จะว่าไปบรรยากาศเทศกาลกินเจปีนี้ ไม่ค่อยคึกคักเท่าไหร่ อาจจะด้วยภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัดตัว หรือขาดแนวร่วมจากคนรุ่นใหม่ที่สนใจการกินเจน้อยลง ซึ่งความคึกคักที่ลดลง อาจจะเริ่มตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด มีการงดจัดงานฯ แต่ปัจจุบันแม้โควิดจะซาไปแล้ว แต่เทศกาลกินเจก็ยังไม่กลับมาคึกคักเท่าในอดีต ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต “เทศกาลถือศีล กินผัก” ซึ่งปีนี้ คึกคักสุด ๆ ตลอด 9วัน จัดเต็มตามประเพณี ความเชื่อดั้งเดิมของชาวภูเก็ต โดยเฉพาะขบวนแห่ศาลเจ้าหรืออ๊ามต่างๆ ที่ทั้งจังหวัดมีกว่า 40 อ๊าม มีทุกวันของเทศกาล ขบวนไหนจะใหญ่เล็ก ยาวเหยียด อลังการมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับขนาดของอ๊าม ซึ่งแบ่งเป็น ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หรือใหญ่มาก
ใครที่เคยได้ยิน ได้เห็น ขบวนแห่ในเทศกาลถือศีล กินผัก ของภูเก็ต ในภาพข่าวทีวี ในเว็บไซต์ หรือในรูปภาพเนื้อหาตามสื่อต่างๆ บอกได้เลยว่า ภาพม้าทรง เสียงประทัด ควันคละคลุ้ง ยังให้อารมณ์ความรู้สึกไม่เท่ากับการไปดูของจริง
เทศกาลถือศีล กินผักของภูเก็ต ปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 2-11 ตุลาคม พิธีที่สำคัญที่สุดก็คือการ ยกเสาโกเต้ง หรือยกเสาเทวดาในเย็นวันแรกก่อนเริ่มเทศกาล โดยจะจุดตะเกียงไฟไว้บนยอดเสา รวมทั้งสิ้น 9 ดวง และต้องจุดไว้ตลอดทั้ง 9 วัน จนกว่าพิธีจะเสร็จสิ้น
ขบวนแห่ของศาลเจ้าหรืออ๊ามต่างๆที่บอกก่อนหน้านี้ว่ามีทุกวัน ตลอดเทศกาล แต่เรามีโอกาสร่วม สองวันคือว้นที่ 7และ8 ตุลาคม วันที่ 7 ตุลาคม เป็นขบวนแห่ของ”อ๊ามท่าเรือ “ส่วนว้นที่8 ตุลาคม เป็นขบวนของ”อ๊ามบางเหนียว “ซึ่งขบวนของอ๊ามบางเหนียว จะใหญ่กว่าอ๊ามท่าเรือ
นับจากช่วงประมาณ 7โมงเช้า ก็ไม่มีรถราวิ่งตามถนนตัวเมืองภูเก็ตกันแล้ว เพราะเป็นที่รู้กันว่า ขบวนแห่กำลังจะมา สองข้างทางเต็มไปด้วยคนใส่ชุดขาว เฝ้ารอขบวนแห่ วันแรกขบวนของอ๊ามท่าเรือ ที่มาในรูปของรถแห่ และทีมของม้าทรงที่เดินสลับกับรถเป็นช่วงๆ ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ไม่ได้นับว่ามีรถกี่คัน รู้แต่ว่าเยอมาก ส่วนม้าทรงแต่ละชุดที่มาพร้อมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกหามบนเสลี่ยง โดยมีม้าทรงเดินนำหน้า ก็เยอะมากด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าไฮไลต์ขบวนแห่ อยู่ที่”ม้าทรง ” ขอรวมภาพม้าทรง 2วัน เพราะจะมีลักษณะคล้ายๆกัน แต่ละคนมาในชุดเครื่องแต่งกายที่ดูขลังๆ มีเหล็กเสียบแก้ม ซึ่งมีหลายแบบหลายสไตล์ บางคนมาแบบเหล็กนับสิบๆอัน เสียบเป็นแฉกๆเลย บางคนเสียบแบบกลางๆ เหล็กไม่เยอะ แต่เหล็กมีขนาดใหญ่ขึ้น กว่าพวกเสียบเป็นพวง บางคนเป็นมีดดาบ บางคนเป็นท่อนเหล็กแต่เป็นสเตนเลส ขนาดท่อน้ำประปา เสียบแก้มอันเดียว เจ้าตัวต้องใช้มือสองข้างประคองท่อนเหล็กไว้ ไม่อย่างนั้นเหล็กจะดึงเนื้อฉีกเพิ่มขึ้นได้ รายนี้เห็นเนื้อข้างแก้มทะลักเป็นสีชมพู บางคนปากคางมีเลือดหยดติ๋งๆ เพราะใช้ลิ้นแลบให้เลียคมขวานตลอดเวลา หรือบางคน ก็แลบลิ้นเลียคมดาบ มีเลือดหยดๆ ด้วยเช่นกัน บางคนทั้งเสียบแก้มและใช้เหล็กเสียบตามแชนตลอดท่อนแขนสองข้าง
