'ดร.สมเกียรติ'  ชี้ขับเคลื่อน'วิจัย นวัตกรรม'ทางรอด'จีดีพีไทย'พ้นโตต่ำ(2 )

 เชื่อหรือไม่ 7 ทศวรรษที่แล้ว ไทย เคยรวยเท่าเกาหลี  แต่ตอนนี้เกาหลีรวยกว่าไทย 5เท่า

บเนื่องจากการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)ภายใต้สังกัด กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดงาน“มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม”หรือ TRIUP FAIR 2024 ที่มีขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน  2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดประสงค์ ให้เกิด One Stop  Service ที่รวมระบบนิเวศที่ให้บริการกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้ผลิตผลงานวิจัยไปจนถึงผู้ใช้ประโยชน์ และเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม หรือเป็นการรวมพลัง ร่วมสร้างผลกระทบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างยั่งยืน


โดยมีจุดประสงค์ เพื่อปลดล็อกงานวิจัยไทยที่มีจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ หรือวิจัยไม่ตรงเป้ากับความต้องการเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเหตุนี้ สกสว. จึงพยายาม “ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ให้ได้ และใช้ศักยภาพวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ
โอกาสนี้โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ได้ปาฐกถาหัวข้อ “วิทยาศาสตร์วิจัยนวัตกรรม คือ พลังใหม่ของประเทศไทยจริงหรือ?” โดยชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะเติบโตระดับต่อเนื่องหลายปี  หรือโตต่ำที่สุดในอาเซียน เพราะประสบปัญหาทั้งขาดแคลนแรงงาน และที่สำคัญขาดแคลน”นวัตกรรมใหม่ๆ” ซึ่งการเกิดนวัตกรรมต้องพึ่งพางานวิจัยแต่งานวิจัยไทยเองก็ประสบปัญหาอุปสรรคในตัวเอง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์


 ดร.สมเกียรติชี้ว่า  การพัฒนานวัตกรรมนั้นต้องเริ่มต้นจากการวิจัย แต่ประเทศไทยกลับเผชิญกับปัญหางบประมาณวิจัยถูกตัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 หรือในปี 2564 ทำให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก นักการเมืองที่ดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.จึงต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรักษางบประมาณ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ววน. จึงต้องสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่เคยมีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย แต่ปัจจุบันกลับพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านวิจัยอย่างจริงจัง โดยใช้เงินลงทุนสูงถึง 4% ของ GDP ซึ่งมากกว่าประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตามเมื่อการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มขึ้น การหาโครงการที่คุ้มค่าก็ยิ่งยากขึ้น ทำให้เกาหลีใต้พิจารณาลดงบประมาณ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ  ในขณะที่สังคมไทยยังไม่เห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัย ววน. ทำให้เสี่ยงต่อการถูกตัดงบประมาณ และต้องพึ่งพานักการเมืองในการสนับสนุน ซึ่งเป็นวงจรที่ไม่ยั่งยืน

แนวทางพัฒนาวิจัย 4 แบบ

“งานวิจัยต้องสร้างนวัตกรรมที่กินได้ จับต้องได้ โดยขั้นแรกคือการทำวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าและเพิ่มงบประมาณสนับสนุน เมื่อมีงบประมาณมากขึ้น ก็จะมีโครงการวิจัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งวิจัยพื้นฐานเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ และวิจัยประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เมื่อวงจรนี้หมุนไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้มากมาย อย่างไรก็ตาม การจะทำให้การวิจัยประสบความสำเร็จนั้น เราต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การหาตลาด และการแข่งขันกับคู่แข่ง หากขาดการวางแผนที่ดี โครงการวิจัยก็อาจจะไม่บรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้ ”ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงแนวทางของการสร้างพลังของ ววน.

ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ดังนั้น เงินจากภาครัฐที่ใช้ในการวิจัยมีสัดส่วนประมาณ 20% ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเงินภาครัฐส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในสองส่วนหลัก คือ สถาบันวิจัยของรัฐและหน่วยงานด้านบริการเทคโนโลยี หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และมหาวิทยาลัย ที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นสถานที่ในการทำวิจัย  แต่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการใช้เงินภาครัฐยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้สังคมยังไม่เห็นคุณค่าของการวิจัยเท่าที่ควร ตัวอย่างในต่างประเทศ ที่หลายประเทศมีสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

โมเดลสิงคโปร์ ผลักดันนวัตกรรม

“ตัวอย่าง  เช่น  ประเทศสิงคโปร์ ที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำจืด ต้องพึ่งพาน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ซึ่งเกิดความขัดแย้งเรื่องราคาน้ำหลายครั้ง สิงคโปร์จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น การนำน้ำทะเลมาแปรรูปเป็นน้ำจืด และการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านน้ำ หน่วยงาน A STAR ของสิงคโปร์จึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนวัตกรรม โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาในสิงคโปร์ เช่น การใช้ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยในการวิจัยร่วมกัน ผลสำเร็จของสิงคโปร์แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ประเทศไทยสามารถนำแนวทางนี้มาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้”ดร.สมเกียรติกล่าว

 แนวทางในการปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดร.สมเกียรติ ระบุว่า มี 3 ทางเลือก คือ 1. ตั้งองค์กรใหม่ 2.แยกหน่วยวิจัยอุตสาหกรรมออกมาจาก สวทช. และ3.ปฏิรูปการบริหารจัดการ สวทช.โดยเลือกผู้บริหารมีประสบการณ์จากเอกชนให้เฉพาะงบพื้นฐาน รัฐสมทบให้เพิ่มถ้ามีรายได้จากเอกชน จะเห็นว่าแม้ สวทช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการนำวิจัยมาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมแต่ด้วยพันธกิจมากมาย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ อีกหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัย ที่กำลังเผชิญกับวิกฤต 4 ประการ ได้แก่ นักศึกษาจำนวนลดลง งบประมาณที่หดตัว กฎระเบียบที่รัดตัว และภาพลักษณ์ของปริญญาที่เสื่อมค่า เพราะมหาวิทยาลัยถูกกำหนดให้มีภารกิจที่หลากหลายและซับซ้อน ทั้งการผลิตบัณฑิต การวิจัย และการให้บริการวิชาการ สังคมคาดหวังให้มหาวิทยาลัยผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับโลก และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลายฝ่าย และวิกฤตที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

พัฒนามหาวิทยาลัยไม่กดดัน ส่งเสริมสร้างนวัตกรรม


“การลดแรงกดดันดังกล่าว คือ การสร้างมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องให้มีชื่อเสียงระดับโลก ก็สามารถสร้างนวัตกรรมที่ดีได้ อย่าง มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นหลายแห่งที่ไม่ได้มีชื่อเสียง แต่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วยงานนวัตกรรมที่ดี เช่น มหาวิทยาลัยโอกายาม่า ได้ทำการศึกษาเลี้ยงปลาน้ำเค็มด้วยน้ำจืดได้ โดยการที่คิดสารเคมีตัวหนึ่งที่เปลี่ยนน้ำจืดให้เป็นน้ำเค็ม ปลาไม่ต้องใช้พลังงานในการขับเกลือออกจากร่างกายเยอะเกินไปจึงทำให้เติบโตได้เร็วนวัตกรรมตัวนี้ทำให้คนในมองโกเลียซึ่งไม่ติดทะเล สามารถเลี้ยงปลาทะเลได้”

ดังนั้นโจทย์วิจัยในประเทศไทยจึงไม่ใช่ What เพราะไทยไม่ใช่ประเทศที่ไม่รู้ว่าวิจัยอย่างไรให้เกิดนวัตกรรม หรือไม่รู้วิธีการสร้างนวัตกรรม แต่คือ How การนำวิจัยที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรมากกว่า ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาของไทยที่จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าวิจัยกินได้ ควรจะโฟกัสที่แนวทาง วิจัยใช้งานกับพัฒนาเพื่อใช้งาน คือนำงานวิจัยที่มีอยู่แล้ว พัฒนาสู่สังคมเพื่อใช้งานให้ได้ เมื่อโมเดลนี้ประสบความสำเร็จจะได้ความเชื่อถือของสังคม และส่งผลให้มีงบประมาณมากขึ้น ในการนำมาทำวิจัยพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ระยะยาว แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ระบบวิจัยนวัตกรรมประเภทที่ไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ทั้งไม่มีประโยชน์ใช้เฉพาะหน้าและไม่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใดๆ เป็นขยะวิจัย ที่ควรจะต้องจัดการให้เกิดระบบนิเวศของงานวิจัยที่มีคุณภาพ

“อย่างไรก็ตาม ววน. คือ พลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยในปัจจุบัน จะใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิธีเดิม ๆ อย่าง การย้ายแรงงานภาคเกษตรไปภาคอุตสาหกรรม ไม่สามารถสร้างการเติบโตได้แล้ว แต่ ววน. จะช่วยให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ผ่านการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ ทั้งนี้การนำ ววน. มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องอาศัยการวางแผนและบริหารจัดการที่รอบคอบ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างตรงจุด และสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า วทน. จะช่วยประเทศไทยได้หรือไม่ แต่คือจะทำอย่างไรให้สามารถนำ ววน. มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.สมเกียรติ ทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน

จับตา GDP เกษตร Q3 หดตัวร้อยละ 0.7 จากปรากฏการณ์ เอลนีโญ-ลานีญา สศก. หั่นเป้าทั้งปี GDP เกษตรไทย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2567 (กรกฎาคม - กันยายน 2567)