ความพิเศษโขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'

ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ก่อนเริ่มแสดงโขน ตอน “พระจักราวตาร มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดพิธีคำนับครูขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา  ณ วิทยาลัยนาฏศิลป (ศาลายา) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมี พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และประธานกรรมการอำนวยการ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นประธานในพิธี โดยมี คณะกรรมการ ผู้กำกับ ครูผู้เชี่ยวชาญอาจารย์ผู้ฝึกซ้อม ศิลปิน นักแสดงโขน ทั้งระดับศิลปินชั้นครูและเยาวชน พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานทุกส่วน เข้าร่วมพิธีคำนับครู ซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีครูสมบัติ แก้วสุจริต ศิลปินแห่งชาติ เป็นครูผู้ประกิบพิธีคำนับครู ก่อนจะเริ่มทำการซ้อมการแสดงเป็นครั้งแรก เพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการแสดงที่ยิ่งใหญ่สมการรอคอยของผู้ชมสำหรับการแสดงที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 7 พ.ย. – วันที่ 8 ธ.ค. 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายหลังจบพิธีคำนับครู ประธานในพิธีฯ มอบทุนพระราชทานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี2567 ให้แก่นักแสดงที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วภูมิภาค สาขาละครพระ ละครนาง โขนพระ โขนยักษ์ โขนลิง สาขาละ 3 ทุน รวม 15 ทุน

ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ผู้กำกับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”พระจักราวตาร” กล่าวว่า พิธีคำนับครู ถือเป็นพิธีสำคัญในวงการนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ ดนตรี และท่ารำ เป็นเพลงและท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเริ่มกิจกรรมแรกการฝึกซ้อมและการแสดงที่สำคัญด้วยพิธีคำนับครูเช่นการแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับครูอาจารย์ ศิลปิน นักแสดงทุกคน รวมถึงผู้ที่เข้าร่วมพิธี หลังเสร็จสิ้นพิธีนักแสดงรวมตัวกันฝึกซ้อมในแต่ละสาขา เตรียมพร้อมกระบวนท่ารำต่างๆ กระบวนท่ารบ เพลงหน้าพาทย์ ที่ใช้ในการแสดง วันที่ 23 ต.ค. จะทำการซ้อมการแสดงรวมร่วมกับดนตรีครั้งแรก มีผู้ขับร้อง พลพากย์เจรจา ในแต่ละฉากแต่ละองค์ต่อเนื่องถึงวันที่28 ต.ค.  จากนั้นจะทำการซ้อมการแสดงครบทุกองค์ประกอบ ฉาก แสง สี เสียง  ณ สถานที่จริง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 29 ต.ค. นี้

“ ปีนี้เป็นปีมหามงคลของชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 92 พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ต้องการเปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นใหม่และเยาวชนไทยมีส่วนร่วมแสดงโขน จำนวนนักแสดงปีนี้มากกว่าครั้งที่ผ่านมา ส่วนตัวละครเด็ก พระราม พระลักษณ์กุมาร ได้คัดเลือกจากนักเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งตัวละครที่ประกอบการแสดงเพิ่มขึ้น เฉพาะนักแสดงและผู้บรรเลงมากกว่า 250 คน แต่หากรวมผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดกว่า 600 คน “ ดร.ศุภชัย กล่าว 

สำหรับโขน ตอน “พระจักราวตาร” อันเป็นตอนที่แสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักราหรือพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระรามโอรสของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา เพื่อปราบฝ่ายอธรรม เปรียบประดุจพระราชวงศ์จักรีที่ผดุงความสุขความสงบให้กับ               พสกนิกรชาวไทยตลอดมา ดร.ศุภชัย กล่าวว่า โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เน้นการถ่ายทอดกระบวนท่ารำโขนผ่านการแสดงและการประกอบร่างศิลปะการแสดงกับเทคนิคพิเศษต่างๆ สำหรับความพิเศษกระบวนท่ารำเน้นกระบวนท่าต่อสู้ เพราะตอนนี้พระนารายณ์อวตารมาต่อสู้ระหว่างธรรมและอธรรม จารีตการแสดงไม่นิยมให้ทศกัณฐ์ตายกลางเวที ผู้เชี่ยวชาญคิดกระบวนท่ารบที่แสดงถึงความพ่ายแพ่ทศกัณฐ์ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงกระบวนการท่ารำ ตอนพระรามตามกวาง จะสร้างมิติใหม่ นำฉากเป็นส่วนหนึ่งการแสดง เช่นเดียวกับเพลงประกอบการแสดงจะคัดสรรบทเพลงร้องที่หาชมหาฟังได้ยากอยากให้รอติดตามชมการแสดงโขน

น.ส.พรรษณสร โชติสิทธิ์วณิช นักศึกษาชั้น ปี 2 คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  นักแสดงที่ได้รับการคัดเลือกรับมอบทุนพระราชทาน สาขาละครนาง รับบท”นางสีดา” กล่าวว่า การได้รับพระราชทานทุนเป็นเครื่องพิสูจน์ความพยายามของตัวเองเพื่อได้รับโอกาสเป็นนักแสดงโขน เป็นความใฝ่ฝันที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพราะชื่นชอบการแสดง เครื่องแต่งกาย ฉาก สะกดใจมาก เมื่อเปิดออดิชั่นนักแสดงโขน ตอน”กุมภกรรณทดน้ำ” ปีที่แล้ว จึงสมัครและได้รับคัดเลือก รำเบิกโรงถวายพระพร  

ส่วนปีนี้ผ่านการคัดเลือกและได้รับบท”นางสีดา” ซึ่งเป็นตัวละครเอก ตั้งใจแสดงให้ดีที่สุด  ก่อนหน้านี้ ทยอยต่อบท ฝึกฝนเคี่ยวกรำด้วยตัวเอง รวมถึงออกกำลังและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจในการรำโขน  ตอนนี้เข้าสู่การฝึกซ้อมรวมที่วิทยาลัยนาฏศิลป (ศาลายา)โดยได้ต่อท่ากับครูรจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ และครูจากวิทยาลัยนาฏศิลป์(ศาลายา) จะเก็บเกี่ยวความรู้ร่ายรำงดงามถูกต้องให้ได้มากที่สุด เป็นโอกาสสำคัญในชีวิตร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการแสดงโขนฯ ขอเป็นส่วนหนึ่งของนักแสดงโขนที่จุดประกายความรักในมรดกศิลปวัฒนธธรรมของไทยและโลก 

ปีนี้โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พระจักราวตาร” มีความพิเศษมากกว่าทุกครั้ง กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน – วันที่ 8 ธ.ค.นี้  บัตรราคา 2,000 บาท, 1,800 บาท, 1,000 บาท, 800 บาท และ 600 บาท (รอบนักเรียน ราคา 180 บาท)       เปิดจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่เคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. 0-2262-3456

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

8 ฉากยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพ'พระจักราวตาร'

เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เบื้องหลังโขนศิลปาชีพ ตอน'พระจักราวตาร'

การแสดงโขนสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ตอน” พระจักราวตาร” โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง    ใกล้จะเปิดม่านถ่ายทอดความวิจิตรงดงามของนาฎกรรมชั้นสูงสานต่อศิลปะการแสดงโขนมรดกชาติและมรดกโลก

สุดยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'

จากพระราชหฤทัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ที่ทรงตั้งมั่นฟื้นฟูศิลปะการแสดงโขน ที่ครั้งหนึ่งผู้ชมเบาบาง ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก กลายเป็นการแสดงโขนยอดนิยม ดึงดูดให้คนออกจากบ้านมาดูโขนและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้

เปิดตัวโขนพระราชทาน'จักราวตาร'

วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แถลงข่าวเปิดตัวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พระจักราวตาร โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้