลาสติกทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหา จะลดการผลิตและการบริโภคพลาสติกในประเทศไทยอย่างไรให้ยั่งยืน ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ นักรณรงค์อาวุโส มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) กล่าวว่า จากรายงานต่างๆ การผลิตพลาสติกมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดโลกรวนจริงๆ ที่เน้นย้ำ 99% ของพลาสติก ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หากจะเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด พลาสติกควรอยู่ในสมการด้วยหรือไม่ ไม่รวมผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ หลายคนตั้งคำถามการผลิตพลาสติกในประเทศไทยยั่งยืนหรือไม่ EJF เสนอ 3 เกณฑ์ความยั่งยืน เกณฑ์ที่ 1 การผลิตพลาสติกอยู่ในระดับที่มนุษย์สามารถหลีกเลี่ยงและสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ เกณฑ์ที่ 2 การผลิตพลาสติกต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด มีสุขภาวะที่ดี และยั่งยืน เกณฑ์ที่ 3 ปราศจากการผลิตพอลิเมอร์และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย
ศลิษา กล่าวต่อว่า สำหรับผลการประเมิน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกปฐมภูมิ พบว่า การผลิตพลาสติกของไทยก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 27.3 ล้านตันคาร์บอนต่อปี หรือ 7.3% ต่อปี เทียบกับภาคเกษตรกรรม 15.23% พลาสติกเกือบครึ่ง ปล่อยสูงกว่าภาคจัดการขยะด้วยซ้ำ ส่วนการก่อกำเนิดขยะพบว่าพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ ต้องใช้สารเคมีแต่งเติม ไทยผลิตพลาสติก 9 ล้านตันต่อปี สุดท้ายคือขยะพลาสติกในอนาคต แม้ไทยพัฒนาระบบรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ 33% เทียบเท่ายุโรป ไทยยังขยะพลาสติกสูง 1.3 ล้านตันต่อปีอยู่ดี จากรายงานจุฬาฯ 36% ของพลาสติกที่ผลิตในไทยเป็นแบบใช้ครั้งเดียว มีอายุใช้งานสั้น เสี่ยงเป็นขยะพลาสติก
“ จากการสำรวจเดือนกันยายนปี 66 – กันยายนปี 67 เกิดเหตุเพลิงไหม้จากโรงงานพลาสติก 24 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง เกิดมลพิษและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน พลาสติกแทรกแซงในสิ่งแวดล้อม และห่วงโซ่อาหารมนุษย์ ตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ ขยะพลาสติกในหลุมฝังกลบมากกว่า 80% เป็นพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็น แสดงการผลิตที่ไม่มีความไม่ยั่งยืน ในปี 2561 ไทยตั้งเป้าจะยุติการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก 7 ประเภทในปี 2565 ปัจจุบันออกกฎหมายแบนได้เพียงชนิดเดียวเท่านั้น สรุปได้ว่า การผลิตและการบริโภคพลาสติกในไทยไม่ยั่งยืน ไทยสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกสูงเป็นอันดับต้นของโลก รวมถึงอุดหนุนการผลิตพอลิเมอร์เทียบเท่าจีน ญี่ปุ่น เงินตรงนี้ควรเปลี่ยนไปสนับสนุนพัฒนาระบบรองรับการใช้ซ้ำและการเติม ช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหรือไม่ “ ศลิษา กล่าว
การลดพลาสติกในประเทศไทยที่ไม่ยั่งยืน นักรณรงค์อาวุโส EJF เสนอว่า การผลิตที่ยั่งยืน ปราศจากการผลิตพอลิเมอร์และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย เริ่มจากยกเลิกการใช้พลาสติกประเภท PVC and Ps เพราะเป็นพอลิเมอร์ที่น่ากังวล และอาจเป็นกลุ่มที่ต้องยุติการใช้ภายใต้ข้อบทสนธิสัญญาพลาสติกโลก นอกจากนี้ เราไม่สามารถหยุดการใช้พลาสติกได้ หากไม่มีโครงสร้างรองรับ จึงเสนอให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการใช้ซ้ำและการเติมสำหรับการบริโภคและการจำหน่าย มุ่งเป้าขยายร้อยละ 50 เพื่อทดแทนพลาสติกที่ไม่จำเป็นและหลีกเลี่ยงได้ หากทำตามนี้ไทยจะลดการผลิตพลาสติกปฐมภูมิได้ 20% อีกฉากทัศน์มุ่งยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว จะลดการผลิตพลาสติกได้ 36% จากการผลิตพลาสติกทั้งหมด ไทยมีศักยภาพที่จะลดพลาสติก อยากให้ไทยพิจารณาข้อเสนอนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทํามาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่จะมีการประชุมและเจรจาครั้งสุดท้าย (INC-5) เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก
