ชมโคมแสนดวง ตามรอยพระนางจามเทวี

 ท่ามกลางสายฝนไหลริน สลับพรำๆ ได้มีโอกาสไปเยือน จังหวัดลำพูน ในช่วงที่ฝนฝ้ากระหน่ำภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย ท่วมแล้ว ท่วมอีก แต่สำหรับลำพูนช่วงนี้ถือว่ารอดปลอดภัยแล้ว เพราะพายุฝนน่าจะพัดผ่านไปเรียบร้อย  และ ณ  เวลานี้กำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วนั่นเอง

พระพุทธรูปประจำซุ้มพระเจดีย์กู่กุด
พระเจดีย์กู่กุด และเหล่าสามล้อถีบวัยเก๋าเมืองลำพูน


แต่ก่อนลำพูนเคยไปเป็นเมืองผ่าน  ก่อนมุ่งสู่เชียงใหม่ แต่ในความเล็กนี้ จริงๆแล้วลำพูนก็เหมือนเล็กพริกขี้หนู เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ เป็นดินแดนของอาณาจักรหริภุญชัยในอดีต  1,300 ปีที่แล้ว และชื่อเมืองเดิมของลำพูน ก็คือหริภุญไชย  ทำให้จังหวัดนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์  อีกทั้ง ผู้คนก็น่ารักอบอุ่น ท่ามกลางบรรยากาศสุดสโลว์ไลฟ์ของชาวเมือง

บ้านไม้ร้านชวนหลง
ทำเวิร์กชอปเรียนรู้งานเซรามิค

จุดหมายแรกในลำพูน ชวนมาสัมผัสความงดงามของงานหัตถกรรมชั้นครูที่ ชวนหลงเซรามิค  โรงงานเซรามิคในจ.ลำพูนของอุทัยย์ กาญจนคูหา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี โรงงานแห่งนี้นอกจากจะผลิตเซรามิก ยังเปิดเป็นร้านเซรามิคและให้เข้าชมผลงานได้ จุดเริ่มต้นชวนหลง ครูอุทัยย์ ผู้ชื่นชอบในงานศิลปะและประวัติศาสตร์ แต่เดิมเป็นช่างตัดผ้า เกิดความคิดที่อยากจะลองหาอะไรใหม่ๆ ทำในวัย 40 ปี จึงได้เลือกเรียนงานปั้นที่ศูนย์ฝึกวิชาชีพและฝึกฝนปั้นงานเครื่องเคลือบเรื่อยมา ทั้งจาน ชาม ของตกแต่งสวยงาม ซึ่งเอกลักษณ์งานเซรามิคของครูอุทัยย์ คือ แบบศิลาดล ที่ได้แนวคิดมาจากงานเซรามิคเขียวไข่กา ของต.หลงชวน มณฑลเจ้อเจียงในจีน และยังเป็นที่มาของชื่อร้านชวนหลง ที่กลับคำให้พ้องกับต.หลงชวน อีกด้วย

สถานที่ทำเวิร์กชอปร้านชวนหลง
ภาพวาดสุดวิจิตรบนจานดินเผา

ภายในร้านชวนหลง แบ่งเป็นสถานที่สำหรับเวิร์กชอปของผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ทำงานเซรามิคส่วนอีกฝั่งคือบ้านไม้สองชั้น ด้านหน้าเป็นมีการจัดตกแต่งเป็นสวนหย่อมมีการนำงานเซรามิคแตกหักหรือไม่สามารถนำไปใช้งานมาทำเป็นประติมากรรมน้ำพุและกำแพงเครื่องถ้วย ส่วนในบ้านชั้นล่างเป็นห้องจัดแสดงผลงานจานกระเบื้องดินเผา ที่ครูอุทัยย์ได้รังสรรค์การวาดลวดลายต่างๆ ทั้งองค์พระพิฆเนศ หรือการสอดแทรกสัจธรรมไว้บนแผ่นจาน ด้านบนจัดวางเป็นอาร์ตแกลลอรี่ภาพวาดพระพิฆเนศ และงานปั้นองค์พระพิฆเนศที่มีลักษณะท่าทางต่างๆ อย่างงดงาม

