3สมาคมแพทย์ฯเตือนกลุ่ม 608 'วัคซีนโควิด ' ยังจำเป็น เหตุไทยเสียชีวิตมากสุดในอาเซียน

ปัจจุบันสถานการณ์ระบาดโควิด-19 จะซบเซาลง มีผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนลดลง และถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่น รวมทั้ง นอกจากนี้ หลังการติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงเหมือนอย่างการระบาดในช่วงแรกๆ สามารถกินยารักษาเองได้ ทำให้หลายคนไม่ค่อยสวมหน้ากากอนามัยแม้อยู่ในที่สาธารณะ  แต่ในความเป็นจริง ความรุนแรงของโควิด-19 ยังคงอยู่กับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว 7 กลุ่มเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งการลดอาการรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงเสียชีวิต คือ การฉีดวัคซีน ประกอบกับที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกาย  หรือการฉีดเข็มกระตุ้นอาจจะไม่จำเป็นเพราะสถานการณ์ของโรคคลี่คลายแล้ว หรือหากติดเชื้อก็เท่ากับฉีดวัคซีน กระจายไปในสื่อต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด  

ด้วยเหตุนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนา “สถานการณ์โควิด-19 และความจำเป็นในการป้องกันของประชากรกลุ่มเสี่ยง” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลป้องกันและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง

รศ.นพ. ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และภาระโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่ม 608+1 หมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน รวมทั้งสตรีมีครรภ์ยังคงมีอัตราสูง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7 แสนราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 50,000 ราย และเสียชีวิตอีกกว่า 280 ราย  เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน มีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 490,000 ราย และเสียชีวิต 36 รายแล้ว ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าการของเชื้อโควิด-19 และจำนวนการนอนโรงพยาบาลสูงกว่า 7-10 เท่า ทำให้ ณ ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สาเหตุที่อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในไทยสูง รศ.นพ. ภิรุญ  กล่าวว่า มาจากการที่ประชากรส่วนใหญ่ห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปนาน และมีจำนวนที่น้อยกว่าประเทศในระดับเดียวกัน อย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน เพราะการฉีดวัคซีนในแต่ละระยะ รวมถึงการเคยติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันแต่จะอยู่ได้เพียงไม่นาน ประกอบกับเชื้อมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันที่สายพันธุ์หลักระบาดอยู่คือ สายพันธุ์ JN 1 และมีสายพันธุ์ KP 2 บ้างแต่ไม่มาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น 3-5 เท่ามากกว่าเชื้อตัวเดิม แต่อาการอาจจะไม่รุนแรงเหมือนไข้หวัดทั่วไปในกลุ่มคนทั่วไป ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งการติดเชื้อในช่วงพีคของแต่ละปี แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ เดือนพ.ค.-ก.ย. และเดือน พ.ย.-ม.ค. โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว โรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เกิดโรครุนแรงภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19  เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่มีการฉีดเป็นประจำทุกปี ก็จะเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค

รศ. นพ.ภิรุญ ย้ำว่า กลุ่มที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากที่สุดคือกลุ่ม 608+1 รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เพราะลูกหลานที่เดินทางมาหาอาจจะเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ได้ เพราะเมื่อป่วยเป็นโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ 2-3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2 -10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มิโรคร่วม นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่ เพราะโควิด-19 ไม่ใช่โรคของทางเดินหายใจเท่านั้น แต่เป็นโรคที่สามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ที่ให้บริการแก่ประชาชน คือ ไฟเซอร์(Pfizer) หากประชาชนที่ต้องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาล เมื่อมีความต้องมากขึ้น รัฐจะได้มีการสำรองให้อย่างเพียงพอ เพราะปัจจุบันหลายโรงพยาบาลกังวลเรื่องการเก็บรักษาวัคซีนซึ่งมีอายุการใช้งาน หากไม่มีใครมาฉีดวัคซีนจำนวนไม่น้อยก็อาจจะต้องทิ้งทันที และได้มีการกระตุ้นทางกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการให้บริการวัคซีนฟรี เพราะปัจจุบันการรับวัคซีนฟรีมีเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งสำหรับประชาชนกลุ่มทั่วไปอาจจะมีการกำหนดราคาที่เข้าถึงง่าย เป็นต้น อีกส่วนที่สำคัญคือ ในช่วงระยะเวลาทุกๆ 10 ปี  จะมีโรคระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าจะมีเชื้อไวรัสที่ระบาดจากสัตว์มาสู่คนชนิดใด หรือ โคโรน่าไวรัสกลายเป็นสายพันธุ์ใดที่รุนแรงหรือไม่” รศ. นพ.ภิรุญ กล่าว

ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ ข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่ม 608+1แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้ ซึ่งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป รวมถึงในแถบเอเชีย อาทิ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ยังคงแนะนำให้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย ได้มีการให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนเท่าใด

“ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัคซีนโควิดมีการฉีดไปแล้ว ทั่วโลกมากกว่า 13,000 ล้านเข็ม มากกว่าวัคซีนหลาย ๆ ตัวที่มีการใช้มาเป็นสิบๆ ปี มีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิดและโควิด-19 ออกมามากมาย ซึ่งข้อมูลยังคงสนับสนุนว่า วัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะที่ใช้ในปัจจุบัน คือ วัคซีนชนิด MRNA มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่นเดียวกับวัคซีนอื่น ๆ ที่ใช้กันมายาวนาน การที่เคยพูดกันถึงการใช้ชีวิตแบบ new normal อย่างเช่นเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอด หลีกเลี่ยงสถานที่พลุกพล่านแออัด ในความเป็นจริงแล้ว ทำได้ยากมาก การฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง” ศ. พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

ด้านพลตำรวจตรี นพ.เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีอาการข้างเคียงที่สร้างความกังวลให้กับประชาชน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการฉีดในประเทศไทย มีรายงานว่าพบเกิดขึ้นได้ในประชากรเพียง 2 คนต่อ 1 ล้านคน ซึ่งจะเกิดเพิ่มขึ้นในวัยรุ่นชายอายุ 18-29 ปี โดยเฉพาะหลังเข็มที่ 2 แต่หลังเข็มกระตุ้นอื่นๆแทบจะไม่เจอรายงาน โดยถ้าเทียบกับอุบัติการณ์ที่เจอในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนก็พบว่า ไม่ได้เจอเพิ่มขึ้นหลังเข็มกระตุ้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงจึงไม่มีความกังวล ทั้งนี้การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็พบได้ในช่วงที่ติดเชื้อโควิด-19 และอาจจะพบบ่อยกว่าการฉีดวัคซีน ดังนั้นประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนมีมากกว่าเพราะช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป

สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว

สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ

ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 281 ราย ดับเพิ่ม 4 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่