เวทีนี้เจาะลึกผลกระทบของพลาสติกตลอดวงจรชีวิต มีการตั้งคำถามพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเป็นทางออกสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนจริงหรือไม่ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กรีนพีซทำงานลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งมาต่อเนื่อง พลาสติกมีต้นทางจากเชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลกระทบต่อสุขภาพและก่อโรคต่างๆ แต่มีตัวละครใหม่ที่อ้างช่วยกอบกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม คือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ กรีนพีซศึกษาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลากระบุพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งมาพร้อมฉลากสีเขียว ทดลองและวิจัยดูอัตราการย่อยสลายบรรจุภัณฑ์และอัตราการแตกตัวของไมโครพลาสติก ระยะเวลา 6 เดือนของการศึกษา ผลการทดลองบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์หนึ่ง ทดลอง 3 รูปแบบ ได้แก่ ในทะเล , ตู้ปลาใส่น้ำทะเลที่มีการควบคุมอุณภูมิ และฝังลงในพื้นดิน
ผลทดลอง ทั้งแก้วกาแฟ ถุงน้ำตาล หลอด ระบุพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ พบอัตราการย่อยที่สูงมากจนไม่สามารถเห็นรูปลักษณ์เดิม และเจอไมโครพลาสติกที่หลุดจากบรรจุภัณฑ์ที่มาจากการย่อย ข้อค้นพบที่ 2 แก้วกาแฟ ถุงหูหิ้ว กล่องใส่อาหาร ที่ระบุพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผลทดลองคงสภาพเดิม ไม่ย่อย และพบไมโครพลาสติก ซึ่งมาจากสีที่สกรีนบนบรรจุภัณฑ์นั้นๆ ข้อค้นพบสุดท้ายถุงหูหิ้ว กล่อง ไม่พบไมโครพลาสติก แต่ก็ไม่ย่อยสลายในสิ่งแวดล้อม กรีนพีซเตรียมเปิดเผยผลการศึกษาอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้
“ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเป็นพระเอกจริงเหรอ หรือจะเป็นผู้ร้ายในคราบพระเอกที่อาจจะก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมาในอนาคต ซ้ำเติมวิกฤตพลาสติกในรุนแรงมากขึ้น การแก้ปัญหาพลาสติกของโลกต้องมุ่งลดการผลิตพลาสติก และเน้นการใช้ซ้ำ หันมาแก้ปัญหาอย่างแท้จริงด้วยการสร้างระบบการใช้ซ้ำ ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรตลอดวงจรชีวิตพลาสติก จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน เพื่อให้ทรัพยากรหนึ่งชิ้นที่ผลิตขึ้นมาบนโลกได้ใช้อย่างคุ้มค่าและหยุดวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง จนกลายเป็นมลพิษพลาสติกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ฝากภาครัฐถึงเวลาปรับหรือกำกับการใช้ข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ความจริงกับสิ่งที่ปรากฎในฉลากเป็นสิ่งเดียวกัน ช่วยผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและมีส่วนร่วมลดมลพิษพลาสติก การเลือกซื้อของผู้บริโภคสำคัญเป็นอีกกลไกขับเคลื่อน ด้านภาคการผลิตภาคเอกชนเป็นผู้นำยกเลิกการผลิตบรรจุภัณฑ์บางประเภทที่หลีกเลี่ยงได้จะสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญ สร้างการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนให้ไทย “ พิชามญชุ์ กล่าว