พระเจดีย์กู่กุด และเหล่าสามล้อถีบวัยเก๋าเมืองลำพูน

มาถึงลำพูน ห้ามพลาดกับการนั่งสามล้อถีบ ที่ใช้กำลังขาทั้งสองขาถีบจักรยานรับ-ส่งผู้โดยสาร เป็นวิถีชีวิตของขาวลำพูนมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากไม่มีรถสาธารณะสองแถว หรือวินมอเตอร์ไซค์ ให้บริการ ชาวลำพูนจึงต้องใช้บริการสามล้อถีบ ซึ่งเป็นรถรับจ้างที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนั้น ไม่เพียงแค่บริการส่งคน แต่ยังรับขนของให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด จนยานพาหนะสุดทันสมัยอย่างรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ได้เริ่มเข้ามาแทนที่ ทำให้จำนวนสามล้อถีบที่ให้บริการเป็นอาชีพรับส่งเริ่มลดจำนวนลงเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 15 คัน ปัจจุบันมีการจอดให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารอยู่บริเวณหน้ารพ.ลำพูน เป็นหลัก

เพื่อรักษาทุนทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าไม่ให้หายไป สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จึงได้ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวด้วยสามล้อถีบ นำเสนอการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน โดยได้ชวนคุณลุงที่เลิกปั่นสามล้อถีบอาชีพ มารับนักท่องเที่ยวแทน มีประมาณ  25  คัน โดยเป็นการนำเที่ยวแบ่งเป็น 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย-วัดจามเทวี เส้นที่ 2 อินทยงยศ และเส้นทางที่ 3 เวียงยอง

ามล้อถีบพาชมเมืองลำพูน

ท้องฟ้าที่มืดครึ้มฝนเริ่มลงเม็ดเปาะๆแปะๆ ทำให้ในโปรแกรมนั่งสามล้อถีบครั้งนี้ เราได้เลือกเดินทางระยะสั้น ตามรอยพระนางจามเทวี กษัตริย์พระองค์ที่ปกครองนครหริภุญชัย สามล้อถีบพร้อมพาเราไปเที่ยว  ลุงณรงค์ โชเฟอร์วัย 72 ปี แม้อายุจะเยอะแต่ร่างกายของลุงดูแข็งแรง ขาทั้งสองมีกล้ามเนื้อแน่นๆ ผลมาจากการปั่นมากว่า 60 ปี ลุงณรงค์ค่อมจักรยานพร้อมปั่นสามล้อพาชมเมืองลำพูน ระหว่างสองข้างทางเรานั่งชมบรรยากาศของเมืองลำพูนอย่างเพลิดเพลิน

องค์พระธาตุหริภุญชัยฯ ทองอร่าม
ซุ้มประตูสิงห์ใหญ่คู่วัดพระธาตุหริภุญชัยฯ

 เมืองเล็กๆแห่งนี้เงียบสงบรถราไม่วุ่นวาย มีต้นไม้สีเขียวสลับบ้านเรือนดูเพลินตา ส่วนลุงณรงค์ก็บังคับสามล้ออย่างมืออาชีพพามาถึง กู่ช้างกู่ม้า  ตามประวัติความเป็นมา  สถานที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุซากของพระยาช้างผู้กล่ำงาเขียว ซึ่งเป็นช้างทรงคู่พระบารมีของพระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสแฝดของพระนางจามเทวี เป็นช้างที่มีฤทธิเดชมาก  เมื่อช้างเชือกนี้ลมลงจึงมีการสร้างสถูปขึ้นเพื่อบรรจุซากของช้าง ปัจจุบันเป็นปูชนียสถานที่ชาวลำพูนให้ความเคารพสักการะ บริเวณใกล้เคียงยังมีสภูปอีกหนึ่งองค์ ชื่อว่า กู่ม้า ด้วย

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
บรรยากาศยามค่ำคืนที่ลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

จากกู่ช้าง ลุงณรงค์ปั่นสามล้อถีบคู่ใจ เพิ่มแรงถีบหนีฝนมาถึงวัดจามเทวี หรือชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยล้านนา เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ ต่อมายอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่าพระเจดีย์กู่กุด ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยรูปทรงปราสาทยอดที่มีเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ในแต่ละชั้นประดับด้วยพระพุทธรูปประทับยืนในซุ้ม ชั้นละ 12  องค์ รวม  60  องค์ ส่วนภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ให้ชาวเมืองลำพูนและนักท่องเที่ยวได้มาสักการะ  จบทริปสามล้อถีบแบบสั้นๆ สำหรับบริการสามล้อถีบอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามโปรแกรมท่องเที่ยวในแต่ละซีซั่น สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง โทร. 054-222214  Facebook: ททท.สำนักงานลำปาง

ส่งท้ายทริปจ.ลำพูน กับกิจกรรมในงานเทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน โดยการถวายโคมเป็นพุทธบูชาตามคติความเชื่อของชาวล้านนาประชาชนและนักท่องเที่ยวจะเขียนชื่อและคำอธิฐานลงบนโคม เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ที่จัดขึ้นเพื่อบูชาโคมและแขวนโคมถวายองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย เฉพาะในเทศกาลเดือนยี่เป็ง  โดยจะมีการจัดจุดแขวนโดมให้กับนักท่องเที่ยวที่วัดพระธาตุหริภุญชัยฯ และลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งแต่วันนี้ – 15 พฤศจิกายน 2567

เราก็ไม่พลาดเดินทางไปยังวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานมากกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ก่อนจะเดินเข้ามาภายในตัววัดจะต้องผ่านซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่น สันนิษฐานว่าปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆารามวิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่ เรียกว่า วิหารหลวง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อปี 2466 ด้านหลังวิหารคือ องค์พระธาตุหริภุญชัย มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง แบบล้านนาอันสวยงามสมส่วน หุ้มทองจังโกสีทองอร่าม  อีกทั้งยังเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลต่อพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ เช่น  พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็นต้น

ตอนนี้ภายในบริเวณรอบๆวิหารหลวง ประชาชนและนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมาร่วมกิจกรรมแขวนโคม โดยทางวัดได้มีการจัดเตรียมโคมสีประจำวันเกิด ทำให้ภายในวัดยามค่ำคืนงดงามไปด้วยโคมหลากหลายสีสันประดับตกแต่งงดงาม เช่นเดียวกับที่อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ลานด้านหน้า มีการนำโคมมาแขวนไว้ตามกิ่งก้านของต้นไม้ และจุดที่ทางเจ้าหน้าได้จัดไว้ให้  สำหรับอนุสาวรีย์แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่ออนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางทรงเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม นักรบที่มีความกล้าหาญชาญชัย ทรงเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมาเผยแผ่ในดินแดนแถบนี้จนรุ่งเรื่องสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เทศกาลโคมแสนดวง เป็นอีกหนึ่งประเพณีความเชื่อของชาวล้านนาที่สืบถอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในตอนนี้โคมอาจจะไม่หนาตา ผู้คนยังคงทยอยมาร่วมกิจกรรมเรื่อยๆ แต่ในช่วงวันลอยกระทงที่ใกล้จะถึงนี้พื้นที่ของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ และลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จะงดงามสว่างไสวไปด้วยแสงสีจากโคมนับแสนดวง ตามความเชื่อและศรัทธาต่อวิถีทางวัฒนธรรมล้านนาอันทรงคุณค่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ไปต่อ จ.ลำพูน เจ้าคณะจังหวัดทวงเงินหมื่น เจ้าตัวหันไปสั่ง 'จุลพันธ์' รีบดำเนินการ

หลังเสร็จภารกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางมายังวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน โ

ดันเทศกาล'โคมแสนดวงเมืองลำพูน' ไประดับโลก

26 พ.ย.2566 - นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดขบวนแห่โคมยี่เป็ง และร่วมงานพิธีถวายโคมแสนดวง “เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน” โดยมีพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม

ป.ป.ช.ชี้มูล 'นายกฯ เล็กแม่ตืน' ลำพูนรวยผิดปกติ

ป.ป.ช.ชี้มูล 'อรรถพงษ์' นายกเทศมนตรีตำบลแม่ตืน ร่ำรวยผิดปกติ ทรัพย์สินเพิ่ม 18 ราย บ้าน-รถ-ที่ดิน-ร้านกาแฟ-เงินฝาก ขอศาลยึดตกเป็นของแผ่นดิน