ซุ้มประตู'มังกร' แลนด์มาร์กใหม่ไชน่าทาวน์

ซุ้มประตูจีน ถือเป็นแลนด์มาร์กแสดงอาณาเขตของไชน่าทาวน์หรือพื้นที่ของชุมชนชาวจีนทั่วโลก แน่นอนว่า ในประเทศไทยมีชุมชนชาวจีนอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เกิดไชน่าทาวน์ขึ้นในหลายจังหวัด ทั้งในบริบทการเป็นชุมชน เป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่การเศรษฐกิจการค้า และสถานที่ท่องเที่ยว ย่านเยาวราชในกรุงเทพมหานคร ได้ชื่อว่า เป็นไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นย่านท่องเที่ยวและแหล่งสตรีทฟู้ดที่ดึงดูดผู้คนทั่วทุกมุมโลกมาเยือนสักครั้งในชีวิต

เพื่อสร้างแลนด์มาร์กใหม่ให้กับถนนสายมังกร สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท)  ผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28  กรกฎาคม 2567 ซึ่งซุ้มประตูศิลปะแบบจีนลวดลายมังกร แสดงสัญลักษณ์แห่งความกตัญญู สะท้อนความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ พิกัดแรกสะพานดำรงสถิต ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน สสธวท.  กล่าวว่า สืบเนื่องจากการจัดงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 25  ส.ค. ที่ผ่านมา สำเร็จลุล่วง ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการจัดงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมในเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” และคณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าถวายเงิน เพื่อเป็นทุนประเดิมการก่อสร้าง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินทุนประเดิมแก่คณะกรรมการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติและขอพระบรมราชวินิจฉัย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวัง ยังความปลื้มปีติแก่คณะกรรมการจัดงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ จึงมีปณิธานที่แน่วแน่เชิญชวนให้ชาวไทยมีบทบาทในโครงการจัดสร้างถาวรวัตถุ “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษา” 2 แลนด์มาร์กใหม่บนถนนเจริญกรุงและหน้าประวัติศาสตร์ที่จะจารึกไว้

“ สำหรับโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษา สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู และความจงรักภักดีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีพระมหากษัตริย์ไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีแนวคิดเอกลักษณ์ 5 ประการ ดังนี้ 1.พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการสดุดีเป็นมังกรแห่งมวลมนุษย์ 2.นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3.ปีพุทธศักราช  2567  เป็นปีนักษัตรปีมังกร ตามสุริยคติ 4.วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส เป็นหนึ่งในศูนย์รวมพุทธศาสนิกชน 5.ถนนเจริญกรุงได้ชื่อว่า ถนนสายมังกร ที่สำคัญยังได้รับเมตตาจากพระคณาจารย์จีน ธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส มอบแนวคิดการออกแบบการก่อสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติเป็นรูปแบบซุ้มประตูตามแบบพระราชนิยมของราชวงศ์จีนตอนเหนือ บางส่วนจะเป็นลายไทยออกแบบให้ผสมผสานและแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และเนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี ในปี 2568  สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ขอทูลเกล้าฯ ถวายหินฮั่นไป๋หวี่ เป็นหินอ่อนหยกสีขาว  แกะสลักรูปช้าง สิงโต และกลอง เพื่อประดิษฐานที่เสาซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย” คุณหญิงณัฐิกา กล่าว

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กว่าจะกำหนดจุดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ไม่ง่ายเลย  เป็นที่ทราบกันดีว่า ถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกในกรุงเทพฯ  มีการสำรวจ กำหนดจุด และหารือร่วมกัน เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสเน้นย้ำว่าการสร้างซุ้มประตูที่สมบูรณ์แบบต้องมีทั้งหัวมังกรและท้ายมังกร  ก่อนได้ข้อสรุปว่า จุดแรกหัวมังกรอยู่ที่สะพานดำรงสถิต เมื่อวิ่งผ่านถนนเจริญกรุงขึ้นสะพานดำรงสถิต จะเข้าสู่ประตูไชน่าเกตอันยิ่งใหญ่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ย่านไซน่าทาวน์ของประเทศไทย สะพานดำรงสถิตเป็นสะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง และจุดที่สองท้ายมังกรอยู่ที่บริเวณห้าแยกหมอมี ทั้งนี้ ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร สำนักงานโยธา ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ จนเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างในขณะนี้ การเริ่มก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จาก สนง.เขตสัมพันธวงศ์ และ สนง.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นที่เรียบร้อย 

“ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ จะเป็นสัญลักษณ์สำคัญในปีมังกร และเป็นอัตลักษณ์ของไชน่าทาวน์ที่สร้างการจดจำ   เป็นการจัดสร้างใน 2 เขตชั้นในที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งยังไม่เคยสร้างซุ้มประตูจีน ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ย้ำพื้นที่เยาวราชส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน เป็นอีกมิติพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่ง กทม.มีโครงการพัฒนาย่านริมน้ำ เชื่อมย่านสำคัญๆ รวมถึงย่านแปลงนาม คลองโอ่งอ่าง ย่านตลาดน้อย  เป็นย่านสร้างสรรค์ เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองหลวงแห่งพหุวัฒนธรรม “ ปลัด กทม. กล่าว

ด้าน นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย  กล่าวว่า ทันทีที่ทางสถานทูตจีน ในนามรัฐบาลจีน ทราบว่า ชาวไทยและคนไทยเชื้อสายจีน มีโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงสนับสนุนและทรงมีคุโณปการอันใหญ่หลวง ในการกระชับความสัมพันธ์ไทยและจีนมาโดยตลอด

” ทางสถานทูตจีนขอมีส่วนร่วมจัดสร้างถาวรวัตถุที่แสดงถึงสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่นี้ด้วยการส่งหินแกะสลักรูปกลอง 4 คู่ ช้างแบบไทย สิงโตแบบจีนโบราณ จากหินชนิดพิเศษสีขาว ซึ่งนิยมใช้จัดสร้างสถาปัตยกรรมสำคัญอย่างพระราชวังในกรุงปักกิ่ง  ผลงานช่างแกะสลักโบราณระดับชาติ สำหรับใช้ประกอบฐานของซุ้มประตูทั้งสองแห่ง ขณะนี้เริ่มแกะสลักแล้ว คาดว่าจะเสร็จทันส่งมอบก่อนวันตรุษจีนปีหน้า นอกจากเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงแล้ว ยังร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน หินแกะสลักที่ร่วมจัดสร้างจะมีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์มิตรภาพระหว่างจีน-ไทย “นายอู๋ กล่าว

จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีนก่อตั้งมาเป็นเวลา 114  ปี  โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพถิ่นฐานเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และมีบทบาทในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยและจีนในทุกมิติ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ หอการค้าไทย-จีน สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย เป็นที่รวมของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน  ชาวจีนโพ้นทะเล และนักธุรกิจชาวจีนที่มาทำการค้าการลงทุนในไทย  ซึ่งต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย เนื่องในโอกาสมหามงคล 72  พรรษา ชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ ต่างมีความปลื้มปีติได้ร่วมจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อแผ่นดิน ปรากฏชั่วลูกชั่วหลาน

ซุ้มประตูมังกรที่จะเกิดขึ้นบนถนนเจริญกรุง ทั้งสถาปัตยกรรมและรูปแบบมีความหมายลึกซึ้ง ดร.เศรษฐพงศ์ จงสงวน รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ   กล่าวว่า ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติตั้งอยู่บนถนนสำคัญสายแรกของกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นถนนที่เปิดสู่ย่านเศรษฐกิจสำคัญ ได้ชื่อว่าเป็นถนนสายมังกร จึงออกแบบศิลปะแบบจีนภาคเหนือหรือแบบกรุงปักกิ่ง เพราะเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์และอาคารราชการของจีนตั้งแต่โบราณ

ซุ้มจะมีความงดงามสมพระเกียรติ   แบ่งออกเป็น 3  ส่วน คือ ฐานเสา มีสีแดงประดับด้วยลวดลายมังกรสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เป็นมังกร 5 เล็บ สื่อถึงมหาจักรพรรดิ์ ตามความเชื่อว่าเป็นสัตว์มงคล จำนวน 1  คู่ ตั้งอยู่บนทางเท้าทั้งสองฝั่งของถนนเจริญกรุง  ส่วนหลังคาสีเหลืองสามชั้นเป็นสีประจำพระมหากษัตริย์จีนโบราณ  โดยตรงกึ่งกลางของหลังคาชั้นบนสุดประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้านข้างซ้ายและขวาประดับด้วยมังกรปูนปั้นระบายสีหันหน้าเข้าหาตราสัญลักษณ์ฯ สื่อถึงพสกนิกรชาวไทยเชื้อสายจีนต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงปกเกล้าปกกระหม่อมให้ร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภาร

“ ฐานซุ้มเป็นฐานปัทม์แบบศิลปะไทยงดงาม ออกแบบโดยกรมศิลปากร ด้านบนประดับด้วยประติมากรรมกลองหินแกะสลัก ถัดมาด้านหน้าและด้านหลังของซุ้มประดับด้วยประติมากรรมช้างกับสิงโตแกะสลัก ทั้งหมดนี้ทำจากหินอ่อนขาวจากประเทศจีน ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนการก่อสร้างใช้วิธีเตรียมวัสดุก่อสร้างทั้งหมดจากโรงงาน แล้วขนส่งมาประกอบยังสถานที่ก่อสร้าง และประดับตกแต่งศิลปกรรมต่างๆ เพิ่มเติม “ ดร.เศรษฐพงศ์ กล่าวซุ้มประตูมังกรผสมผสานศิลปะไทย-จีนได้อย่างกลมกลืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว

เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับกทม. ชวนสายรักษ์โลกสืบสานประเพณี “ลอยกระทงดิจิทัล 2024” ใจกลางกรุง บนลาน Skywalk วันที่ 14-15 พ.ย.นี้

นางสาวพุทธชาด ศรีนิศากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ร่วมเปิดงาน เทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธี โดยเอ็ม บี เค

สส.รทสช. จี้ ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อน นอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอด

สส.เกรียงยศ จี้กทม.เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อนนอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอดใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแค่เอื้อม หวั่นชาวต่างชาตินำภาพไปเผยแพร่จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับเมืองท่องเที่ยว ดักคออย่าโยนให้แต่กระทรวงพม.

พยากรณ์อากาศ 24 ชม. ‘เหนือ’ สัมผัสหนาวต่ำสุด 18 องศาฯ ‘กทม.’ 23 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน