จากนวนิยายจำนวน 17 เล่มที่คณะกรรมการรางวัลซีไรต์พิจารณาให้เข้ารอบแรก (Longlist) คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ประกาศผลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2567 ประเภท”นวนิยาย” รอบคัดเลือก (Shortlist) โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนิงานรางวัลซีไรต์ และคณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาให้มีนวนิยาย 8 เล่ม ทะลุสู่รอบสุดท้าย เรียงลำดับตามตัวอักษร ดังนี้
1.กี่บาด โดยประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด 2.คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms.Kent & Me โดย LADYS 3 .champagne supernova และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี โดย พิชา รัตนานคร 4.แมลงสาบในเมืองสลด โดยอ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ 5.แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก โดยกล้า สมุทวณิช 6.ล้านนาฮาเร็ม โดยสาคร พูลสุข 7. ห้องเรณู โดยวิภาส ศรีทอง และ 8.อันกามการุณย์ Non fa niente โดย LADYS นวนิยายทั้ง 8 เล่ม มีทั้งนักเขียนชายและนักเขียนหญิง เป็นนักเขียนคลื่นลูกใหม่ ที่มีผลงานน่าจับตามอง
นายจตุพล บุญพรัด ประธานคณะกรรมการคัดเลือก บรรณาธิการอาวุโส และช่วยงานมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวว่า รางวัลซีไรต์ ปี 2567 เป็นการประกวดซีไรต์ปีที่ 46 ประเภทนวนิยาย มีหนังสือจากสำนักพิมพ์และนักเขียนส่งงานเข้าประกวด 69 เรื่อง เป็นเรื่องที่จัดพิมพ์ในปี 2567 จำนวน 26 เรื่อง นอกนั้นเป็นงานพิมพ์ในปีก่อนหน้านั้น และอยู่ในเกณฑ์กติกาของการประกวดทุกเรื่อง ด้วยเรื่องหลากแนวเช่นปีที่ผ่านๆมาได้แก่ งานแนวขนบนิยมสะท้อนภาพชีวิตสังคมและครอบครัว งานแนวอิงประวัติศาสตร์ แนวสืบสอบสอบสวน แนวปรัชญาแนวคิดเชิงศาสนา แนวชีวิตเผชิญภัย แนววิทยาศาสตร์ ไซไฟแฟนตาซี แม้แต่วรรณกรมเยาวชน วรรณกรรมออนลน์ที่นำมาปรับแก้พิมพ์ขึ้นใหม่ งานที่ให้ภาพความหลากหลายทางเพศ ผลงานทั้งหมดเหล่านี้สร้างจากนักเขียนหลายรุ่น ทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า บางคนมีผลงานส่งมากกว่า 1 เรื่อง บางคนเคยได้รับรางวัลซีไรต์หรือเคยผ่านรอบ Short List มาก่อน รวมถึงได้รับรางวัลอื่นๆ ที่นักเขียนและสำนักพิมพ์ให้ความสนใจใช้เวทีการประกวดวรรณกรรมเป็นทางผ่านหนังสือไปสู่ผู้อ่าน
” ในปี 2567 ยังมีข้อสังเกตุจากคณะกรรมการคัดเลือกเกี่ยวกับนวนิยายหลากแนวดังกล่าวหลายประเด็น เช่น เห็นว่ารูปลักษณ์ภายนอกของหนังสือมีแนวโน้มเป็นนวนิยายขนาดสั้นมากขึ้น มีการเปิดพื้นที่ให้ภาษาถิ่นผ่านชื่อเรื่อง ฉาก ตัวละคร บทสนทนา และธีมงานที่แปลกแตกต่าง อีกส่วนหนึ่งมีความเป็นวรรณกรรมสากล โดยเนื้อหาหลักและกลวิธีเล่าเรื่องยังคงนำเสนออย่างหลากหลายไม่ซ้ำแบบ โดยนักเขียนจำนวนหนึ่งหยิบข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เศรษฐกิจในอดีต นำมาประกอบสร้างเป็นการ ฟื้นชีวิตใหม่ให้ประวัติศาสตร์ และนักเขียนอีกจำนวนไม่น้อยหรือส่วนใหญ่อยู่กับสังคมยุคใหม่ อยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่กับผลกระทบในมิติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งโรคระบาด เพศวิถีหลากหลาย ยังเป็นเนื้อหาที่โดดเด่น เนื้อหาที่เปิดกว้างให้นักเขียนได้หยิบยกผ่านวรรณศิลป์ “ นายจตุพล กล่าว
ประธานคณะ กก.คัดเลือก กล่าวด้วยว่า การสร้างงานลักษณะสั้น กระชับสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบ มุ่งประเด็นที่นักเขียนต้องการสื่อตรงกับผู้อ่าน แต่ในความสั้น ความเน้น ความกะทัดรัด มีรายละเอียดมากมายที่บรรจุอยู่แน่น เมื่อกับเทียบแนวขนบแบบเดิมๆ ที่เรียกว่า นิยาย 100 ตอนจบ เราได้พลังจากงานเล่มเล็กๆ อาจจะเรียกว่า เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวก็ได้ ใน 8 เล่มเข้ารอบมีทั้งนิยายขนาดสั้นและนิยายเรื่องยาว อ่านสนุกทุกเรื่อง
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการคัดเลือก อุปนายกที่ 2 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จาก 8 เล่มเข้ารอบสุดท้ายล้วนเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ พิสูจน์คำพูดว่า นักเขียนสมัยใหม่เขียนไม่รู้เรื่องไม่จริง ทั้งเนื้อหาและกลวิธีการเขียนกระทบใจคนอ่าน บางเล่มอ่านแล้วสะเทือนใจมาก การเขียนเป็นการสร้างความคิดและล้างบาดแผลในใจ เชื่อว่า นักเขียนส่วนหนึ่งที่สร้างผลงานเข้ารอบตัดเชือกได้ล้างแผลในใจตัวเอง
ส่วน เพ็ญแข คุณาเจริญ กรรมการคัดเลือก กล่าวว่า วรรณกรรมที่ดีผู้เขียนต้องการสื่อสารกับผู้อ่านด้วยประเด็นสำคัญและนำเสนออย่างชัดเจน ไม่พร่าเลือน ส่วนการสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องแปลกแหวกแนว แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามกระแส กระทบใจคนอ่าน ซึ่ง 8 เล่มที่เข้ารอบสุดท้ายกระทบใจผู้ตัดสิน มีมุมมองใหม่ๆ ให้กับปัญหาหรือเรื่องราวที่มีอยู่ในสังคม มีความเป็นนักเขียน ในเล่มมีการออกแบบปกหนังสือ วางรูปเล่ม ภาพประกอบ เป็นการนำเสนอที่น่าสนใจและมีชั้นเชิง บางเรื่องหน้าปกกับเนื้อหาหักมุมสำหรับนักอ่านอีกด้วย
ด้าน ผศ.ดร.วีรวัฒน์ อินทรพร กรรมการคัดเลือก กรรมการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นวนิยายที่สร้างความหวังไม่ค่อยมี แต่นวนิยายรอบชิงเป็นสภาพวรรณกรรมที่เชื่อมโยงวิถีสังคม หลายเล่มเสนอเรื่องส่วนตัวและสำรวจลงลึกไปในจิตใจ เจาะลึกไปในบาดแผลและการเยียวยา สะท้อนภาพสังคมในปัจจุบัน เราจะไม่เห็นวรรณกรรมแนวปรับปรุงสังคม อาจจะผ่านยุคนั้นมาแล้ว
ส่วนนวนิยายเล่มไหนจะฝ่าด่านพิชิตรางวัลซีไรต์ ปี 2567 นักเขียนและนักอ่านต้องติดตามกัน ผลการตัดสินรางวัลซีไรต์จะจัดขึ้นวันที่ 28 ต.ค.นี้ งานประกาศผลการคัดเลือกรางวัลซีไรต์ สนับสนุนโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ธนาคารกรุงเทพ มูลนิธิเอสซีจี PTT การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'กี่บาด'นิยายรางวัลซีไรต์ วรรณกรรมนำสังคม
แม้”กี่บาด” จะเป็นนวนิยายเรื่องแรกของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด นักเขียนรุ่นใหม่ แต่ก็ฝ่าด่านการพิจารณาทะลุเข้ารอบสุดท้ายและเป็นนวนิยายที่คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ.2567 รางวัลที่มอบให้แก่นักเขียนที่รังสรรค์วรรณกรรมทรงคุณค่า
นวนิยาย ‘กี่บาด’ ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้ารางวัลซีไรต์ 2567
คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จัดแถลงข่าวการประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567