หรือบางคนใช้เหล็กเสียบแค่ลิ้นอ้นเดียว แต่เชื่อว่า ต้องเจ็บมาก อาจจะเจ็บกว่าเสียบแก้ม เพราะลิ้นเป็นศูนย์รวมประสาทความรู้สึก คิดดูดิ บางทีแค่เราพลาดกัดลิ้นตัวเอง ยังแทบน้ำตาไหล นี่เอาเหล็กมาเสียบ ไม่ต้องถามว่าเจ็บแค่ไหน
ในบรรดาม้าทรง ไม่ได้มีแต่ผู้ชายเท่านั้น ยังมีม้าทรงผู้หญิงด้วย แต่จะเสียบน้อยกว่าผู้ชาย ส่วนม้าทรงชายเรียกว่าฮาร์ดคอร์ กันเต็มที่ เชื่อว่าพวกที่เสียบเยอะ ๆ หรือใช้เหล็กท่อนใหญ่ๆ เป็นพวกรุ่นเก๋า ทำมาหลายปีแล้ว ส่วนพวกมือใหม่ ก็อาจจะเสียบไม่เยอะ
หลายคนอาจจะแคลงใจว่า มีเทพมาเข้า”ม้าทรง”จริงหรือไม่ เพราะม้าทรงแต่ละคนจะมีอาการ ที่ดูแล้วไม่เหมือนคนปกติทั่วไป บางคนเดินไปสั่นไป บางคนเหมือนตกอยู่ในภวังค์ บางคนพึมพำๆ บางคนดูคึกคักทรงพลัง ห้าวหาญ
และท่ามกลางเสียงกลอง ฉาบ ประทัด เสียงพูดเหมือนสวด ขบวนที่คึกคัก ม้าทรงในรูปแบบ สยดสยอง ผู้คนรอบข้างมากมาย ในชุดสีขาว ที่กราบไหว้ขบวนที่ผ่าน แสดงถึงความศรัทธาที่เต็มเปี่ยมของชาวเมือง หรือในบางขบวนก็มีเจ้าแม่กวนอิมคอยโปรยน้ำมนต์ แจกของ รวมทั้งม้าทรงเองก็แจกของด้วยเช่นกัน ของที่แจกก็เป็นพวกสร้อยถักด้ายไหมพรม ลูกอม สร้อยข้อมือที่เป็นลูกปัด ผลไม้ กระดาษเขียนเป็นภาษาจีนที่แปลความได้ว่าเป็นคำอวยพรมงคล ผู้คนต่างยื่นมือยื้อแย่งเพื่อรับของแจกมงคล
แน่นอนอีกอย่างก็คือ เสียงประทัดที่ดังรัวเปรี้ยงปร้่างตลอดเวลา ราวกับอยู่ในสงคราม เยอะจนควันโขมงคละคลุ้งเต็มไปหมด ซึ่งว่ากันว่า การจุดประทัดจะต้องโยนใส่ลงไปในกลางวงขบวนแห่ ถ้าไม่อยู่กลางวงถือว่าไม่ได้บุญ ทั้งหมดนี้ เป็นบรรยากาศที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ให้ความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา ขลัง ไปพร้อมๆกัน ด้วยเหตุนี้ ความสงสัยก็ลดลง เชื่อว่าถ้าใครมาหลายๆปี ก็จะยิ่งกลมกลืน เกิดความศรัทธามากยิ่งขึ้น
จากการคำนวณคร่าวๆ แต่ละขบวนแห่ จะมีม้าทรงหลายสิบ อาจจะไม่ต่ำกว่า 50 คน ทำให้ 9วันน่าจะมีม้าทรงหลายร้อยคน ยิ่งขบวนแห่ของอ๊ามที่ใหญ่ๆ เช่น ขบวนแห่ของอ๊ามจุ๊ยตุ่ย ในวันที่ 9 ตุลาคม ที่ว่ากันว่าขบวนแห่ยิ่งใหญ่อลังการมาก การแห่กินเวลายาวนานเริ่มแห่ตั้งแต่เช้าไปจนถึงเที่ยง ทำให้การแห่ของอ๊ามก่อนหน้านี้เล็กไปเลย คาดว่าขบวนของจุ๊ยตุ่ยน่าจะมีม้าทรง เป็นร้อยๆ ในวันเดียว
ทำไมต้องมีม้าทรง คนภูเก็ต เล่าให้ฟังว่า ม้าทรง ที่ใช้เหล็กเสียบร่างกายนี้ ถือว่าเป็นผู้มารับเคราะห์แทนผู้คนที่ศรัทธา ส่วนคนที่จะมาเป็นม้าทรงนั้น แน่นอนว่าต้องเป็นผู้มีศรัทธา บางคนอาจเป็นพวกมีเคราะห์ จึงตัดสินใจมาเป็นม้าทรง ซึ่งการเป็นม้าทรง ต้องเป็นทุกปี แต่ถ้าบางคนไม่พร้อม เช่นเจ็บป่วย อายุมากขึ้น หรือติดภาระกิจต่าง ๆ ก็สามารถยกเลิกการเป็นม้าทรงได้่ ส่วนบาดแผลจากการเสียบเหล็กของม้าทรง ซึ่งเท่าที่เห็นพวกเสียบไม่มีเลือดออกให้เห็น ยกเว้นพวกที่ใช้ลิ้นเลียคมขวานหรือคมดาบ ที่มีเลือดหยดติ๋งๆ หลังจบขบวน( ซึ่งม้าทรงคนหนึ่งจะเข้าร่วมแค่หนึ่งขบวนเท่านั้น )ก็จะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามปกติ บางคนอาจมีแผลเป็นหลงเหลือ แต่บางคนไม่มีแผลเป็นให้เห็นซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก
นอกจาก ชมขบวนแห่แล้ว ยังมัโอกาสเยี่ยมตามอ๊าม หรือศาลเจ้าอีก 3-4แห่ง ซึ่งมีโรงเจ แจกอาหารเจให้กับผู้คนทุกแห่ง ซึ่งคนที่มากินมีทั้ง กินที่โรงเจเลย หรือบางคนใส่ปิ่นโตกลับบ้าน โดยคนที่ใส่ปิ่นโต จะมีใบเหลืองๆ ติดมากับปิ่นโต ใบเหลืองๆนี้ จะระบุว่ามีสมาชิกในบ้านกี่คน คนตักจะตักให้พอกับจำนวนคนที่กิน บางครอบครัวก็จะเก็บอาหารที่ใส่ปิ่นโต ไว้กินเป็นมื้อเย็น ส่วนด้านนอกรอบๆโรงเจก็มีอาหารเจขายเต็มไปหมด หรือถ้าผ่านไปทางไหน ก็จะมีแต่ร้านอาหารที่ติดธงเจ ไม่ค่อยมีร้านอาหารที่ไม่ใช่เจ หรือบางร้านที่เป็นซีฟู้ด ก็ติดป้ายหน้าร้านว่า สนับสนุนนโยบายถือศีลกินผัก ชาวภูเก็ต ด้วยการปิดร้านในช่วงนี้
ในภาพรวม ช่วง 9วันของเทศกาลถือศีล กินผัก ภูเก็ตนี้ จึงสะท้อนว่าภูเก็ตเป็นเมืองแห่งศรัทธาอย่างแท้จริง อีกทั้งมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความศรัทธา อย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นพลังแรงกล้าแบบนี้่ ที่ไหนมาก่อน นับเป็นความเข้มแข็งของเทศกาล ที่หาคู่แข่งหรือคู่เทียบได้ยาก ไม่นับเทศกาลลอยกระทง หรือสงกรานต์ที่เป็นเทศกาลของคนทั้งประเทศ .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ชำแหละทุกแง่มุม ผลกระทบคดีตากใบขาดอายุความ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงคดีตากใบที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ ภายในอายุความ 20 ปี ทำ
ชาวไทยเชื้อสายเขมรในบุรีรัมย์ จัดพิธีทำบุญให้บรรพบุรุษ ช่วงงานบุญเดือนสิบ
พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ต.ห้วยราชา อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ที่มีเชื้อสายเขมรถิ่นไทย จัดพิธี ‘ดาตาดาแย็ย’ เป็นพิธีกรรมความเชื่อ เพื่อทำบุญเรียกหา และอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตา ยาย
'มะเดี่ยว' ดัน 'นัท-ตู้' ผู้กำกับรุ่นใหม่ ประเดิม 'เทอม 3'
ด้วยกลิ่นอายความสยองโหดของเรื่อง ขบวนแห่ หนึ่งในสามเรื่องหลอนขั้นสุดของ เทอม 3 ภาพยนตร์สยองขวัญน่าจับตาที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนแห่โบราณจัดเต็มแบบล้านนา งานนี้จะเป็นใครมากำกับและสร้างสรรค์ถ้าไม่ใช่ทีมโปรดักชันชาวเหนือของแท้อย่าง สตูดิโอ คำม่วน ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่ครั้งนี้ขอรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ควบคุมความเข้มข้นของเนื้อหนัง โดยส่งไม้ต่อการกำกับให้แก่ผู้กำกับลูกหม้อในสำนักอย่าง นัทสอ-สรวิชญ์ เมืองแก้ว และ ตู้-อัศฎา ลิขิตบุญมา