จังหวัดสระบุรีเป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ใหญ่ที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของไทย เป็นเหตุผลทำให้สระบุรี ถูกเลือกให้เป็นเมืองตัวอย่าง การขับเคลื่อนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ หรือโครงการสระบุรีแซนบ๊อกซ์ (Saraburi Sandbox) ภายใต้การผลักดันของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ และเอกชน และประชาสังคม ทำงานตามรูปแบบ PPP (Public-Private-People Partnerships) มี 3 ภาคีหลักที่เป็นผู้ก่อตั้งและผลักดันจนเกิดความคืบหน้า ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และจังหวัดสระบุรี ทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ กว่า 20 องค์กร และ 7 กระทรวง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในโปรแกรมนวัตกรรมระบบนิเวศและเมืองต้นแบบ ที่นำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นอกจากเป็นเมืองต้นแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แล้ว ในระดับนานาชาติ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ยังเข้าร่วมโครงการ “Transitioning Industrial Clusters” ขององค์กรระดับโลก World Economic Forum โดยเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทยที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน พร้อมกับลดคาร์บอน ทั้งยังโดดเด่นด้านการประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
ความร่วมมือนี้สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศผ่านการสร้างงาน ช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ด้าน ตาม Nationally Determined Contributions (NDCs) ได้แก่ พลังงานและการขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย เกษตรกรรม รวมทั้งการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้
“ขอต้อนรับสระบุรีแซนด์บอกซ์ คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย เข้าสู่โครงการ World Economic Forum ที่มีเป้าหมายเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานแบบบูรณาการ มีพันธมิตรต่าง ๆ ให้ความร่วมมือ ช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่กว่าร้อยละ 80 ตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี ลดการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาค เกิดการสร้างงานในทุกภาคส่วน และเพิ่ม GDP ให้ประเทศ” Roberto Bocca หัวหน้าศูนย์พลังงานและวัสดุ และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร World Economic Forum กล่าว
โครงการ Transitioning Industrial Clusters ของ World Economic Forum ได้รับการสนับสนุนจาก Accenture และ EPRI มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานสีเขียวในคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านการจัดการด้านการเงิน นโยบาย เทคโนโลยี และการสร้างความร่วมมือ
ทางด้านสอวช. ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ ที่ผ่านมานั้น ช่วยประหยัดทรัพยากร ในมิติงบประมาณ เวลาทั้งในภาพการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวอย่างก้าวกระโดด ลดความเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ การรักษาขีดความสามารถของภาคเอกชนและประเทศในการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีมาตรการและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งบทบาทประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติผ่านกลไกถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ สอวช.เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations FrameworkConvention on Climate Change: UNFCCC) ที่มีความพยายามเชื่อมต่อกลไกกองทุนนานาชาติอย่างกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF)ที่มีงบประมาณหนึ่งพันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดร.ศรวณีย์ กล่าวว่า บทบาทของ สอวช. ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับเวทีระดับนานาชาติและระดับชาติในเรื่องนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) เป็นหลัก รวมทั้งการแสดงบทบาทของไทยในมิติต่าง ๆเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุน ทั้งมิติเทคโนโลยี การเงิน ในรูปแบบพหุภาคี (Multilateral) และทวิภาคี(Bilateral) เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางการทำงานเชิงนวัตกรรมให้มีการสอดประสานการทำงานและเชื่อมต่อเทคโนโลยีข้ามภาคส่วน ช่วยประหยัดงบประมาณ เวลาในการพัฒนาและประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองได้ เช่น การยกระดับตาลเดี่ยวโมเดล ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ร่วมกับการสร้างมูลค่าให้กับชุมชนในพื้นที่หรือการสร้างความเป็นไปได้จากการใช้ประโยชน์ก๊าซเรือนกระจกเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล
” ซึ่งจากการศึกษานี้จะนำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในระดับที่ใช้ได้จริงร่วมกับพื้นที่และภาคเอกชน ของไทยต่อไป รวมทั้งสร้างนโยบาย กลไก มาตรการต่าง ๆเพื่อรองรับแนวทางการทำงานที่สามารถยกระดับเป็นภาพรวมประเทศในอนาคตได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขึ้นรูปการสนับสนุนจากนานาชาติต่อไป โดยอยู่ในระหว่างดำเนินงานร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม UNFCCCและสาธารณรัฐเกาหลี”ดร.ศรวณีย์กล่าว
นับได้ว่า สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย ลำดับที่ 3 ของอาเซียน และลำดับที่ 21 ของโลก ร่วมโครงการระดับโลก “Transitioning Industrial Clusters” โดย World Economic Forum การผนึกพลังของอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วโลก มุ่งเดินหน้าผลักดันการลดคาร์บอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต สนับสนุนให้สระบุรี เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ หรือเป็นเมืองเศรษฐกิจที่เติบโตในรูปแบบโลว์คาร์บอน.