ศูนย์เรียนรู้ฯเขานาใน แหล่งธนาคารขมิ้นชัน ต่อยอดศักยภาพเมืองสมุนไพร 

ผลผลิตหัวขมิ้นชันที่สมบูรณ์ 

จ.สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งใน 14 เมืองสมุนไพรของประเทศ กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงามแบบครบวงจร ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกและแปรรูปสมุนไพรกว่า 100 แห่ง โดยเฉพาะขมิ้นชัน เห็ดแครง และน้ำมันมะพร้าว ซึ่งขมิ้นชัน เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ทางจ.สุราษฎร์ธานีมีการส่งเสริมให้ปลูกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นด้วย

หนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการปลูกขมิ้นชันคุณภาพสูงของจ.สุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนเกษตรกรรมเล็กๆ ในตำบลต้นยวน อำเภอพนม ซึ่งเดิมเน้นการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจึงหันมาปลูกขมิ้นเพื่อเสริมรายได้ กิจกรรมนี้นำไปสู่การรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรในการผลิตและแปรรูปขมิ้นเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามอย่างเป็นระบบ จนสามารถจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน

หัวขมิ้นชันหลากหลายสายพันธุ์

เส้นทางของการพัฒนาขมิ้นชันของวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ทั้งกระบวนการปลูกและการขยายสินค้าเข้าสู่ตลาดให้ได้คุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้เข้าร่วมโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า ของบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งที่ 6 โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเกษตร ด้านการตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อเป็นรากฐานในการต่อยอดพัฒนาการปลูกขมิ้นและผลิตภัณฑ์ของคนในวิสาหกิจชุมชน อาทิ โครงการแปลงทดสอบปลูกสมุนไพร ขมิ้นชัน และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร ให้ได้มาตรฐานสินค้าและบรรจุภัณฑ์

ล่าสุด บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน เปิด “ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน” แห่งแรกของภาคใต้ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบด้านการเกษตร ชูจุดเด่น Womenomics พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ด้วยบทบาทกลุ่มเกษตรกรหญิงแกร่งแห่งวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน พร้อมต่อยอดผลผลิตขมิ้นชัน ภายใต้บทบาทการส่งเสริมองค์ความรู้ด้วยระบบ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS นวัตกรรมเกษตรครบวงจรของสยามคูโบต้า ในการปลูกพืชสมุนไพร

บันดาล สถิรชวาล

บันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ความสำคัญกับการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งด้านเกษตรกรรมยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยว ด้านสิ่งแวดล้อม และการผลักดันให้เป็นเมืองสมุนไพร ดังนั้นในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน จึงเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ ในการยกระดับศักยภาพให้จ.สุราษฎร์ฯ เป็นเมืองสมุนไพรครบวงจร และมีการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพราะในจังหวัดมีเกษตรกรประมาณ 70% จากจำนวนประชากรทั้งหมดราวๆ 1 ล้านคน ซึ่งในอ.พนม ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาขมิ้นชันที่มีคุณภาพสูงได้การรับรองมาตรฐาน GI มากที่สุด ทั้งนี้จะเร่งดำเนินการในการช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากขมิ้นชันของศูนย์ฯ ให้ได้การรับรอง อย. เพื่อรองรับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า จะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าและส่งเสริมให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าสนใจยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็น Wellness Tourism  ของจังหวัดในในอนาคต

จูนจิ โอตะ

ด้านจูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เขานาใน” ในครั้งนี้ ได้มีการทำการศึกษาวิเคราะห์พื้นที่การเกษตรในชุมชน โดยพบว่าต้นทุนการปลูกขมิ้นสามารถลดลงได้หากมีการเตรียมการที่ดีและได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย รวมถึงวางแผนช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ในด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สยามคูโบต้าได้จัดหลักสูตรอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านการศึกษาดูงาน รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งทำให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่งรวมความรู้ด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบในการใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจรในการปลูกพืชสมุนไพร ศูนย์แห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการผลิตสมุนไพร สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน ต่อยอดเศรษฐกิจของจังหวัด และยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในด้านการเกษตร

แทรกเตอร์คูโบต้า เติมเต็มศักยภาพเกษตรกร

“ทั้งนี้มีแผนที่จะพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน ให้เป็นธุรกิจชุมชนต้นแบบ โดยตั้งเป้าเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและศูนย์นวดแผนไทยของจ.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาความยั่งยืนสู่การเป็นฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming Model ของภาคใต้ เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรและภาคการเกษตรต่อไป” กรรมการผู้จัดการใหญ่ สยามคูโบต้า กล่าว

หนูเรียง จีนจูด

แม่ทัพชุมชนบ้านเขานาใน หนูเรียง จีนจูด ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ได้เล่าว่า การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในชุมชนนี้เริ่มขึ้นจากความตั้งใจของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการเสริมสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ภายหลังจากที่ก่อตั้งกลุ่มมาได้ระยะหนึ่ง กลุ่มก็สามารถจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 35 คน และมีพื้นที่การเกษตรรวม 600 ไร่ ประกอบไปด้วยพื้นที่ปลูกยางพารา 390 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 210 ไร่ และขมิ้นชัน 100 ไร่ อีกทั้งยังมีเครือข่ายเกษตรกรนอกกลุ่มที่ปลูกขมิ้นชันเสริมอีก 500 ไร่

ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวต่อว่า การปลูกขมิ้นชันในพื้นที่นี้เริ่มต้นจากการปลูกแซมตามร่องสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยการปลูกจะทำเพียงปีละครั้งและใช้แรงงานคนในกระบวนการเพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งมีการใช้สารเคมีเพื่อปราบวัชพืชและเตรียมดินสำหรับการปลูกขมิ้น เมื่อขมิ้นเริ่มเติบโตก็จะใช้จอบขุดหัวขมิ้นขึ้นมา กระบวนการนี้ส่งผลให้หัวขมิ้นเสียหายเนื่องจากคมจอบ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 600 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตขมิ้นชันสดจะถูกนำไปจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นและโรงพยาบาลในพื้นที่

ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน

ในระยะต่อมา กลุ่มแม่บ้านได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการแปรรูปขมิ้นชันให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมรายได้ กลุ่มจึงเริ่มต้นการนำสมุนไพรต่างๆ มาผสมผสานเพื่อทำเป็นลูกประคบ ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้า ต่อมาจึงพัฒนาเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ครีมนวด ยาดม และสครับ แต่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่ได้มาตรฐานการผลิต จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการกับคูโบต้า ได้ดำเนินการจัดทำแปลงทดสอบขมิ้นชันด้วยวิธีการ KAS ร่วมกับสยามคูโบต้า ต่อมาได้รับเครื่องจักรกลการเกษตร แทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ผ่านโครงการคูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ มาใช้บริหารจัดการร่วมกันในชุมชน ทำให้ได้ผลผลิตขมิ้นชันสูงเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนก็ลดลงเพราะไม่ต้องใช้สารเคมี แทรกเตอร์สามารถขุดพรวนและยกร่องดินได้ดี ยังมีการพัฒนางานแปรรูปร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ช่วยสร้างรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน รวมถึงสร้างมาตรฐานการผลิตสมุนไพรควบคู่กับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์นี้ฯ ทำให้การปลูกขมิ้นและสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขมิ้นที่กำเนิดบนแหล่งปลูกที่ดีที่สุดของไทย จึงทำให้มีสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid) สูงและได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน

นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน ได้ต่อยอดสู่การสร้างธนาคารขมิ้น จำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ ขมิ้นชัน ขมิ้นแดงสยาม ขมิ้นดำ ขมิ้นขาว ขมิ้นด้วง และขมิ้นอ้อย เพื่อเป็นแหล่งเพาะปลูกสำหรับขยายพันธุ์แจกจ่ายให้เกษตรกรของกลุ่ม ช่วยลดต้นทุนการซื้อจากแหล่งภายนอก และสร้างรายได้เพิ่ม สำหรับศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า – เขานาใน โซนอาคารแปรรูปสมุนไพร และโซนแปลงส่งเสริมการปลูกขมิ้นชันด้วย ระบบ KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS

สำหรับกลุ่มสินค้าสมุนไพร ได้แก่ ครีมนวดคลายเส้น ยาดม ลูกประคบสมุนไพร ยาหม่อง สมุนไพรอบแห้งเพื่อสุขภาพ สมุนไพรแช่มือแช่เท้า น้ำมันว่าน108 สมุนไพรอบตัว และพิมเสนน้ำ กลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่สมุนไพร สครับขมิ้น และกลุ่มสินค้าบริโภค ได้แก่ เครื่องแกงเผ็ด เครื่องแกงไตปลา  นับเป็นการยกระดับวิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาในอย่างมีคุณภาพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สุราษฎร์ธานี’ น่าห่วง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้ว่าฯ สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด

สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเริ่มเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รักษาการผู้ว่าฯ สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

'ผบ.ทบ.' สั่งกำลังทหารช่างเคลื่อนย้ายเข้าช่วยประชาชน จ.สุราษฎร์-ชุมพร

“ผบ.ทบ.” สั่งกำลังทหารช่างเคลื่อนย้ายจาก จ.ปัตตานี เข้าช่วยใน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ชุมพร สมทบหน่วยทหารในพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชนหลังเกิดอุทกภัย

‘ลุงป้อมสู้ๆ’ กองเชียร์กระหึ่ม ต้อนรับ ‘ประวิตร’ ยกคณะลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี

‘บิ๊กป้อม’ควง’ชัยวุฒิ-สันติ-บิ๊กช้าง’ลงสุราษฎร์ธานี ส.ส.นครศรีธรรมราช พปชร.แห่รับ กองเชียร์กระหึ่ม ‘ลุงป้อมสู้ๆ’ พร้อมรับปากจัดหาที่ดินทำกินให้ชาวสวนปาล์ม จี้ 13 มาตรการรับฤดูฝนป้องอุทกภัยใต้

นายกฯ ห่วงน้ำท่วมสุราษฎร์ธานี สั่งหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชน เฝ้าระวังหลายพื้นที่

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชน จ.สุราษฎร์ธานี หลังได้รับทราบรายงานสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี