'ฟูจิฟิล์ม' สร้าง'100 รอยยิ้ม 'น้องปากแหว่งเพดานโหว่

ข้อมูลทางสถิติจากมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม พบว่าทารกไทยที่เกิดมา 700 คน จะมี 1 คนที่เกิดมาพร้อมภาวะปากแหว่งหรือเพดานโหว่ และบางรายมีอาการทั้งสองอย่าง ในประเทศไทยพบเด็กที่มีภาวะปากแหว่งหรือเพดานโหว่โดยเฉลี่ยจำนวน 2,000 รายต่อปี สำหรับสถิติทั่วโลก พบว่าทุก ๆ 3 นาทีมีทารก 1 คนที่เกิดมาพร้อมภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งเป็นความผิดปกติบนใบหน้าแต่กำเนิด

โดยทารกที่มีภาวะ “ปากแหว่ง” จะมีรอยแยกของริมฝีปากบนและอาจมีรอยแยกไปจนถึงเหงือกและเพดานปากส่วนหน้า ส่วนภาวะ “เพดานโหว่” จะมีรอยแยกที่เพดานอ่อนไปจนถึงเพดานแข็ง ถือเป็นภาวะที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดทางการแพทย์ โดยมีปัจจัยจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม การใช้สารเสพติดหรือยาบางชนิดของมารดาเมื่อตั้งครรภ์ รวมถึงความผิดปกติในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์  ปากแหว่งเพดานโหว่เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบทางร่างกายมากมาย เช่น โรคทางหูและปัญหาทางทันตกรรม การสูญเสียการได้ยิน ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ปัญหาด้านการพูดและการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ความผิดปกติบนใบหน้า ยังลดทอนความมั่นใจในการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาผ่านการผ่าตัด

ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งต้องอาศัยการเข้าผ่าตัดต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 5 ครั้ง และการรักษาแบบบูรณาการร่วมกับศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ และนักบำบัดการพูด เพื่อให้เด็ก ๆ กลับมายิ้มได้และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งด้วยการดูแลรักษาที่ใช้เวลานานยาวนานกว่า 10 ปี ต้องเริ่มการรักษาตั้งแต่อายุ 3 เดือนและอาจยาวนานจนถึงผู้ป่วยมีอายุ 20 ปี ขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของผู้ป่วย ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงการผ่าตัดได้

ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่100 ในปี2568  บริษัทฟูจิฟิล์ม  โดยมูลนิธิฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลมีภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสาธารณะประโยชน์ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย จับมือกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Foundation) ดำเนินโครงการ “100 รอยยิ้ม” สนับสนุนการผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาและให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมอีกครั้ง

มร. มาซาอากิ ยานากิย่า ประธานกรรมการมูลนิธิฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) และประธาน บริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงที่มาของการสนับสนุนในครั้งนี้ ว่า มูลนิธิฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ปากแหว่งเพดานโหว่ ทั้งยังเล็งเห็นว่ายังมีคนไทยบางกลุ่มในหลายพื้นที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการผ่าตัด ซึ่งบ่อยครั้งการรักษาภาวะดังกล่าวต้องอาศัยการผ่าตัดอย่างต่อเนื่องหลายครั้งเป็นเวลาหลายปีจึงจะกลับมาเป็นปกติได้ ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิฯ จึงริเริ่มโครงการ ‘100 รอยยิ้ม’ ผ่านการบริจาคทุนสนับสนุนการรักษาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เพื่อมอบการผ่าตัดต่อเนื่องแบบไม่จำกัดระยะเวลา และการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อการผ่าตัดแบบ 1 สัปดาห์ ด้วยเป้าหมายในการร่วมส่งมอบรอยยิ้มที่สดใสให้แก่คนไทยทั่วประเทศซึ่งรวมถึงชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยมูลนิธิฯ ได้ร่วมแต่งแต้ม 100 รอยยิ้มให้แก่คนไทยผ่านการสนับสนุนในครั้งนี้เป็นมูลค่ารวมกว่า 3,000,000 บาท

ทั้งนี้  เป้าหมายการผ่าตัด เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ 100 คน  เป็นการผ่าตัดแบบต่อเนื่องไม่จำกัดระยะเวลา แบ่งเป็นโรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี 30 ราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย อีก 50 ราย และที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก อีก 20 ราย ซึ่งเป็นการสนับสนุนในรูปแบบ โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้การผ่าตัดภายใน 1 สัปดาห์


สำหรับ การผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ต้องดำเนินการผ่าตัดถึง 5ครั้ง  กว่าจะทำให้หายจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่หายขาดได้ หรือในบางรายต้องทำการรักษายาวนานตั้งแต่วัยเด็ก ไปจนถึงอายุ 20ปี  แต่ปัญหาที่พบคือ พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ มักจะพาบุตรหลาน เข้ารับการรักษาผ่าตัดประมาณ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากติดขัดปัญหาการทำงาน ที่อาจจะต้องลางาน  หรือการทำมาหากิน ตลอดจนไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้ ทางฟูจิฟิล์ม จึงเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายการกินอยู่ของผู้ปกครองเด็ก ระหว่างพาบุตรหลานมารักษาหรือผ่าตัดที่โรงพยาบาล  เนื่องจาก โรงพยาบาลรัฐไม่มีงบประมาณส่วนนี้  ทางมูลนิธิฟูจิฟิล์มฯ จึงเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อให้การรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีผลการรักษาโดยสมบูรณ์  เพราะหากเด็กไม่ได้รับการรักษาให้หายจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ อาจจะส่งผลให้ขาดโอกาสในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพเมื่อเติบโตขึ้น นอกจากนี้ โรคดังกล่าวยังเป็นต้นเหตุของหลากหลายโรคแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวรวมทั้งการการพูดและการออกเสียง ทำให้พูดไม่ชัด เด็กบางคนหลังผ่าตัดยังต้องเข้ารับการฝึกการออกเสียงด้วย

“การผ่าตัดต้องทำถึง 5ครั้ง หรือบางรายอาจจะมากกว่านั้น การรักษา ต้องดำเนินการร่วมกันระหว่างแพทย์หลายสาขา ทั้งวิสัญญีแพทย์ ศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ แพทย์ทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และทันตแพทย์  แต่สิ่งเหล่านี้ จะเป็นการช่วยสร้่างรอยยิ้มให้กับน้องๆให้กลับมา “

มร. มาซาอากิ ยานากิย่า กล่าวเสริมอีกวาา การส่งมอบ 100 รอยยิ้มให้แก่คนไทยในครั้งนี้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายใหม่ของกลุ่มบริษัทฟูจิฟิล์มในการ ‘แต่งแต้มรอยยิ้มให้โลกของเรา’ ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก ภายใต้แผนเชิงคุณค่าแห่งความยั่งยืน 2030 (Sustainable Value Plan 2030) เพื่อขับเคลื่อนการประกอบธุรกิจพร้อม ๆ กับแนวทางของกลุ่มบริษัทฟูจิฟิล์มในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืนใน 4 มิติหลักได้แก่ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ชีวิตประจำวัน และสไตล์การทำงาน ทั้งยังยึดมั่นในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการช่วยเหลือผู้คนอย่างเท่าเทียมและยกระดับสังคมให้ทั่วทั้ง ‘ห่วงโซ่อุปทาน’ และแน่วแน่ในหลัก ‘การกำกับดูแล’ ให้ทุกการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยโครงการ 100 รอยยิ้มที่เราร่วมสร้างในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการมุ่งสู่ 100 ปีแห่งความสำเร็จของฟูจิฟิล์ม สอดรับการพันธกิจการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับสังคมที่เราได้ทำมาตลอด 90 ปี

“โครงการ‘100 รอยยิ้ม’ ที่เรามอบให้กับเด็กๆ ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ นับเป็นความภูมิใจของพนักงานฟูจิฟิล์ม ฯ ในประเทศไทย 1,300 คน  ซึ่งถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ ส่วนการทำงานของมูลนิธิฟิจิฟิล์ม จะยังดำเนินการเพือประโยขน์สาธารณะ ต่อไป โดยที่ผ่านมาเราได้สนับสนุนการศึกษา ด้านการแพทย์ เช่นการมอบเครื่องเอ็กซเรย์พกพาให้กับโรงพยาบาลวิชระ เพื่อใช้ในโครงการตรวจรักษาวัณโรค หรือในโอกาสนี้ เรายังมอบเครื่องถ่ายเอกสาร และกล้องให้กับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เพื่อใช้ในการดำเนินงานอีกด้วย  ที่สำคัญการสร้างรอยยิ้ม ด้วยการช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ ยังตรงกับคอนเซ็ปต์ของเราในการทำประโยชน์ให้สังคม  “มร. มาซาอากิ ยานากิย่า กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง