ดร.สมเกียรติ'  ชี้ขับเคลื่อน'วิจัย นวัตกรรม'ทางรอด'จีดีพีไทย'พ้นโตต่ำ(1)

วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคงยั่งยืน เพราะจะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้กับประเทศ   ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ ทั้งในแง่สินค้า การลงทุน  และการบริการ ตลอดจน เชื่อมโยงในการแก้ปัญหาทางด้านสังคมได้อีกด้วย  ดังนั้น วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึง”เป็นความหวังใหม่ ” ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่มิติใหม่ ของการพัฒนา

โดยในงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม”หรือ TRIUP FAIR 2024 ที่มีขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน  2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดประสงค์ ให้เกิด One Stop  Service ที่รวมระบบนิเวศที่ให้บริการกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้ผลิตผลงานวิจัยไปจนถึงผู้ใช้ประโยชน์ และเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม หรือเป็นการรวมพลัง ร่วมสร้างผลกระทบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เจ้าภาพผู้จัดงาน กล่าวว่าในยุคที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างรอบด้าน อาทิ ปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ววน. จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหาคำตอบเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบรัฐบาลปัจจุบันให้การสนับสนุนงบประมาณและส่งเสริมให้เกิดการนำ ววน. ไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการและความท้าทายต่าง ๆ และสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

“ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้เพื่อตอบพันธกิจของหน่วยงานตอบนโยบายรัฐบาล และตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนและประชาชนทุกระดับ สกสว. พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) 9 แห่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รวมถึงหน่วยงานที่มีกลไกส่งเสริมภาคธุรกิจรวมกว่า 50 หน่วยงาน จึงได้ร่วมกันจัดงาน TRIUP Fair 2024 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Impact Journey to Ignite Thailand : เส้นทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ซึ่งเป็นการจุดพลังและเดินหน้าขับเคลื่อนการนำ ววน. ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมุ่งมั่นที่จะใช้ ววน. ไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม และพาประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด”

ในงานยังมีการปาฐกถาหัวข้อ “วิทยาศาสตร์วิจัยนวัตกรรม คือ พลังใหม่ของประเทศไทยจริงหรือ?” โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรค ทิศทางของนวัตกรรมไทย  สะท้อนภาพในอนาคตของการเติบโตด้านนวัตกรรมในประเทศ ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเกิดการนำงานวิจัยจากหิ้งมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพราะหากประเทศไทยสามารถเอาชนะอุปสรรคและเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน

ไทยหมดพลัง  เติบโตถดถอย

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตสูงถึง 7% ในช่วงปี 1990 แต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง อัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียง 5% และในปัจจุบันชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2% ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% ต่อปี ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้สูงกว่าอย่าง มาเลเซีย ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุน ทั้งในตลาดทุนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนมองว่าโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด

การเติบโตของประเทศไทยในอนาคต จึงขึ้นกับการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านทุนและแรงงาน ในอดีตประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการเติบโตทางเศรษฐกิจมี GDPเติบโต 5-7% จากการย้ายแรงงานในภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและบริการมีมูลค่าเพิ่มต่อหัวสูงกว่าภาคเกษตรมากถึง 5-9 เท่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประชากรลดลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา  ทำให้การเติบโตใตทางด้านเศรษฐกิจต้องพึ่งพานวัตกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะนวัตกรรมในการผลิต แม้จะมีการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้จะเป็นประโยชน์ แต่หากขาดการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ จะเป็นปัญหาสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ศุภมาส” หนุน สกสว. ขับเคลื่อนการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงาน “TRIUP FAIR 2024” ดึงภาครัฐ-เอกชน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 หรือ TRIUP FAIR 2024 ภายใต้แนวคิด “Impact Journey to Ignite Thailand :

'เศรษฐา' รับฟังข้อเสนอประธาน ทีดีอาร์ไอ ทั้งเห็นด้วย-เห็นต่างนโยบายรัฐบาล

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือประเด็นนโยบายด้านการวิจัย

'ผอ.ทีดีอาร์ไอ' ชำแหละหลุมดำดิจิทัลวอลเล็ต เกิดค่าเสียโอกาสพัฒนาปท.

ผอ.ทีดีอาร์ไอ ชำแหละหลุมดำดิจิทัลวอลเล็ต เกิดค่าเสียโอกาสพัฒนาประเทศ เตือนกระทบความเชื่อมั่นในเรื่องของวินัยการคลังของรัฐบาล  จนนำไปสู่ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ กระทบการลงทุนจากต่างชาติ

นักวิชาการ 'ทีดีอาร์ไอ' เผยผลศึกษาโครงการแจกเงินรัฐ พบเงินหมุนไม่ถึงครึ่งรอบ ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

นายสมชัย จิตสุชน นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อ นักเศรษฐศาสตร์ เรียกร้องให้ยกเลิกแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Somchai Jitsuchon