มลพิษในพลาสติกตีแผ่ผ่าน ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า ผลการศึกษาสารมลพิษในพลาสติกและพลาสติกรีไซเคิลจาก 24 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย พบว่า นอกจากเจอสารเคมีหลายชนิด เม็ดพลาสติกไทยพบสารรบกวนการทำงานต่อมไร้ท่อ มีความเป็นไปได้มีการปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งในชีวิตประจำวันผู้บริโภคมีโอกาสพบเจอจากสินค้าพลาสติกราคาถูก หากปนเปื้อนสู่ร่างกายมนุษย์ อาจสัมผัสต่อสารเหล่านี้ได้ เป็นเรื่องน่ากังวล ส่วนการศึกษาสารพิษตกค้างยาวนานในพื้นที่จัดการขยะรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ มีส่วนประกอบพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งมักใส่สารฉวนกันติดไฟ เพื่อทนความร้อนและเพิ่มคุณสมบัติตรงตามผู้ผลิตต้องการ จากการเก็บตัวอย่างดิน ฝุ่น ไข่ไก่ เปลือกหอย รวมถึงตัวอย่างเลือดผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิด ที่น่าตกใจพบสารปนเปื้อนสารตกค้างยาวนานในเลือดมนุษย์สูงกว่าพื้นที่อ้างอิงที่ประชาชนไม่สัมผัสขยะอิเล็กทรอนิกส์และเป็นเกษตรินทรีย์ถึง 4 เท่า แสดงผลกระทบมลพิษในพลาสติก
“ พลาสติกที่ใส่สารแต่งเต็มไม่หายไปไหน สุดท้ายหลุดรอดสู่ร่างกายมนุษย์ ประเทศไทยมีการปนเปื้อนมลพิษพลาสติกในหลายๆพื้นที่ ไม่เฉพาะกาฬสินธุ์ เกินค่าความปลอดภัยของ WHO โดยเฉพาะกลุ่มพื้นที่ที่มีการจัดการขยะพลาสติก คัดแยก หลอมพลาสติก เผาในที่โล่ง หรือกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้พลาสติกเป็นเชื้อเพลิง หากขาดการจัดการที่ดีจะหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม มองว่า หากไม่มีการห้ามใช้สารแต่งเติมพลาสติก จะส่งผลกระทบระยะยาว ควรจะมีสารอื่นทดแทนที่ยั่งยืนกว่าในกระบวนการผลิตพลาสติก “ ฐิติกร กล่าว
ไมโครพลาสติกอีกภัยเงียบในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ดร.ศีลาวุธ ดำรงศิริ นักวิจัยชำนาญการสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกที่ขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอาจมองเห็นด้วยตาเปล่า จนถึงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันก็คือพลาสติกและมีคุณสมบัติและสารเคมีอยู่ อายุของพลาสติกมีตั้งแต่สิบปีจนถึงหลายร้อยปีค่อยๆ ย่อยสลาย แตกออก เล็กลง และกลายเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งอยู่ได้อีกนับร้อยปี สิบปีที่ผ่านมานักวิจัยสนใจศึกษาไมโครพลาสติก ไมโครพลาสติก 100% มาจากขยะพลาสติกทั้งที่หลุมฝังกลบ ขยะในแม่น้ำลำคลอง เกิดแพขยะขนาดใหญ่ ซึ่ง 80% เป็นขยะพลาสติก บางส่วนถูกพัดพามากองชายหาด ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน กลายเป็นไมโครพลาสติก อีกส่วนหนึ่งเสื้อผ้าจากเส้นใยพลาสติก ทั้งไนลอน โพลีเอสเตอร์ ทุกครั้งที่ซักแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนในระบบนิเวศ
“ นอกจากไมโครพลาสติกในทะเล แม่น้ำ ยังพบในผืนดิน พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมือง นาเกลือ ขั้วโลก แม้แต่เก็บฝน เก็บเมฆ มาตรวจพบไมโครพลาสติก เหมือนฝุ่นPM2.5 ที่ฟุ้งกระจายไปทั่ว นอกจากนี้ พบไมโครพลาสติกในปลาทู ปลาหมึก กุ้ง ปลา หอยสองฝา แม้กระทั่งในพืชผักพบไมโครพลาสติกในเนื้อ โดยดูดซึมผ่านราก ซึ่งน่าตกใจมาก เมนูอาหารต่างๆ ประเภทโปรตีนเจอไมโครพลาสติก หากใส่จานพลาสติกใส่อาหารเข้าไมโครเวฟเจอไมโครพลาสติกจำนวนมาก แม้กระทั่งเขียงพลาสติก ในน้ำดื่มบรรจุขวด ตลอดจนหน้ากากอนามัยสูดทุกวัน ยิ่งใช้ซ้ำ ไมโครพลาสติกยิ่งเข้าสู่ร่างกาย ในมนุษย์เจอในสมอง หัวใจ ปอด ตับ อวัยวะเพศชาย เลือด ที่น่ากลัวพบในอุจจาระและปัสสาวะ แสดงถึงอนุภาคที่เล็กมาก อันตรายคือรบกวนฮอร์โมน เซลล์ ขัดขวางการทำงานเส้นเลือดอาจอุดตันเส้นเลือดฝอย ทั้งยังเกี่ยวข้องกับระบบประสาท ลำไส้ “ ดร.ศีลาวุธ เผยพิษพลาสติกต่อสุขภาพ เน้นย้ำไทยควรมีเป้าหมายลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง
ขอบคุณภาพ : มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กรีนพีซ ประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดจุดดับร้อนทั่วกรุง พกขวดเติมน้ำฟรี
การใช้ขวดน้ำพกพาไปเติมน้ำดื่มเองทุกวัน เป็นวิธีการง่ายๆ ช่วยลดขยะขวดพลาสติก ถ้าใครเคยตั้งคำถามว่า คนกรุงเทพทิ้งขวดพลาสติกกันมากแค่ไหน จากการสำรวจของ Environmental Justice Foundation Thailand (EJF) พบว่า ประชาชนร้อยละ 99
'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก
ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)
ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน